แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 468

. ผมมีประสบการณ์ในเรื่องที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ เช่น เราไปร้านอาหาร เขาตั้งกล่องไม้จิ้มฟันก็ดี ถ้วยที่ใส่กระดาษเช็ดปากก็ดี ที่จริงเขาก็ตั้งไว้เพื่อบริการลูกค้าของเขานั่นแหละ ถ้าเราไปอุดหนุนในร้านเขา และถือเอาโดยไม่ต้องบอกเจ้าของ ในลักษณะนี้ผมเข้าใจว่า คงจะไม่เข้าในลักษณะที่ว่า ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ เพราะเจ้าของมีเจตนาตั้งไว้เพื่อบริการลูกค้าอยู่แล้ว

แต่วันหนึ่ง ผมเข้าไปแต่ไม่ได้อุดหนุนอะไรเขา เห็นไม้จิ้มฟันเขาตั้งไว้ ก็เลยถือเอามา เจ้าของเขาก็ไม่รู้ไม่เห็นอะไร แต่ถึงเห็น เขาก็ไม่ว่าหรอก

แต่ภายหลังมาคิดพิจารณาว่า แบบนี้จะเข้าลักษณะที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้หรือเปล่า ก็ยังสงสัยอยู่

สุ. วันนั้นรักษาศีลอุโบสถหรือเปล่า

บางท่านรักษาศีล ๕ เป็นนิจศีล ท่านก็รู้ว่า สิ่งใดที่ไม่ควรจะถือเอามาเป็นของท่าน แต่เพราะการหลงลืมสติ หิริโอตตัปปะในขณะนั้นจึงไม่เกิดขึ้น หลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไปแล้ว ท่านอาจจะระลึกได้ทีหลัง และพิจารณาเหตุและผลของธรรมจริงๆ ว่า เป็นการผิดศีลหรือเปล่า เป็นโทษที่เบาหรือว่าเป็นโทษที่แรงเพียงไร หรือไม่ ถ้าเกิดหิริ แม้ไม้จิ้มฟันอันเดียวซึ่งไม่ใช่ของท่าน ท่านก็ไม่หยิบ นั่นแสดงถึงหิริ

เพราะฉะนั้น เรื่องของแต่ละท่าน จะเห็นได้จากการประพฤติทางกาย ทางวาจาว่า เป็นผู้ที่สะสมเหตุปัจจัยมาอย่างไร ที่จะแสดงกายกรรมอย่างไร วจีกรรมอย่างไร ก็ส่องสะท้อนถึงการสะสมของเหตุปัจจัย

ถ้าท่านสะสมเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดหิริโอตตัปปะแม้ในสิ่งที่เล็กน้อยที่สุด คนอื่นก็จะสังเกตได้ ตัวท่านเองก็ทราบว่า ที่ไม่กระทำเพราะเกิดหิริโอตตัปปะในขณะนั้นทันที ก็เป็นเรื่องจริง เรื่องธรรมดา ซึ่งบางครั้งหิริโอตตัปปะก็เกิด บางครั้งก็ไม่เกิด แต่อาศัยที่ท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จึงทำให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ในภายหลังว่า เมื่อครู่นี้หิริโอตตัปปะไม่เกิด และต่อไปเวลาที่จะวิรัติ ท่านก็จะรู้ว่า เพราะหิริโอตตัปปะเกิด จึงได้วิรัติ

สำหรับเรื่องของการขัดเกลา ละการติด ละการหวังในลาภ ในวัตถุปัจจัยนั้น ยากมาก ไม่เฉพาะฆราวาส แม้แต่ผู้ที่มีเจตนาสละเพศฆราวาสสู่เพศบรรพชิต เมื่อการอบรมเจริญสติปัญญายังไม่สมบูรณ์พอที่จะถึงขั้นดับกิเลสได้ กิเลสย่อมมีกำลังทำให้ล่วงกายทุจริตและวจีทุจริต ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงบัญญัติข้อประพฤติปฏิบัติเป็นพระวินัยบัญญัติสำหรับพระภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี ผู้ที่มุ่งจะขัดเกลากิเลส มุ่งที่จะละคลายความพอใจในกาม คือ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไว้มากและโดยละเอียดทีเดียว พร้อมทั้งธรรม คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย เพราะถ้ามีแต่พระวินัยบัญญัติ โดยไม่อบรมเจริญธรรม คือ สติปัฏฐานด้วย สติก็จะไม่เกิดขึ้นวิรัติกิเลส ซึ่งมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นวจีทุจริต หรือกายทุจริต

