ทบทวนเรื่องกิริยาจิต


        ผู้ฟัง ชาติของจิตมี ๔ ชาติ กุศล อกุศล วิบาก และกิริยา ทีนี้เวลาท่านอาจารย์อธิบายก็จะบอกว่า กิริยาไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก แต่อยากทราบว่า จริงๆ แล้วกิริยาจิตมีคำจำกัดความของเขาไหมคะว่า คืออะไร นอกจากไม่ใช่กุศล อกุศล และวิบากแล้ว

        ท่านอาจารย์ วันนี้ก็ถือว่าเป็นการทบทวนเรื่องกิริยาจิต เพราะว่าบางคนก็ได้ยินชื่อคุ้นหู กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต ก็ผ่านไป จำไว้ว่ามี ๔ และจำชื่อได้ กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต แต่ไม่ใช่เพียงจำ ควรจะเข้าใจด้วย วันนี้ก็เป็นโอกาสที่จะพูดให้เข้าใจเรื่องกิริยาจิต ถ้ามีข้อสงสัยก็เชิญซักถาม

        การที่เราจะเข้าใจธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ต้องไตร่ตรอง ต้องละเอียด และต้องประกอบกันด้วย

        จิตเกิดขึ้นเปล่าๆ แล้วก็ดับไป หรือว่าจิตทุกประเภทเกิดขึ้นแล้วทำกิจ คือ หน้าที่ของกิจนั้นๆ แต่ละจิตที่เกิดขึ้น จิตเกิดขึ้นมีลักษณะเป็นธาตุรู้ มีกิจเฉพาะแต่ละจิตด้วย

        เพราะฉะนั้นสำหรับเวลาที่จิตหนึ่ง คิดถึงจิตหนึ่ง เกิดขึ้น ไม่ใช่กุศลจิต และไม่ใช่อกุศลจิต และไม่ใช่วิบากจิต คือ ไม่ใช่ผลของกุศล และอกุศล แต่จิตที่เกิดนั้นทำหน้าที่ซึ่งเป็นหน้าที่ของกิริยาจิต ที่จะขอกล่าวถึง คือ กิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ จะใช้คำว่า “อเหตุกกิริยา” ก็ได้ ตามปกติก็จะมีกิริยาจิต ๒ ประเภท คือ กิริยาจิตที่มีเหตุที่ดีงามเกิดร่วมด้วย อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ ที่เป็นกิริยาจิตเพราะเกิดแล้วทำกิจ แต่ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลข้างหน้า

        นี่จะทำให้เข้าใจลักษณะของจิตที่เป็นกิริยาจิตว่า เป็นจิตที่เกิดแล้ว แต่ไม่ใช่เป็นผลของกรรม คือ ไม่ใช่วิบากจิต และไม่ใช่กุศล และอกุศล เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่ากิริยาจิตจะไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากจิตข้างหน้า เพราะฉะนั้นที่เราพอจะเข้าใจได้ คือ จิตของพระอรหันต์ไม่เป็นกุศลจิต และไม่เป็นอกุศลจิต เพราะเหตุว่าถ้าเป็นกุศล และอกุศล ต้องเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากได้

        ด้วยเหตุนี้เมื่อดับกิเลสหมด แต่ยังมีปัจจัยที่จิตจะเกิดทำกิจการงาน เพราะว่าใครจะไปยับยั้งจิตไม่ให้เกิดได้ไหม ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย จิตทุกขณะที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้แม้เป็นพระอรหันต์ ก็ไม่ใช่จะไปยับยั้งไม่ให้จิตเกิดขึ้นอีกต่อไป ในเมื่อยังมีเหตุปัจจัยที่ยังให้จิตเกิดขึ้นต่อไป แต่ว่าจิตที่เกิดขึ้นต่อไปจะไม่เป็นกุศลจิต และอกุศลจิต จะเป็นวิบากจิต และกิริยาจิต เพราะเหตุว่าวิบากเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว จะไปทำให้กรรมที่ได้กระทำแล้วหมดไป ไม่เป็นปัจจัยให้วิบากเกิด ยังเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่ถึงการสิ้นชีวิต คือ ปรินิพพาน คือจิตขณะสุดท้ายยังไม่เกิด กรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตก็ยังมีปัจจัยให้วิบากจิตเกิด นี่เป็นวิบาก ทำหน้าที่ของวิบาก แต่ไม่ใช่มีแต่เฉพาะวิบาก กุศล และอกุศลซึ่งเคยเกิดเป็นกุศล และอกุศล พอหมดกิเลสไม่เป็นปัจจัยให้เป็นกุศล จึงเป็นกิริยาที่ประกอบด้วยโสภณเหตุ อันนี้พอที่จะเข้าใจ แต่ก็ยังมีกิริยาจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นทำกิจการงาน เพราะเรารู้แล้วว่า ไม่มีใครสามารถยับยั้งไม่ให้จิตเกิดขึ้นได้เลย เมื่อถึงวาระที่จิตประเภทไหนจะเกิด จิตประเภทนั้นจึงเกิด สลับกันก็ไม่ได้ ไปบังคับก็ไม่ได้ ไปเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้

        เพราะฉะนั้นนอกจากกิริยาจิตที่เป็นของพระอรหันต์แล้ว ซึ่งเป็นสเหตุกะ ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็ยังมีกิริยาจิตอีก ๒ ประเภท คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นกิริยาจิต เพราะเป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจอาวัชชนะ เป็นกิริยา

        อันนี้อาจจะฟังดูเป็นชื่อ และเป็นตำรับตำรา แต่ความจริงให้ทราบว่า เมื่อมีจิตขณะแรกเกิดขึ้นในภพหนึ่งชาติหนึ่ง เป็นปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรม เป็นวิบากจิต อันนี้มีใครไม่เห็นด้วยบ้างคะ

        จิตขณะแรกที่เกิดเป็นผลของกรรม และกรรมที่ได้ประมวลมาด้วย ตั้งแต่แสนโกฏิกัป สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้แต่ละคนต่างกันไป แม้ขณะนี้ก็กำลังต่าง ตามเหตุตามปัจจัย ถึงจะเป็นวิบากประเภทเดียวกัน แต่การสะสมที่สะสมอยู่ในจิตก็ต่างกันไปตามการสะสมด้วย

        เพราะฉะนั้นทุกคนเห็นด้วยว่า จิตขณะแรกที่เกิดเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม และกรรมก็ไม่ได้ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว เวลาทำกรรม จิตหลายขณะ เพราะฉะนั้นจะให้ผลของกรรมเกิดขึ้นขณะเดียว เป็นปฏิสนธิจิต ที่ใช้คำว่า “ปฏิสนธิจิต” เรียกตามกิจว่า วิบากจิตนี้ทำปฏิสนธิกิจ คือ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เป็นกิจแรกของชาตินี้ คือ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน และเป็นวิบากจิต

        เพราะฉะนั้นในชาตินี้จะให้มีปฏิสนธิจิตหลายๆ ขณะ ได้ไหมคะ ไม่ได้เลยค่ะ นี่ก็คือการเริ่มเข้าใจเรื่องจิต และกิจของจิตว่า เป็นจิตประเภทเดียวกัน เป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ แล้วแต่ว่าใครจะเกิดเป็นอะไรก็ตามแต่

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 304


    หมายเลข 12262
    24 ม.ค. 2567