การศึกษาวิถีจิตที่ถูก ควรจะเป็นอย่างไร


        ผู้ฟัง จริงๆ แล้ว การศึกษาว่า วิถีจิตมีอย่างไร และมีกี่ประเภท จะเกื้อหนุนปัญญาอย่างไร

        สุ. รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตนค่ะ

        ผู้ฟัง แต่จริงๆ แล้ว ส่วนละเอียดของวิถีจิต ไม่ว่าทางปัญจทวารหรือหรือทางมโนทวาร ก็เป็นสิ่งที่เรารู้ไม่ได้ ใช่ไหมคะ

        สุ. ฟังได้ไหมคะ

        ผู้ฟัง ฟังได้ค่ะ

        สุ. เข้าใจได้ไหม

        ผู้ฟัง เข้าใจได้ แต่โดยจริงๆ แล้ว รู้สึกว่า วิถีจิตเป็นเรื่องที่ยากค่ะ และถ้าเกี่ยวกับสภาพธรรมแล้ว ไม่สามารถพิจารณาได้

        สุ. อะไรง่าย ถ้าวิถีจิตยาก อะไรง่าย

        ผู้ฟัง ไม่มีค่ะ

        สุ. ค่ะ ไม่มี เพราะฉะนั้นแต่ละคำควรจะได้พิจารณาเป็นความเข้าใจจริงๆ เพราะว่าถ้าเราเผิน เราก็ฟังเหมือนกับเราฟังธรรม เราเข้าใจธรรม แต่จริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เพราะว่าธรรมลึกซึ้งค่ะ แม้กำลังมี ก็ไม่มีใครสามารถเข้าใจถูก เห็นถูก ถ้าไม่มีการได้ฟัง และเข้าใจเป็นพื้นฐานตามลำดับขั้น ที่จะไปถึงการดับกิเลส หรือหมดกิเลส ถ้าไม่มีความเข้าใจจริงๆ ในความเป็นอนัตตา ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้ ด้วยความไม่รู้

        เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องละเอียด เวลาฟังอยากจะฟังอย่างละเอียด หรืออยากจะฟังเพียงชื่อ หรือหัวข้อ หรือคำแปล โดยที่แม้สภาพธรรมขณะนี้ก็มีจริง ถ้าได้ฟังละเอียดขึ้น สามารถเห็นความเป็นอนัตตายิ่งขึ้นหรือเปล่า เพราะว่าเป็นสิ่งที่ยาก และละเอียด ไม่ควรประมาทเลย

        ผู้ฟัง พอศึกษาเรื่องวิถีจิต ก็ทราบว่า มีทางปัญจทวารกับทางมโนทวาร พอในชีวิตประจำวัน ก็มีความเป็นตัวตนที่พยายามหาสภาพธรรมเหล่านั้น ทั้งทางปัญจทวาร และทางมโนทวาร ก็เลยมีความรู้สึกว่า จริงๆ แล้ว การศึกษาวิถีจิตที่ถูก ควรจะเป็นอย่างไรคะ

        สุ. คือเข้าใจธรรมที่กำลังฟัง ไม่ใช่ให้ไปหาเอง แต่เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง กำลังมีจริงๆ ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นเรื่องธรรมที่มีจริง สามารถเข้าใจได้ เพราะว่าไม่ใช่ต้องไปหาที่ไหนเลย กำลังมี ทุกคำที่ทรงแสดงไว้ เป็นเรื่องของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันที่กำลังมี ให้เข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น แต่เป็นธาตุ หรือเป็นเป็นธรรม ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 344


    หมายเลข 12459
    23 ม.ค. 2567