การที่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานบ่อยๆ เนืองๆ จะทำให้สติเกิดขึ้น วิรัติวจีทุจริตกายทุจริต และประพฤติเป็นไปตามพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติ ซึ่งกว่าจะได้บรรลุคุณธรรมเป็นขั้นๆ จนถึงความเป็นพระอรหันต์นั้น จะยากสักแค่ไหน แม้แต่ในการวิรัติเล็กๆ น้อยๆ ในวัตถุเล็กๆ น้อยๆ

บรรพชิตที่ละอาคารบ้านเรือน พยายามที่จะละความหวังในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต้องขัดเกลาทั้งธรรมและวินัย เพื่อที่จะละคลายการติดในวัตถุ ซึ่งโดย พระวินัยบัญญัติ แม้แต่ในการที่จะรับปัจจัยจากฆราวาส ก็จะต้องรับด้วยการขัดเกลากิเลสตามพระวินัยบัญญัติด้วย เพราะคำว่า ภิกษุ แม้จะหมายถึงผู้ขอก็จริง แต่โดยความหมายไม่ใช่ขออย่างธรรมดา แต่จะขอหรือรับเฉพาะจากผู้ที่มีศรัทธาเท่านั้น ซึ่งจะรู้ได้จากการนิมนต์พระภิกษุ ที่จะให้รับปัจจัยนั้น ต้องนิมนต์ให้ถูกต้องด้วย

ขอกล่าวถึงข้อความใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล คณโภชนสิกขาบทที่ ๒ ว่าด้วยนิมนต์พระรับภิกษา เพื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับฆราวาสในการนิมนต์พระภิกษุ ข้อความมีว่า

เพราะฉะนั้น ถ้าคนบางคนถูกผู้ประสงค์จะทำสังฆภัต วานไปเพื่อต้องการให้นิมนต์ (พระ) มายังวิหาร ไม่กล่าวว่า ท่านขอรับ พรุ่งนี้นิมนต์รับภิกษาในเรือนของพวกกระผม แต่กล่าวว่า นิมนต์ท่านรับภัตก็ดี ว่า นิมนต์ท่านรับสังฆภัตก็ดี ว่า ขอสงฆ์จงรับภัตก็ดี พระภัตตุทเทสก์พึงเป็นผู้ฉลาด พึงเปลื้องพวกภิกษุผู้รับนิมนต์จากคณโภชน์ พึงเปลื้องภิกษุพวกถือปิณฑิปาติกธุดงค์จากความแตกแห่งธุดงค์

คืออย่างไร คือ พระภัตตุทเทสก์พึงกล่าวอย่างนี้ก่อนว่า พรุ่งนี้ไม่อาจ (รับ) อุบาสก เมื่ออุบาสกกล่าวว่า มะรืนนี้ ขอรับ พึงกล่าวว่า มะรืนนี้ก็ไม่อาจ (รับได้) อุบาสกเลื่อนไปอย่างนี้ แม้จนถึงกึ่งเดือน พระภัตตุทเทสก์พึงพูดอีกว่า ท่านพูดอะไร ถ้าแม้นอุบาสกพูดย้ำอีกว่า นิมนต์ท่านรับสังฆภัต

ลำดับนั้น พระภัตตุทเทสก์พึงทำไขว้เขวไปอย่างนี้ว่า อุบาสกจงทำดอกไม้นี้ จงทำหญ้านี้ ให้เป็นกัปปิยะก่อน แล้วย้อนถามอีกว่า ท่านพูดอะไร

นี่เป็นการเตือนทางอ้อม ให้นิมนต์ให้ถูกต้อง

ถ้าแม้นเขายังพูดซ้ำแม้อย่างนั้นนั่นแหละ พึงกล่าวว่า ผู้มีอายุ ท่านจักไม่ได้พระมหาเถระผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ท่านจักได้พวกสามเณร

