การประเคนและการรับประเคน


        สำหรับชาวบ้าน เพียงแต่อนุญาตให้ หรือใครให้ ก็สามารถที่จะรับสิ่งของที่เขาให้ได้ ถือเอาได้ แต่สำหรับภิกษุไม่ได้เลย ต้องเป็นไปตามพระวินัยบัญญัติจริงๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นการได้มาด้วยความบริสุทธิ์สะอาดจริงๆ ไม่ใช่เพียงได้รับอนุญาตจากฆราวาสแล้วถือเอาได้

        ข้อความต่อไป ใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล ทันตโปณสิกขาบทที่ ๑๐ ว่าด้วยการประเคนและการรับประเคน ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างฆราวาสและบรรพชิต ไม่ใช่เพียงแต่เขากล่าวว่าจะถวาย ก็ถือเอาทันทีได้ แต่ต้องมีการน้อมให้อย่างถูกต้องด้วย ภิกษุจึงจะถือได้ ข้อความมีว่า

        ก็ในนิเทศแห่งบทว่า ทินฺนํ นั้น มีวินิจฉัยดังนี้

        ข้อว่า กาเยน วา กายปฏิพทฺเธน วา นิสฺสคฺคิเยน วา เทนฺเต ได้แก่ เมื่อคนอื่นเขาให้อยู่อย่างนี้ (คือ ให้อยู่ด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือด้วยการโยนให้)

        โยนให้ เป็นการประเคนหรือเปล่า เป็น เพราะว่าบางครั้ง บางเหตุการณ์ ไม่สามารถจะใช้วิธีอื่นได้เลย เพราะฉะนั้น จึงทรงอนุญาตไว้ด้วย

        ข้อความต่อไปมีว่า

        ข้อว่า หตฺถปาเสฐิโต กาเยน วา กายปฏิพทฺเธน วา ปฏิคฺคณฺหาติ มีความว่า ถ้าภิกษุอยู่ในหัตถบาสมีลักษณะดังกล่าวแล้วในก่อน รับประเคนของนั้นที่เขาให้อยู่อย่างนั้น ชั้นที่สุดแม้ละอองรดด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย วัตถุนั่นที่รับประเคนแล้ว อย่างนี้ท่านเรียกชื่อว่าของที่เขาให้ ของที่เขาเสียสละด้วยคำว่า ท่านจงถือเอาของนี้ ของนี้จงเป็นของท่านเป็นต้น ท่านไม่เรียกชื่อว่าของที่เขาให้

        สำหรับท่านที่จะถวายอะไรแก่พระภิกษุ อย่าเพียงเอ่ยด้วยวาจา จะต้องประเคนด้วย

        ข้อความต่อไปมีว่า

        บทว่า อทินฺนํ มีความว่า เขาไม่ได้ให้ด้วยกาย ของเนื่องด้วยกาย และการโยนให้อย่างใดอย่างหนึ่ง แก่ภิกษุผู้รับด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย

        จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาของที่เขาไม่ได้ให้นี้แหละ จึงตรัสไว้ในบทภาชนะว่า ชื่อว่าของที่เขายังไม่ได้ให้ ท่านเรียกว่าของที่ยังไม่ได้รับประเคน

        แต่ในทุติยปาราชิกตรัสว่า ชื่อว่าของที่เขาไม่ได้ให้ ท่านเรียกทรัพย์ที่ผู้อื่นหวงแหน

        เพราะฉะนั้น การที่ท่านถือเอาโดยพลการ ก็เป็นการไม่สมควร ท่านควรจะถือว่า ของใดที่เขาไม่ได้ให้ ชื่อว่าเป็นของที่เขาหวงแหน ไม่ใช่คิดว่า เขาไม่ได้ให้ แต่เขาก็คงจะไม่หวง ของอะไรทั้งนั้นที่เขาไม่ได้ให้ เป็นของที่เขายังหวงแหนอยู่

        ข้อความต่อไปมีว่า

        บรรดานิเทศเหล่านั้น บทว่า กาเยน มีความว่า ที่เขาให้ด้วยบรรดาสรีราวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่ง มีมือเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ชั้นที่สุดแม้ด้วยนิ้วเท้า ก็เป็นอันชื่อว่า เขาให้แล้วด้วยกาย

