เรียนให้เข้าใจว่า ไม่มีเรา ไม่ใช่เรียนจนกว่าเราจะรู้


        ผู้ฟัง อยากจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ถึงอารมณ์ของจิต เช่น ไม่ว่าเราจะเห็น หรือได้ยิน สภาพที่เกิดในชีวิตประจำวัน ถ้าจะกล่าวว่า ได้ยิน คือแค่สภาพเสียง และเราก็คิดนึกต่อไป ก็เลยมาพิจารณาดูว่า จริงๆ แล้ว ไม่มีใครทำให้เราทุกข์ได้ นอกจากความคิดนึกของตัวเราเอง ก็เลยมีความสงสัยในเรื่องจิตที่รู้อารมณ์

        ท่านอาจารย์ ขณะนี้คุณสุกัญญามีจิตไหมคะ มี จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้นแม้ขณะนี้จะมีจิต และมีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้น เป็นธรรมดา แต่ว่าพื้นฐานพระอภิธรรม คือ ธรรมที่กำลังมี ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นธรรมที่เกิดจึงปรากฏ แล้วที่จะเกิดได้ก็ต้องมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้นด้วย ไม่ใช่ใครอยากให้อะไรเกิดแล้วสิ่งนั้นก็จะเกิดขึ้นได้ เป็นไปไม่ได้เลย แม้แต่จิต มีใครอยากมีไหม มีแล้วดี หรือเปล่า จิต กำลังเห็นนี่ดีไหม อยากมีไหม อยากมีต่อๆ ไปอีกไหม นอกจากเห็น ยังมีได้ยินอีก ยังมีได้กลิ่นอีก ยังมีลิ้มรสอีก สุขบ้าง ทุกข์บ้าง อยากมีต่อๆ ไปอีกไหม

        นี่ก็แสดงให้เห็นว่า จะอยาก หรือไม่อยากอย่างไรก็ตาม บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีปรากฏเนิ่นนานมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ แต่ไม่เคยเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง แม้ขณะนี้จะตอบว่ามีจิต เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่จิตกำลังรู้ อันนี้คือการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา และกำลังมีด้วย

        เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ละอะไรไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะรู้โดยชื่อ แต่ไม่ได้เข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมที่มีจริงๆ

        เพราะฉะนั้นถ้าเพียงคำที่บอกว่า จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ และตามธรรมดาในวันหนึ่งๆ ต้องมีเห็น เป็นเรา หรือเป็นธรรม ซึ่งกว่าจะรู้ว่า ไม่ใช่เรา เป็นธรรม เห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นเมื่อมีสิ่งที่ปรากฏเพราะถูกเห็น อะไรเป็นอารมณ์ของจิต ถ้าถามเรื่องอารมณ์ ก็ต้องหมายความว่า สิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะปรากฏให้รู้ได้ และจิตก็กำลังรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏ

        เพราะฉะนั้นทั้งวัน ไม่ว่าอะไรปรากฏ นั่นคืออารมณ์ของจิต ยังสงสัยในคำว่า อารมณ์ของจิตไหมคะ

        ผู้ฟัง ถ้ามีสติพอที่จะระลึกสภาพของปรมัตถธรรมที่ปรากฏได้ ก็คงจะมีความเข้าใจได้แจ่มแจ้ง ทีนี้จากจริงๆ ในชีวิตประจำวัน จากการศึกษา ก็พอจะเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นอารมณ์ของจิตเห็น เสียงที่ปรากฏทางหู ก็คืออารมณ์ของหูที่ได้ยิน คือ การได้ยิน ทีนี้ทุกสิ่งเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป แต่ในชีวิตประจำวัน สภาพความเป็นเราเหนียวแน่น จนกระทั่งเราคิดต่อ ระลึกต่อ ก็เลยทำให้สับสนว่า จริงๆ แล้ว ขณะที่ทุกข์เกิด หรือคิดนึกเกิด จิตที่เกิด และรู้ลักษณะนั้น อะไรเป็นอารมณ์ของจิต

        ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องไประลึกรู้ลักษณะของอารมณ์นั้นเลย การศึกษานี่ข้ามขั้นไปแล้ว เพราะว่าส่วนใหญ่ได้ยินคำว่า “ระลึกรู้” แล้วก็ยังสงสัยด้วยซ้ำไปว่า อะไรเป็นอารมณ์ของจิต ในเมื่อใช้คำว่า “ระลึกรู้” ต้องมีสภาพรู้ และสิ่งที่ถูกรู้

        อารมณ์หมายถึงอะไรก็ตามที่กำลังถูกรู้ ต้องมีจิตที่กำลังรู้ และสิ่งนั้นถูกรู้ ถ้ามีความเข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจตามลำดับ ไม่ต้องไปคิดถึงสติ ไม่ต้องไปคิดถึงอะไรเลยทั้งสิ้น ส่วนใหญ่คิดเรื่องสติปัฏฐาน แต่ไม่ได้คิดเรื่องการอบรมความเห็นถูกในชีวิตประจำวัน สติปัฏฐานถ้าเกิดแล้วไม่มีความเห็นถูกต้อง มีประโยชน์อะไร แต่ว่าสติปัฏฐานก็เป็นอนัตตา ไปได้ยินคำว่า สติปัฏฐาน และได้ยินคำว่า จิต และได้ยินคำว่า อารมณ์ ก็อยากรู้เลย อยากรู้ว่า เมื่อไรสติเกิด และเวลาสติเกิดแล้วมีอะไรเป็นอารมณ์ ที่ถามหมายความถึงอย่างนี้ใช่ไหมคะ

        ผู้ฟัง ยกตัวอย่างในชีวิตประจำวัน เมื่อได้ยินเสียงที่ไม่ดี เราก็รู้ว่า อันนี้เป็นผลของอกุศล อันนี้คือขั้นคิดนึกว่า เป็นผลของอกุศลที่เราได้ยินเสียงที่ไม่ดี แต่ความคิดนึกเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็คิดต่อเนื่องยืดยาว ทีนี้การคิดต่อเนื่องยืดยาวไม่ใช่ไม่รู้สึกตัว ก็รู้สึกตัว และจากการที่เราฟังธรรม เราก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ทีนี้ก็มีความสงสัยว่า ทำไมอารมณ์เหล่านี้ คือ สิ่งที่จิตรู้ และจิตรู้อะไรในขณะนั้น คือ ยังไม่เข้าใจลักษณะจิตที่รู้ลักษณะของนามธรรม

        ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้กำลังเห็น ยังไม่ต้องพูดเรื่องสติ มีสิ่งที่ปรากฏ หรือเปล่า

        ผู้ฟัง มีสิ่งที่ปรากฏค่ะ

        ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะมีจิต รู้แค่นี้ใช่ไหมคะ ที่คุณสุกัญญาบอก และหลังจากนั้นก็คิดยาวเลย จริงๆ แล้วคุณสุกัญญาบอกว่า รู้สึกตัว ภาษาธรรมดา ใครก็รู้สึกตัวได้ใช่ไหม เป็นปัญญา หรือเปล่าคะ ไม่เป็นแล้วจะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อขณะไหนก็ตาม จะใช้คำอะไรก็ตาม แต่ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตา หู จมูก ลิ้น กาย

        เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม อบรมให้มีความเห็นถูกในสิ่งที่มี ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา นี่คือเริ่มเข้าใจคำว่า อบรม ไม่ใช่ให้ไปทำ ไม่ให้ไปหวัง ไม่ใช่ให้ไปแยก ไม่ใช่ขณะนี้สติมีอะไรเป็นอารมณ์ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ยังไม่เข้าใจลักษณะของสติ เพียงแต่ได้ยินคำว่า “รู้สึกตัว” รู้สึกตัว เป็นคุณสุกัญญารู้สึกตัว ไม่ใช่สติที่เกิดเพราะเข้าใจว่า ขณะนี้ไม่ใช่เรา แต่มีจริงๆ เห็นก็มีจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีจริง

        นี่ขั้นฟัง ขณะที่ฟังถ้าโดยศึกษา จะทราบว่า ไม่ใช่คุณสุกัญญา แต่เป็นจิตที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกซึ่งมีสติเกิดร่วมด้วย และมีเจตสิกอื่นๆ เกิดขึ้นทำกิจการงานอย่างรวดเร็ว เกิดแล้วก็ดับไปพร้อมจิต ไม่ต้องอยากจะไปรู้อันหนึ่งอันใดที่เป็นสติที่เกิดร่วมกับโสภณจิตในขณะนั้น ไม่ต้องไปอยากรู้ผัสสะ สัญญา เจตนาอะไร ฟังให้เข้าใจ อบรมความรู้ถูก ความเห็นถูก ถ้ามีความรู้ ความเห็นถูก จะรู้ว่า ขณะไหนสติสัมปชัญญะเกิด ซึ่งไม่ใช่เรารู้สึกตัว ถ้าเป็นเรารู้สึกตัว ไม่มีทางที่จะเอาเราออกได้ และจะไม่เข้าใจด้วย สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เป็นเรื่องราวของสิ่งที่มี ซึ่งละเอียด ต้องไตร่ตรอง ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล ขณะไหนเป็นความเห็นถูก ขณะไหนเป็นเรา แม้ได้ยินได้ฟังก็เป็นเรารู้สึกตัว ถ้าจะเป็นเรารู้สึกตัว ก็จะเกิดความสงสัยอย่างที่คุณสุกัญญาสงสัย แล้วขณะนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ แต่ที่เคยฟังมาแล้ว อารมณ์คือสิ่งที่ปรากฏเมื่อจิตกำลังรู้สิ่งนั้น ค่อยๆ เข้าใจ แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏตลอด ทางตาก็มี ทางหูก็มี จมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็มี แต่เพราะหลงลืม เพราะการได้ยินได้ฟังว่าเป็นธรรมน้อยมาก เมื่อเทียบกับความไม่รู้ ที่เนิ่นนานมาในสังสารวัฏฏ์

        เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ตรงที่จะรู้ว่า การฟัง เพื่อสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องไปคิดเรื่องสติมีอะไรเป็นอารมณ์ เพราะว่าขณะใดก็ตามที่จิตเกิด ไม่ว่าจะเป็นอกุศลจิต ก็ต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏกับจิต และจิตขณะนั้นก็เป็นอกุศล แล้วถ้าเป็นทางฝ่ายดี ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ปรากฏ จิตกำลังรู้สิ่งนั้น และธรรมฝ่ายโสภณก็เกิด และรู้สิ่งนั้นด้วย คือ ไม่ใช่ตัวตน ต้องมีความมั่นคงที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรม

        ผู้ฟัง อย่างนั้นจิตที่เกิดดับอยู่ทุกขณะ ก็จะต้องมีสิ่งที่รู้อารมณ์ เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถทราบได้ พิจารณาได้ จนกว่าจะมีปัญญาที่จะเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมที่แท้จริง

        ท่านอาจารย์ เรียนให้เข้าใจว่า ไม่มีเรา ไม่ใช่เรียนจนกว่าเราจะรู้ นี่เรียนไปจนกว่าเราจะรู้ใช่ไหมคะ หรือเรียนให้เข้าใจว่า ไม่มีเรา เป็นธรรม จริงๆ ยิ่งฟังยิ่งเห็นว่า เป็นธรรม ยิ่งเข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีเรา ไม่ใช่เรียนไปจนกว่าเราจะรู้

        ผู้ฟัง เรียนไปก็เหมือนอยู่ในสมองว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน

        ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ เรียนไปเหมือนอยู่ในสมอง ไปเอามาจากไหนคะ เพราะว่าขณะนี้มีเห็น ไม่มีใครไปแนะนำว่า ให้อยู่ในสมอง หรือขณะนี้กำลังอยู่ในสมอง ก็ไม่ใช่ แต่ให้เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม แม้แต่ “ธรรม” คำเดียว สมอง เราพูดทำไม เป็นธรรม หรือเปล่า

        ผู้ฟัง แต่เราคิดทุกขณะจิตเลยค่ะว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

        ท่านอาจารย์ คิดว่าอย่างไรคะ

        ผู้ฟัง ก็ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น

        ท่านอาจารย์ ไม่ว่าสิ่งใดนี้ รวมไปหมดเลย แล้วจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเปล่า เพราะรวมไปหมดว่า ไม่ว่าสิ่งใด เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ความรู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยทั้งสิ้น ต้องทีละอย่าง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 327


    หมายเลข 12377
    23 ม.ค. 2567