และเมื่อเขาถามว่า ท่านขอรับ พวกคนในบ้านโน้นและบ้านโน้น นิมนต์ให้พระคุณเจ้าผู้เจริญฉัน มิใช่หรือ ผมจะไม่ได้ เพราะเหตุไร พึงกล่าวว่า พวกเขารู้จักนิมนต์ (ส่วน) ท่านไม่รู้จักนิมนต์

เขาถามว่า ท่านขอรับ พวกเขานิมนต์อย่างไร พึงกล่าวว่า พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า นิมนต์รับภิกษาของพวกกระผมขอรับ ถ้าแม้นเขากล่าวเหมือนอย่างที่พูดนั้นแล การนิมนต์นั้นสมควร

ลำบากไหม ขัดเกลาหรือเปล่า เป็นเรื่องที่จะต้องทราบถึงเหตุผลจริงๆ แม้แต่ในการนิมนต์ ถ้าจะกระทำให้ถูกต้องแล้วควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องของการขัดเกลาการติดในรสอาหาร

สำหรับชาวบ้าน เพียงแต่อนุญาตให้ หรือใครให้ ก็สามารถที่จะรับสิ่งของที่เขาให้ได้ ถือเอาได้ แต่สำหรับภิกษุไม่ได้เลย ต้องเป็นไปตามพระวินัยบัญญัติจริงๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นการได้มาด้วยความบริสุทธิ์สะอาดจริงๆ ไม่ใช่เพียงได้รับอนุญาตจากฆราวาสแล้วถือเอาได้

ข้อความต่อไป ใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล ทันตโปณสิกขาบทที่ ๑๐ ว่าด้วยการประเคนและการรับประเคน ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างฆราวาสและบรรพชิต ไม่ใช่เพียงแต่เขากล่าวว่าจะถวาย ก็ถือเอาทันทีได้ แต่ต้องมีการน้อมให้อย่างถูกต้องด้วย ภิกษุจึงจะถือได้ ข้อความมีว่า

ก็ในนิเทศแห่งบทว่า ทินฺนํ นั้น มีวินิจฉัยดังนี้

ข้อว่า กาเยน วา กายปฏิพทฺเธน วา นิสฺสคฺคิเยน วา เทนฺเต ได้แก่ เมื่อคนอื่นเขาให้อยู่อย่างนี้ (คือ ให้อยู่ด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือด้วยการโยนให้)

โยนให้ เป็นการประเคนหรือเปล่า เป็น เพราะว่าบางครั้ง บางเหตุการณ์ ไม่สามารถจะใช้วิธีอื่นได้เลย เพราะฉะนั้น จึงทรงอนุญาตไว้ด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

ข้อว่า หตฺถปาเสฐิโต กาเยน วา กายปฏิพทฺเธน วา ปฏิคฺคณฺหาติ มีความว่า ถ้าภิกษุอยู่ในหัตถบาสมีลักษณะดังกล่าวแล้วในก่อน รับประเคนของนั้นที่เขาให้อยู่อย่างนั้น ชั้นที่สุดแม้ละอองรดด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย วัตถุนั่นที่รับประเคนแล้ว อย่างนี้ท่านเรียกชื่อว่าของที่เขาให้ ของที่เขาเสียสละด้วยคำว่า ท่านจงถือเอาของนี้ ของนี้จงเป็นของท่านเป็นต้น ท่านไม่เรียกชื่อว่าของที่เขาให้

สำหรับท่านที่จะถวายอะไรแก่พระภิกษุ อย่าเพียงเอ่ยด้วยวาจา จะต้องประเคนด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

บทว่า อทินฺนํ มีความว่า เขาไม่ได้ให้ด้วยกาย ของเนื่องด้วยกาย และการโยนให้อย่างใดอย่างหนึ่ง แก่ภิกษุผู้รับด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาของที่เขาไม่ได้ให้นี้แหละ จึงตรัสไว้ในบทภาชนะว่า ชื่อว่าของที่เขายังไม่ได้ให้ ท่านเรียกว่าของที่ยังไม่ได้รับประเคน

