เข้าใจลักษณะของจิตที่เป็นวิบากจริงๆ หรือยัง


        ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ที่เห็น ได้ยิน เป็นชาติวิบากอย่างไร เพราะจริงๆ แล้วในชีวิตประจำวันไม่ได้รู้สึกว่าเป็นชาติวิบาก แต่จากการศึกษาธรรม ก็มีความเข้าใจขั้นเบื้องต้นว่าเป็นชาติวิบาก แต่ก็ยังตะขิดตะขวงใจอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าจริงๆ แล้ว ไม่ว่าขณะที่เห็น หรือได้ยิน สิ่งที่สัมผัสได้ หรือพอจะพิจารณาได้ก็คือ ชอบ ไม่ชอบค่ะ

        สุ. จริงๆ ก็เป็นความตรงที่จะรู้ว่า ยังไม่เข้าใจลักษณะของจิตที่เป็นวิบากจริงๆ เพราะเหตุว่าเพียงแต่จำชื่อว่า ขณะที่เห็นเป็นวิบากจิต นี่คือจำชื่อ เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจธรรมเป็นเรื่องที่ต้องรู้ว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และมีลักษณะที่ต่างๆ กันไปด้วย และขณะใดก็ตามไม่ว่าจะพูดถึงจิตประเภทไหน กุศลจิต อกุศลจิต หรือวิบากจิตก็ตามแต่ ถ้ายังไม่เข้าถึงสภาพธรรมที่เป็นจิต เราจะได้ยินแต่ชื่อ และเราก็พิจารณาว่าเหตุผลเป็นอย่างนั้น แต่ตัวจริงของจิตยังไม่รู้ได้ เพราะเหตุว่าจำแต่เพียงชื่อ

        เพราะฉะนั้นขณะนี้ค่อยๆ พิจารณาหลายนัย ที่จะให้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งมองไม่เห็น ลองคิดดู สิ่งที่มีจริง และมองไม่เห็น มี ลึกลับเกินกว่าที่ใครจะรู้ความจริงของสิ่งนั้นได้ เพราะว่าสิ่งที่มองไม่เห็นที่เป็นรูปก็มี เช่น กลิ่น มองไม่เห็น รส มองไม่เห็น เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว ที่กระทบสัมผัสก็มองไม่เห็น มีสิ่งเดียวที่ปรากฏให้เห็นได้ แต่แม้กระนั้นการจะเข้าถึงสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ก็ยาก ทั้งๆ ที่สามารถจะมองเห็น หรืออย่างกลิ่นก็สามารถจะรู้ได้เพราะกระทบจมูกเมื่อไร กลิ่นก็ปรากฏ แต่สภาพของนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูป และไม่มีรูปใดๆ เลย ขณะนี้ก็กำลังมี

        เพราะฉะนั้นการฟังธรรมต้องฟังให้ถึงแก่น คือจรดกระดูกที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังว่า ขณะนี้เรากำลังพยายามที่จะฟังให้เข้าใจสิ่งที่มองไม่เห็น และไม่มีรูปร่าง แต่มีจริงๆ ก่อนอื่นที่จะรู้ว่ามีจิตจริง ตอนเกิด ขณะเกิด ไม่รู้แน่ แต่ต้องมีปฏิสนธิจิต คือ จิตขณะแรกซึ่งจะทำให้มีการเกิดดับสืบต่อของจิตขณะต่อๆ ไป ที่จะทำให้สามารถรู้ได้ เข้าใจได้ว่า มีจิต มิฉะนั้นจะไม่รู้เลยว่า มีจิต เพราะว่าจิตก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีรูปร่างที่จะปรากฏให้เห็น ขณะแรกที่ปฏิสนธิแม้มีจิต ก็ไม่รู้ แต่ไม่ใช่ว่า จิตนั้นเกิดแล้วดับแล้วจะไม่เกิดต่อ สภาพของจิตที่เกิด เมื่อดับแล้ว เป็นปัจจัยให้จิต และเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมซึ่งเกิดร่วมกัน เกิดต่อ ขณะที่ดำรงภพชาติเป็นภวังค์สืบต่อจากปฏิสนธิจิต ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่ามีจิต ทั้งๆ ที่มีจิต

        เพราะฉะนั้นการพูดเรื่องวิบาก หรือการพูดเรื่องของกุศลจิต อกุศลจิต ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจลักษณะของจิตเพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถแยกรู้สภาพธรรมที่เป็นจิตที่เป็นเหตุ และจิตที่เป็นผล เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้มีจิตแน่นอน และถ้าขณะปฏิสนธิไม่มี ภวังคจิตไม่มี ขณะนี้จะมีไม่ได้ เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้เกิดขึ้น ดับไป จิตที่เกิดต่อดำรงภพชาติ ขณะนั้นก็ยังไม่รู้ว่ามีจิต และวันนี้ขณะที่นอนหลับสนิทก็มีจิต ก็ไม่รู้ในขณะนั้นว่ามีจิต แต่ว่าจิตก็เกิดดับสืบต่อ มีปัจจัยที่หยุดไม่ได้ ยั้งไม่ได้ ห้ามไม่ได้ เพราะเมื่อมีปฏิสนธิ แล้วก็ต้องมีปวัตติ คือ การจะต้องเป็นไปตามการสะสมของจิตแต่ละประเภท แม้ว่าจิตเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น รู้ว่ามีจริง แต่มองไม่เห็น แต่จากการฟัง และค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจ ก็สามารถเริ่มเข้าใจถูกในลักษณะของจิตก่อน แล้วจากการได้ฟังเรื่องจิตหลากหลายเป็นประเภทต่างๆ ก็จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตาซึ่งไม่สามารถบังคับบัญชาได้

        เพราะฉะนั้นตั้งแต่เช้ามา หลังจากหลับตื่นขึ้น ก็มีจิตประเภทอื่นแล้ว เช่น กำลังเห็น จิตมองไม่เห็น ไม่ใช่สภาพที่ใครจะไปจับต้องได้ แต่จิตกำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ก่อนจะไปถึงคำว่า “วิบาก” ก็หมายความว่า ขณะนั้นจะให้ตื่นตามต้องการได้ไหม จะให้หลับตามต้องการได้ไหม บางคนอยากจะหลับมากก็ไม่หลับ บางคนตั้งใจว่าจะตื่นขึ้นสักตีสี่ ฟังรายการธรรม ก็ไม่ตื่น

        นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครสามารถจะเป็นเรา ที่จะบังคับสภาพธรรมซึ่งมองไม่เห็น มีจริงๆ และเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทุกขณะ เพราะฉะนั้นเมื่อหลับ ขณะนั้นไม่รู้ว่ามีจิต แต่ตื่นแล้วขณะนี้เห็น พอจะรู้ไหมว่า เป็นจิตที่เห็น นี่ต้องเริ่มเข้าใจก่อน เพราะเหตุว่าสิ่งนี้กำลังปรากฏต่อเมื่อมีจิตเห็น ถ้าจิตเห็นไม่เกิด สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏขณะนี้ปรากฏไม่ได้เลย และจริงๆ แล้วแม้จิตขณะแรกที่เกิด คือ ปฏิสนธิจิต ถ้าได้เคยได้ยินคำว่า “วิบาก” คือ ผลของกรรม ก็จะรู้ได้ว่า เป็นวิบากแน่นอน เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถเลือกให้กรรมไหนให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นที่ไหน และเมื่อไรด้วย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 282


    Tag  วิบาก  
    หมายเลข 12141
    23 ม.ค. 2567