        ไม่ได้หมายความว่า ท่านควรจะทำอย่างนั้น แต่ถ้ามีความจำเป็น มีเหตุการณ์ต่างๆ ไม่มีวิธีอื่นอีกแล้ว และท่านปรารถนาที่จะถวาย มีความจำเป็นถึงอย่างนั้น ที่จะต้องประเคนแม้ด้วยนิ้วเท้า ก็กระทำได้ด้วยความเคารพ ชื่อว่าเป็นการประเคน แต่ถ้าไม่ให้ด้วยกาย หรือของที่เนื่องด้วยกาย ถือว่าภิกษุยังรับไม่ได้ เพราะว่ายังไม่ได้ประเคนตามพระวินัย ต้องขัดเกลาความหวังถึงขั้นนั้น

        ข้อความต่อไปมีว่า

        แม้ในการรับประเคน ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน แท้จริงของที่ภิกษุรับประเคนด้วยสรีราวัยวะ (ส่วนแห่งร่างกาย) ส่วนใดส่วนหนึ่ง จัดว่ารับประเคนแล้วด้วยกายเหมือนกัน ถ้าแม้นเขาให้ของที่ต้องทำการนัตถุ์ ภิกษุอาพาธไม่อาจนัตถุ์เข้าทางช่องจมูกได้เลย รับเข้าทางปากได้ (รับประเคนทางปากได้) ความจริง เพียงความใส่ใจเท่านั้น เป็นประมาณในการรับประเคนนี้ นัยนี้ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรี

        บทว่า กายปฏิพทฺเธน มีความว่า ของที่เขาให้ด้วยอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มีทัพพีเป็นต้น เป็นอันชื่อว่า เขาให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย

        คือ ไม่ใช่ถวายด้วยมือ แต่มีสิ่งอื่น เช่น ทัพพีที่ถือ ก็ชื่อว่า เป็นของที่เนื่องด้วยกาย

        แม้ในการรับประเคนก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน ของที่ภิกษุรับด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งที่เนื่องด้วยร่างกาย มีบาตรและถาดเป็นต้น จัดว่ารับประเคนด้วยของเนื่องด้วยกายเหมือนกัน

        บทว่า นิสฺสคฺคิเยน มีความว่า ก็ของที่เขาโยนถวายให้พ้นจากกาย และจากของเนื่องด้วยกาย ถวายแก่ภิกษุผู้อยู่ในหัตถบาส ด้วยกายหรือของเนื่องด้วยกาย เป็นอันชื่อว่า เขาถวายด้วยประโยคที่โยนให้ นี้เป็นการพรรณนาตามพระบาลีก่อน

        การที่จะถวายแก่ภิกษุ ต้องกระจ่างชัดเจน คือ ด้วยการประเคนให้จริงๆ ไม่ใช่เพียงการกล่าวด้วยวาจาเท่านั้น ถ้าเป็นการประเคนแล้ว ท่านก็เป็นผู้ที่รับของที่ผู้อื่นถวาย ไม่ใช่เป็นผู้ที่ถือเอาสิ่งของที่บุคคลอื่นไม่ได้ถวาย

        เพื่อท่านผู้ฟังจะได้ประเคนอย่างถูกต้อง ขอกล่าวถึงการรับประเคน

        ข้อความต่อไปมีว่า

        การรับประเคนมีองค์ ๕ อย่าง

        การรับประเคนย่อมขึ้นด้วยองค์ ๕ คือ ของพอบุรุษมีกำลังปานกลางยกได้ ๑ หัตถบาสปรากฏ (เขาอยู่ในเขตของมือ) ๑ การน้อมถวายปรากฏ (เขาน้อมถวาย) ๑ เทวดาก็ตาม มนุษย์ก็ตาม ดิรัจฉานก็ตามถวาย (ประเคน) ๑ และภิกษุรับประเคนของนั้นด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย ๑

        การรับประเคนย่อมขึ้นด้วยองค์ ๕ ด้วยประการอย่างนี้

        ในองค์ ๕ นั้น หัตถบาสแห่งภิกษุผู้ยืน นั่ง และนอน บัณฑิตพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในปวารณาสิกขาบท

        ก็ถ้าบรรดาผู้ให้และผู้รับประเคน ฝ่ายหนึ่งอยู่บนอากาศ ฝ่ายหนึ่งอยู่บนพื้น พึงกำหนดประมาณหัตถบาส ทางศีรษะของผู้ยืนอยู่บนพื้น และทางริมด้านในแห่งอวัยวะที่ใกล้กว่าของผู้ยืนอยู่บนอากาศ ยกเว้นมือที่เหยียดออก เพื่อให้หรือเพื่อรับเสีย ถ้าแม้นฝ่ายหนึ่งอยู่ในหลุม (บ่อ) อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ริมหลุม หรือฝ่ายหนึ่งอยู่บนต้นไม้ อีกฝ่ายหนึ่งอยู่บนแผ่นดิน ก็พึงกำหนดประมาณหัตถบาส โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ

        คงจะเป็นการถวายในเหตุการณ์คับขัน ทำให้ไม่สามารถประเคนโดยความเป็นระเบียบเรียบร้อย

        ข้อความต่อไปมีว่า

        ถ้าแม้นนกเอาจะงอยปากคาบดอกไม้หรือผลไม้ถวาย หรือช้างเอางวงจับดอกไม้หรือผลไม้ถวายอยู่ในหัสถบาสเห็นปานนี้ การรับประเคนย่อมขึ้น (ใช้ได้) ก็ถ้าภิกษุนั่งอยู่บนคอช้างแม้สูง ๗ ศอกคืบ จะรับของที่ช้างนั้นถวายด้วยงวงก็ควรเหมือนกัน

        ทายกคนหนึ่งทูนภาชนะข้าวสวยและกับข้าวเป็นอันมากไว้บนศีรษะ มายังสำนักของภิกษุ พูดทั้งยืนว่า นิมนต์ท่านรับเถิด การน้อมถวายยังไม่ปรากฏก่อน เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรรับ แต่ถ้าเขาน้อมลงมาแม้เพียงเล็กน้อย ภิกษุพึงเหยียดแขนออกรับภาชนะอันล่าง แม้โดยเอกเทศ ด้วยการรับเพียงเท่านี้ ภาชนะทั้งหมดเป็นอันรับประเคนแล้ว ตั้งแต่รับประเคนนั้นไป จะยกลงหรือเลื่อนออก แล้วหยิบเอาของที่ตนต้องการ สมควรอยู่ ส่วนในภาชนะเดียวกัน มีกระบุงซึ่งมีข้าวสวยเป็นต้น ไม่มีคำที่จะพึงกล่าวเลย

        . คำว่า ภิกขเว นอกจากแปลว่า ผู้ขอ ยังแปลว่า ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร สำหรับหัตถบาส ที่อาจารย์แปลว่า เขต ไม่ตรงตัว ปาส แปลว่า บ่วง หัตถบาส คือ บ่วงของมือ หมายถึง ถวายของต้องแค่บ่วงของมือ แต่แปลว่า เขต ก็พอถือเอาความได้

        สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟังที่กรุณาให้ความหมายทางพยัญชนะภาษาบาลี

        ที่มา ...

        แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 468

        สำหรับเรื่องการประเคนนี้ ถ้าท่านมีความจำเป็นโดยประการใดๆ ก็ควรที่จะได้ทราบวิธีของการประเคน

        ข้อความต่อไปมีว่า

        แม้ทายกผู้หาบภัตตาหารไป ถ้าน้อมหาบลงถวาย สมควรอยู่ ถ้าแม้นมีไม้ไผ่ยาว ๓๐ ศอก ที่ปลายข้างหนึ่งผูกหม้อน้ำอ้อยแขวนไว้ ที่ปลายข้างหนึ่งผูกหม้อเนยใสแขวนไว้ ถ้าภิกษุรับประเคนลำไม้ไผ่นั้น เป็นอันรับประเคนของทั้งหมดเหมือนกัน

        ถ้าทายกกล่าวว่า นิมนต์ท่านรับน้ำอ้อยสดซึ่งกำลังไหลออกจากรางหีบอ้อย การน้อมเข้ามาถวายยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงไม่สมควรรับ แต่ถ้าเขาเอากากทิ้งแล้วเอามือวักขึ้นถวาย ควรอยู่

        บาตรมากใบเขาวางไว้บนเตียงก็ดี บนตั่งก็ดี บนเสื่อลำแพนก็ดี บนรางไม้ก็ดี บนแผ่นกระดานก็ดี ทายก (ผู้ให้) อยู่ในหัตถบาสแห่งภิกษุผู้อยู่ในที่ใด ของที่เขาให้ในบาตรเหล่านั้น อันภิกษุผู้อยู่ในที่นั้น แม้เอานิ้วแตะเตียงเป็นต้น ด้วยความหมายว่ารับประเคน จะยืนอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม นอนอยู่ก็ตาม เป็นอันรับประเคนแล้วทั้งหมด