แต่ในทุติยปาราชิกตรัสว่า ชื่อว่าของที่เขาไม่ได้ให้ ท่านเรียกทรัพย์ที่ผู้อื่นหวงแหน

เพราะฉะนั้น การที่ท่านถือเอาโดยพลการ ก็เป็นการไม่สมควร ท่านควรจะถือว่า ของใดที่เขาไม่ได้ให้ ชื่อว่าเป็นของที่เขาหวงแหน ไม่ใช่คิดว่า เขาไม่ได้ให้ แต่เขาก็คงจะไม่หวง ของอะไรทั้งนั้นที่เขาไม่ได้ให้ เป็นของที่เขายังหวงแหนอยู่

ข้อความต่อไปมีว่า

บรรดานิเทศเหล่านั้น บทว่า กาเยน มีความว่า ที่เขาให้ด้วยบรรดาสรีราวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่ง มีมือเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ชั้นที่สุดแม้ด้วยนิ้วเท้า ก็เป็นอันชื่อว่า เขาให้แล้วด้วยกาย

ไม่ได้หมายความว่า ท่านควรจะทำอย่างนั้น แต่ถ้ามีความจำเป็น มีเหตุการณ์ต่างๆ ไม่มีวิธีอื่นอีกแล้ว และท่านปรารถนาที่จะถวาย มีความจำเป็นถึงอย่างนั้น ที่จะต้องประเคนแม้ด้วยนิ้วเท้า ก็กระทำได้ด้วยความเคารพ ชื่อว่าเป็นการประเคน แต่ถ้าไม่ให้ด้วยกาย หรือของที่เนื่องด้วยกาย ถือว่าภิกษุยังรับไม่ได้ เพราะว่ายังไม่ได้ประเคนตามพระวินัย ต้องขัดเกลาความหวังถึงขั้นนั้น

ข้อความต่อไปมีว่า

แม้ในการรับประเคน ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน แท้จริงของที่ภิกษุรับประเคนด้วยสรีราวัยวะ (ส่วนแห่งร่างกาย) ส่วนใดส่วนหนึ่ง จัดว่ารับประเคนแล้วด้วยกายเหมือนกัน ถ้าแม้นเขาให้ของที่ต้องทำการนัตถุ์ ภิกษุอาพาธไม่อาจนัตถุ์เข้าทางช่องจมูกได้เลย รับเข้าทางปากได้ (รับประเคนทางปากได้) ความจริง เพียงความใส่ใจเท่านั้น เป็นประมาณในการรับประเคนนี้ นัยนี้ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรี

บทว่า กายปฏิพทฺเธน มีความว่า ของที่เขาให้ด้วยอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มีทัพพีเป็นต้น เป็นอันชื่อว่า เขาให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย

คือ ไม่ใช่ถวายด้วยมือ แต่มีสิ่งอื่น เช่น ทัพพีที่ถือ ก็ชื่อว่า เป็นของที่เนื่องด้วยกาย

แม้ในการรับประเคนก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน ของที่ภิกษุรับด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งที่เนื่องด้วยร่างกาย มีบาตรและถาดเป็นต้น จัดว่ารับประเคนด้วยของเนื่องด้วยกายเหมือนกัน

บทว่า นิสฺสคฺคิเยน มีความว่า ก็ของที่เขาโยนถวายให้พ้นจากกาย และจากของเนื่องด้วยกาย ถวายแก่ภิกษุผู้อยู่ในหัตถบาส ด้วยกายหรือของเนื่องด้วยกาย เป็นอันชื่อว่า เขาถวายด้วยประโยคที่โยนให้ นี้เป็นการพรรณนาตามพระบาลีก่อน

การที่จะถวายแก่ภิกษุ ต้องกระจ่างชัดเจน คือ ด้วยการประเคนให้จริงๆ ไม่ใช่เพียงการกล่าวด้วยวาจาเท่านั้น ถ้าเป็นการประเคนแล้ว ท่านก็เป็นผู้ที่รับของที่ผู้อื่นถวาย ไม่ใช่เป็นผู้ที่ถือเอาสิ่งของที่บุคคลอื่นไม่ได้ถวาย

