พระนามว่า ตถาคต เพราะเหตุใดบ้าง


        ข้อความใน มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์ อัพภันตรนิทาน พรรณนา รัตนจังกมนกัณฑ์ มีข้อความที่แสดงว่า พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า ตถาคต เพราะเหตุใดบ้าง

        ถามว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่า ตถาคต เพราะทรงถึงลักษณะที่แท้เป็นอย่างไร

        ตอบว่า ชื่อว่า ตถาคต เพราะบรรลุโดยไม่ผิดพลาด รู้ตามลักษณะเฉพาะ ของสภาพธรรม และลักษณะที่เสมอทั่วไปแท้จริงของรูปธรรม และอรูปธรรมทั้งปวง ด้วยญาณคติ เพราะเหตุที่ทรงบรรลุถึงลักษณะเฉพาะ และลักษณะทั่วไปอันแท้จริงของธรรมทั้งปวง ฉะนั้น พระศาสดาจึงชื่อว่าตถาคต

        ไม่มีอะไรที่จะประเสริฐเท่ากับการรู้แจ้งความจริงของธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นสัจจธรรมที่พระผู้มีพระภาคเองทรงแสวงหาตลอดเวลาที่เป็นพระโพธิสัตว์ และเมื่อได้ทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงแสดงหนทางจริงที่จะทำให้สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และดับกิเลสได้จริงๆ แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรง และจริงใจ

        ถามว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมอันแท้ตามความ เป็นจริง เป็นอย่างไร

        ตอบว่า อริยสัจจ์ ๔ ชื่อว่าธรรมแท้ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจจ์ ๔ เหล่านี้ เป็นของแท้ เป็นของจริง ไม่เป็นอย่างอื่น อริยสัจจ์ ๔ มีอะไรบ้าง คือ อริยสัจจ์ที่ว่า นี้ทุกข์ เป็นของแท้ เป็นของจริง ไม่เป็นอย่างอื่น ฯลฯ

        ตลอดไปจนถึงอริยสัจจ์ข้ออื่นๆ ทั้ง ๔ ข้อ

        ก็พระผู้มีพระภาคตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ เหล่านั้น เพราะฉะนั้น พระองค์จึงชื่อว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมอันแท้ ความจริง พระผู้นายกตรัสรู้สัจจะทั้งหลายที่เป็นของแท้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าตถาคต เพราะตรัสรู้สัจจะทั้งหลายที่เป็นของแท้

        ถามว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าตถาคต เพราะทรงเห็นแต่ความจริง เป็นอย่างไร

        ตอบว่า แท้จริง พระผู้มีพระภาคผู้ตถาคตย่อมทรงรู้ ทรงเห็นอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมที่ปรากฏทางทวาร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ ในโลกธาตุที่ไม่มีประมาณโดยอาการ ทั้งปวง เหตุนั้นจึงชื่อว่าตถาคต เพราะทรงเห็นแต่ความจริงอย่างนั้น

        อีกนัยหนึ่ง ทรงแสดงแต่สิ่งที่แท้ในโลกแก่โลกอย่างนี้เท่านั้น แม้เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่าตถาคต ในที่นี้พึงทราบความหมายแห่งบทว่า ตถาคต ในอรรถว่า ทรงเห็นแต่ ความจริงแท้

        ไม่มีอะไรนอกไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามที่ว่า พระผู้มีพระภาคผู้ตถาคตย่อมทรงรู้ ทรงเห็น ธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง

        ท่านผู้ใดย่อมรู้ ย่อมเห็นธรรมทั้งหลายโดยอาการที่แท้จริง ท่านผู้นั้นชื่อว่า ผู้เห็นแต่ความจริง เพราะฉะนั้น ท่านผู้รู้จริงดังว่า จึงชื่อว่าตถาคต

        ถามว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าตถาคต เพราะตรัสแต่คำจริง เป็นอย่างไร

        ตอบว่า ก็คำใดที่สงเคราะห์เป็นนวังคสัตถุศาสตร์มีสุตตะเป็นต้น อันพระตถาคตภาษิตดำรัสไว้ตลอดกาลประมาณ ๔๕ พรรษา ระหว่างตรัสรู้ และปรินิพพาน คำนั้นทั้งหมดเป็นคำแท้ ไม่เท็จเลย ดุจชั่งได้ด้วยตาชั่งอันเดียว

        ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า

        ดูกร จุนทะ ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ราตรีใด ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ราตรีใด ในระหว่างนี้ตถาคตภาษิต กล่าว ชี้แจง คำใดไว้ คำนั้นทั้งหมดเป็นคำแท้จริงอย่างเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าตถาคต

        เพราะเหตุที่พระชินพุทธเจ้าตรัสแต่คำจริง ทรงประกาศธรรมที่แท้จริง และ พระดำรัสของพระองค์ก็เป็นคำจริง ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าตถาคต

        ถามว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าตถาคต เพราะทรงทำจริง เป็นอย่างไร

        ตอบว่า ถ้าไม่ทรงทำจริง จากการที่ทรงบำเพ็ญบารมีสี่อสงไขยแสนกัปในขณะที่ เป็นพระโพธิสัตว์ ย่อมไม่สามารถตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้

        ถามว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าตถาคต เพราะทรงทำจริง เป็นอย่างไร

        ตอบว่า ความจริง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจาใดๆ ก็ทรงทำพระวาจานั้นๆ ด้วยพระกาย คือ พระกายก็อนุโลมตามพระวาจา ทั้งพระวาจาก็อนุโลม ตามพระกาย ด้วยเหตุนั้นนั่นแลจึงตรัสว่า

        ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตกล่าวอย่างใดก็ทำอย่างนั้น ตถาคตทำอย่างใด ก็กล่าวอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าตถาคต เพราะเหตุที่พระวาจาของพระองค์ไปอย่างใด พระกายก็ไปอย่างนั้น เพราะตรัสแต่คำจริง ฉะนั้น พระศาสดาผู้ตรัสรู้จริง จึงชื่อว่าตถาคต

        เป็นเรื่องจริงตลอดพระไตรปิฎก และเป็นเรื่องจริงตลอดทุกขณะ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิสูจน์ได้

        ผู้ฟัง คำว่า ตถาคต มีความหมายหลายประการ โดยรากศัพท์แปลว่าอะไร

        ท่านอาจารย์ เชิญท่านอาจารย์สมพร

        อ. สมพร คำว่า ตถาคต แยกศัพท์ออกเป็น ตถา กับ อาคต แปลว่า ผู้เสด็จมาอย่างนั้น คือ เสด็จมาอย่างพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ องค์ก่อนๆ เสด็จมาอย่างไร เพื่อตรัสรู้ เพื่อโปรดสัตว์อย่างไร องค์นี้ก็ฉันนั้น จึงชื่อว่าตถาคต ตถา แปลว่า อย่างนั้น อาคต แปลว่า มา เสด็จมาอย่างนั้น

        ท่านอาจารย์ ขอบพระคุณ แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เพียงคำเดียว คือ คำว่า ตถาคต ความหมายก็กว้างมาก เพราะเหตุว่าเสด็จมาอย่างไร เสด็จมาอย่างนั้น เพียงเท่านี้ ก็จะต้องศึกษามากว่า อย่างไร และอย่างนั้น คือ พระธรรมทั้งหมด

        ที่มา ...

        แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932


    หมายเลข 12870
    9 ม.ค. 2567