        ถ้าแม้นภิกษุขึ้นนั่งเตียงเป็นต้น ด้วยหมายใจว่า เราจักรับประเคน ก็ควรเหมือนกัน

        ก็ถ้าแม้นเขาวางบาตรทั้งหลายไว้บนแผ่นดิน เอากระพุ้งกับกระพุ้งจดกัน ของที่เขาถวายในบาตรใบที่ภิกษุนั่งเอานิ้วมือหรือเข็มแตะไว้เท่านั้น เป็นอันรับประเคนแล้ว

        ท่านกล่าวไว้ในที่บางแห่งว่า การรับประเคนในบาตรที่เขาตั้งไว้บนเสื่อลำแพนผืนใหญ่ และเครื่องลาดหลังช้างเป็นต้น ย่อมไม่ขึ้น

        คำนั้นพึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายเอาการล่วงเลยหัตถบาสไป แต่เมื่อมี หัตถบาสในที่ใดที่หนึ่งก็ควร นอกจากของซึ่งเกิดอยู่กับที่นั้น

        ก็การรับประเคนบนใบปทุม (ใบบัว) หรือบนใบทองกวาวเป็นต้น ซึ่งเกิดอยู่กับที่นั้นย่อมไม่ควร เพราะใบปทุมเป็นต้นนั้น ไม่ถึงการนับว่าของเนื่องด้วยกาย เหมือนอย่างว่าในของเกิดกับที่นั้น การรับประเคนไม่ขึ้น ฉันใด ในเตียงที่ตั้งตรึงไว้ที่ตอเป็นต้น ในแผ่นกระดาน หรือในหินที่เป็นอสังหาริมะ การรับประเคนก็ไม่ขึ้นเหมือนกัน ฉันนั้น

        จริงอยู่ เตียงที่ตั้งตรึงไว้ที่ตอเป็นต้นแม้นั้น เป็นของควรสงเคราะห์เข้ากับของที่เกิดอยู่กับที่นั้น

        บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมพระวินัยช่างละเอียดไปหมดทุกอย่างเลย ก็เพราะเหตุว่ากิเลสมีมาก ฉะนั้นการขัดเกลาจึงต้องละเอียด โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีศรัทธาถึงกับละอาคารบ้านเรือนมาสู่เพศของบรรพชิต ว่าจะต้องอาศัยกายอย่างไร วาจาอย่างไร ที่จะเป็นการเกื้อกูลในการที่จะขัดเกลา ละคลาย เพื่อที่จะให้ถึงการดับกิเลสนั้นได้จริงๆ

        ข้อความต่อไปมีว่า

        เมื่อชาวบ้านวางข้าวยาคู หรือแกงไว้ข้างหน้าแล้วคน หยดแกงกระเซ็นขึ้นจากภาชนะตกลงในบาตร ภิกษุพึงรับประเคนบาตรใหม่

        ถือว่าไม่ได้ประเคน เพียงแต่ตกลงไปเท่านั้น

        เมื่อพวกเขาเอากระบวยตักมาถวาย หยาดสูปะเป็นต้น หยดออกจากกระบวยตกลงไปในบาตรก่อน เป็นอันตกลงไปด้วยดี ไม่มีโทษ เพราะเขาน้อมเข้ามาถวาย

        ถ้าตักถวายได้ แต่ถ้าข้าวก็ดี หรือยาคูก็ดีที่เขาคนแล้วกระเซ็นจากภาชนะลงในบาตร ซึ่งอาจจะมากก็ได้ ถือว่ายังไม่ได้ประเคน ต้องละความยินดี ความหวัง ความพอใจ และทำให้ถูกต้อง โดยต้องประเคนใหม่

        ข้อความต่อไปมีว่า

        ภิกษุผู้นั่งถือบาตรหลับอยู่ที่หอฉัน เธอไม่รู้ว่า เขากำลังนำโภชนะมาเลย เขาถวายอยู่ก็ไม่รู้ โภชนะจัดว่า ยังไม่ได้รับประเคน

        แต่ถ้าเธอเป็นผู้นั่งใส่ใจไว้ (แต่ต้น) ควรอยู่ ถ้าแม้นเธอวางมือจากเชิงบาตร แล้วเอาเท้าหนีบไว้ม่อยหลับไป สมควรเหมือนกัน แต่เมื่อเธอเอาเท้าเหยียบเชิงบาตรไว้รับประเคน ถึงจะตื่นอยู่ ก็เป็นการรับประเคนโดยไม่เอื้อเฟื้อ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรทำ

        นี่เป็นชีวิตจริงๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงบัญญัติเป็นพระวินัย