เพื่อท่านผู้ฟังจะได้ประเคนอย่างถูกต้อง ขอกล่าวถึงการรับประเคน

ข้อความต่อไปมีว่า

การรับประเคนมีองค์ ๕ อย่าง

การรับประเคนย่อมขึ้นด้วยองค์ ๕ คือ ของพอบุรุษมีกำลังปานกลางยกได้ ๑ หัตถบาสปรากฏ (เขาอยู่ในเขตของมือ) ๑ การน้อมถวายปรากฏ (เขาน้อมถวาย) ๑ เทวดาก็ตาม มนุษย์ก็ตาม ดิรัจฉานก็ตามถวาย (ประเคน) ๑ และภิกษุรับประเคนของนั้นด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย ๑

การรับประเคนย่อมขึ้นด้วยองค์ ๕ ด้วยประการอย่างนี้

ในองค์ ๕ นั้น หัตถบาสแห่งภิกษุผู้ยืน นั่ง และนอน บัณฑิตพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในปวารณาสิกขาบท

ก็ถ้าบรรดาผู้ให้และผู้รับประเคน ฝ่ายหนึ่งอยู่บนอากาศ ฝ่ายหนึ่งอยู่บนพื้น พึงกำหนดประมาณหัตถบาส ทางศีรษะของผู้ยืนอยู่บนพื้น และทางริมด้านในแห่งอวัยวะที่ใกล้กว่าของผู้ยืนอยู่บนอากาศ ยกเว้นมือที่เหยียดออก เพื่อให้หรือเพื่อรับเสีย ถ้าแม้นฝ่ายหนึ่งอยู่ในหลุม (บ่อ) อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ริมหลุม หรือฝ่ายหนึ่งอยู่บนต้นไม้ อีกฝ่ายหนึ่งอยู่บนแผ่นดิน ก็พึงกำหนดประมาณหัตถบาส โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ

คงจะเป็นการถวายในเหตุการณ์คับขัน ทำให้ไม่สามารถประเคนโดยความเป็นระเบียบเรียบร้อย

ข้อความต่อไปมีว่า

ถ้าแม้นนกเอาจะงอยปากคาบดอกไม้หรือผลไม้ถวาย หรือช้างเอางวงจับดอกไม้หรือผลไม้ถวายอยู่ในหัสถบาสเห็นปานนี้ การรับประเคนย่อมขึ้น (ใช้ได้) ก็ถ้าภิกษุนั่งอยู่บนคอช้างแม้สูง ๗ ศอกคืบ จะรับของที่ช้างนั้นถวายด้วยงวงก็ควรเหมือนกัน

ทายกคนหนึ่งทูนภาชนะข้าวสวยและกับข้าวเป็นอันมากไว้บนศีรษะ มายังสำนักของภิกษุ พูดทั้งยืนว่า นิมนต์ท่านรับเถิด การน้อมถวายยังไม่ปรากฏก่อน เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรรับ แต่ถ้าเขาน้อมลงมาแม้เพียงเล็กน้อย ภิกษุพึงเหยียดแขนออกรับภาชนะอันล่าง แม้โดยเอกเทศ ด้วยการรับเพียงเท่านี้ ภาชนะทั้งหมดเป็นอันรับประเคนแล้ว ตั้งแต่รับประเคนนั้นไป จะยกลงหรือเลื่อนออก แล้วหยิบเอาของที่ตนต้องการ สมควรอยู่ ส่วนในภาชนะเดียวกัน มีกระบุงซึ่งมีข้าวสวยเป็นต้น ไม่มีคำที่จะพึงกล่าวเลย

. คำว่า ภิกขเว นอกจากแปลว่า ผู้ขอ ยังแปลว่า ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร สำหรับหัตถบาส ที่อาจารย์แปลว่า เขต ไม่ตรงตัว ปาส แปลว่า บ่วง หัตถบาส คือ บ่วงของมือ หมายถึง ถวายของต้องแค่บ่วงของมือ แต่แปลว่า เขต ก็พอถือเอาความได้

สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟังที่กรุณาให้ความหมายทางพยัญชนะภาษาบาลี

เปิด  170
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566