เมื่อมีความเข้าใจขึ้นจะไม่ลืม


        ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ลองอธิบายเพิ่มได้ไหม คือ ตอนนี้ฟังแล้วก็เข้าใจว่า ต้องเข้าใจ ทีนี้ระดับของความเข้าใจ ถ้าประจักษ์ไม่รู้เข้าใจอย่างไร

        สุ. ข้าใจขึ้น มีไหมคะ จากนี่จะกระโดดไปโน่นไม่ได้ เข้าใจขึ้นขั้นฟัง มีไหมคะ

        ผู้ฟัง มีครับ

        สุ. แล้วก็เข้าใจขึ้นอีก ขั้นฟังอีก ก็มีเพิ่มขึ้น ขณะที่สติสัมปชัญญะเริ่มเกิด ต่างกับขณะที่เพียงฟัง หรือเปล่า สติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะ มีลักษณะให้รู้ตลอดเวลา แต่ลืมเสมอว่าเป็นธรรม ลืมเสมอว่าเป็นเพียงลักษณะของธรรม อย่างขณะที่นั่งอยู่ที่นี่ ลืมว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่สามารถปรากฏทางตา ภาษาบาลีใช้คำว่า รูปารัมมณะ ใช้คำว่า “วัณโณ” หรือคำอื่นก็ได้ แต่หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา ลืมว่าเป็นสิ่งที่สามารถปรากฏเมื่อกระทบจักขุปสาทเท่านั้น ฟังมาเท่าไรๆ ก็ลืม ก็ยังเป็นคนนั่งอยู่ที่นี่ตลอดเวลา

        ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นผู้ที่ประจักษ์ก็จะไม่ลืม ใช่ไหมครับ

        สุ. แน่นอนค่ะ ต้องมีความเข้าใจถูกต้อง จนกระทั่งสามารถดับทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย ไม่มีความสงสัยในความเป็นธรรมแต่ละลักษณะ

        ผู้ฟัง คือ ทุกขณะของผู้ประจักษ์จะไม่ลืมว่า นี่คือธรรม ไม่ใช่เรา ใช่ไหมครับ

        สุ. รู้ไหมคะว่าเป็นธรรม ก่อนประจักษ์ ฟังแล้วเข้าใจไหมคะว่าเป็นธรรมก่อนประจักษ์ ฟังแล้วเข้าใจอีกๆ ๆ ไหม เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดก็รู้ว่าต่างกับขณะที่เพียงฟัง และเวลาที่มีความเข้าใจขึ้น เพราะสติเกิด และมีความรู้ทั่วขึ้น และจะลืมอะไรคะ ในเมื่อมีความเข้าใจขึ้น

        ผู้ฟัง เป็นไปได้ไหมว่า ขณะที่ทำงานในการดำเนินชีวิต ที่ไม่ใช่ทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้นก็ไม่มีทางเป็นกุศลได้ใช่ไหม

        สุ. คุณณรงค์ใช้คำว่า ไม่ใช่ขณะที่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา หมายความว่าในขณะนั้นต้องเป็นอกุศลจิต

        ผู้ฟัง เช่นขณะคิดทำงานต่างๆ

        สุ. ถ้าใช้คำว่า ขณะนั้นไม่ใช่ทาน ศีล ภาวนา ก็ปิดประตูของกุศลไปเลย แต่ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต

        ผู้ฟัง หมายความว่า ขณะทำงานแล้วทานจะเป็นอย่างไรครับ

        สุ. มีของอะไรที่จะให้คนข้างๆ ไหมคะ ไม้บรรทัด ดินสอ ปากกา

        ผู้ฟัง อย่างนี้ก็ต้องให้กันทั้งวัน

        สุ. เป็นไปได้ไหมคะ

        ผู้ฟัง ไม่ได้

        สุ. ค่ะ ไม่ได้ เพราะความเป็นเราที่อยากเป็นกุศล หรือเพราะมีความเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในขณะนั้นสำหรับคนนั้น

        ผู้ฟัง ก็เป็นประโยชน์ เป็นกุศล

        สุ. เพราะฉะนั้นต้องรู้ความต่างกันของขณะที่เป็นกุศลจิต และอกุศลจิต

        ผู้ฟัง ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหา เพราะว่าสติเราไม่เกิด

        สุ. เพราะฉะนั้นคุณณรงค์ก็ปิดประตูตั้งแต่ว่า ไม่ใช่ทาน ศีล ภาวนาก็ต้องเป็นอกุศลตลอดไป แต่ว่าแม้ขณะนั้นกุศลจิตเกิดได้ไหม เห็นใครก็ตาม มีเมตตาได้ไหม เมตตาก็เป็นกุศลแล้ว แต่ถ้าปิดประตูว่า ไม่ใช่ทาน ศีล ภาวนา ก็จบ เป็นอกุศลตลอด แต่ไม่ว่าขณะไหนก็ตาม กุศลจิตก็เกิดได้เมื่อมีเหตุปัจจัย แล้วแต่โอกาส แล้วแต่ปัจจัยในขณะนั้น

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 278


    หมายเลข 12112
    23 ม.ค. 2567