        ข้อความต่อไปมีว่า

        ในการหยิบเอาของตกฉันนั้น มีพระสูตรเป็นเครื่องสาธกดังต่อไปนี้ว่า

        ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุหยิบเอาของตกที่เขากำลังถวาย ฉันเองได้

        กำลังถวาย ของตกลงไป ภิกษุหยิบขึ้นฉันเองได้

        ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร

        ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะของนั้นพวกทายกเขาสละถวายแล้ว ก็แล พระสูตรนี้มีอรรถควรอธิบาย เพราะฉะนั้น ในพระสูตรนี้พึงทราบอธิบายอย่างนี้

        ของใดที่เขากำลังถวาย พลัดหลุดจากมือของผู้ถวาย ตกลงไปบนพื้นที่สะอาด หรือบนใบบัว ผ้า เสื่อลำแพนเป็นต้น ของนั้นจะหยิบขึ้นมาฉันเองก็ควร แต่ของใดตกลงไปบนพื้นที่มีฝุ่นละออง ของนั้นพึงเช็ด หรือล้างฝุ่นละอองออกแล้ว หรือรับประเคนแล้วฉันเถิด

        ถ้าของกลิ้งไปยังสำนักของภิกษุอื่น แม้ภิกษุเจ้าของๆ นั้นจะให้นำคืนมา ก็ควร ถ้าเธอกล่าวกะภิกษุนั้นว่า นิมนต์ท่านนั่นแหละฉันเถิด แม้ภิกษุนั้นจะฉัน ก็ควร แต่ภิกษุนั้นอันภิกษุเจ้าของสิ่งของไม่ได้สั่ง ไม่ควรรับ

        นี่เป็นมารยาทสากล เป็นมารยาททั่วๆ ไป แม้สำหรับฆราวาส เพราะถ้าของๆ คนอื่นกลิ้งมายังที่อยู่ของเรา เราก็ต้องคืนให้ แต่ถ้าเขาอนุญาตให้ จึงสมควรที่จะรับ แต่ถ้าเขาไม่อนุญาต ก็ไม่ควรที่จะรับ

        เป็นเรื่องการของขัดเกลา ซึ่งฆราวาสเมื่อทราบแล้ว ก็สมควรที่จะประพฤติปฏิบัติตาม

        ข้อความต่อไปมีว่า

        ใน กุรุนที กล่าวว่า (กุรุนที เป็นชื่อคัมภีร์อรรถกถาในครั้งอดีต) แม้จะไม่ได้รับคำสั่ง จะรับด้วยตั้งใจว่า จักถวายภิกษุเจ้าของสิ่งของนอกนี้ ก็ควร

        ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ของนั่นจึงไม่ควรที่ภิกษุนอกนี้จะรับ

        แก้ว่า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงอนุญาตไว้

        จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสว่า เราอนุญาตให้ภิกษุหยิบของฉันเองได้ ดังนี้ ก็ทรงอนุญาตแก่ภิกษุผู้ซึ่งเขากำลังถวายของที่พลัดตกไปนั้นเท่านั้น ให้หยิบเอาของนั้น แม้ไม่ได้รับประเคนฉันได้ แต่ด้วยคำว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะของนั้นพวกทายกสละให้แล้ว จึงเป็นอันทรงแสดงความไม่เป็นของคนอื่นในพระดำรัสนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุอื่นหยิบฉันเองจึงไม่ควร แต่สมควร เพราะการสั่งของภิกษุผู้เป็นเจ้าของแห่งสิ่งของนั้น

        นัยว่า นี้เป็นอธิบายในคำว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว เป็นต้นนี้

        สำหรับความละเอียด จะศึกษาได้จาก ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล ซึ่งเป็นอรรถกถาพระวินัย

        ที่ยกตัวอย่างก็เป็นเพียงบางประการ เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เห็นเรื่องของการดับกิเลสว่า เป็นเรื่องที่ละเอียดมากจริงๆ และเป็นเรื่องที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่สติจะต้องระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งการที่จะขัดเกลากิเลส ก็ต้องให้ละเอียดยิ่งขึ้นตามเพศของบุคคลที่จะขัดเกลากิเลสด้วย

        ถ้ามีศรัทธาที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต ก็จะกระทำเหมือนอย่างฆราวาสไม่ได้ คือ เพียงแต่เขากล่าวอนุญาตให้ ก็จะรับไม่ได้ ต้องเป็นการสละให้ด้วยการประเคน จึงเป็นการถวายวัตถุปัจจัยจริงๆ

        ที่มา ...

        แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 469


    หมายเลข 12874
    27 พ.ย. 2566