ทรัพย์ที่จะนำไปสู่ความเป็นอริยะ


        กว่าจะรู้ความจริง ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ที่ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้เลย ก็ต้องแยกโลกที่เราเคยอยู่ ซึ่งเราเคยหลงเป็นไปกับเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ แต่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ จึงเป็นเรื่องราวที่คิดนึกตลอด มีเรา มีโลกนี้ และวันหนึ่งก็จากโลกนี้ไป แต่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในโลกนี้ ก็ยังคงเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามีการฟังธรรม จะไปนิพพานหรือเปล่า ฟังเพื่อจะไป หรือเพื่อจะเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่ปรากฏ

        นี่คือความต่างกัน นิพพานมีจริงแน่นอน แต่ไม่ใช่เราที่จะไปถึง แต่ต้องเป็นปัญญา ความเห็นถูกต้องในสิ่งที่มีจริง จนกว่าจะละคลายความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรมนั้นด้วยการหลงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แล้วจึงสามารถมีสภาพธรรมที่เป็นนิพพานปรากฏ ประจักษ์แจ้งได้

        เพราะฉะนั้นเวลานี้อะไรปรากฏ แล้วยังไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วไปคิดถึงนิพพานได้อย่างไร ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เพียงแค่ได้ยินชื่อก็อยากถึง แล้วไม่รู้ความจริงว่า นิพพานเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่ขณะนี้สภาพธรรมปรากฏแท้ๆ ก็ยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้ลักษณะของนิพพานก็เป็นไปไม่ได้

        เพราะฉะนั้นการฟัง จะฟังมากฟังน้อย ฟังนาน แต่ทุกครั้งที่ฟัง ประโยชน์สูงสุดก็คือว่า มีความเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้น ตรง และละเอียดขึ้น อย่างเรื่องอริยทรัพย์ ศรัทธา เพียงแค่ได้ยินคำว่า “ศรัทธา” เข้าใจคำนี้หรือเปล่า ถ้าไม่ได้ฟัง ก็จะไม่รู้เลยว่า ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ขณะนั้นไม่มีอกุศลใดๆ เกิดร่วมกับสภาพธรรมที่เป็นศรัทธาได้ โลภะเกิดไม่ได้ โทสะเกิดไม่ได้ โมหะเกิดไม่ได้ ริษยาเกิดไม่ได้ เพราะว่าศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรม เป็นโสภณเจตสิก ยังไม่ต้องพูดถึงอริยทรัพย์เลย แต่ถ้าผ่านข้อความในพระไตรปิฎกเรื่องของอริยทรัพย์ ไม่ใช่เรื่องที่เราไปจำว่ามีอะไรบ้าง ลักษณะนี้ ๗ อย่างเป็นอริยทรัพย์ แต่เริ่มที่จะเข้าใจถูกต้องว่า ทรัพย์คืออะไร

        ก่อนที่จะศึกษาธรรม เราก็มีทรัพย์สินเงินทอง เป็นวัตถุเครื่องปลื้มใจ มีใครมีทรัพย์แล้วไม่ปลื้มใจบ้างไหมคะ พอไหม หรือว่าปลื้มใจยังไม่พอ ก็ต้องแสวงหามาให้ปลื้มใจมากขึ้นอีก นั่นก็คือสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นทรัพย์ ก็เป็นจริงๆ เป็นทรัพย์ที่ทำให้เกิดความสบายใจหรือปลื้มใจ แต่ที่มาของทรัพย์นั้นมาจากไหน ถ้าไม่มีกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ในอดีต เป็นปัจจัย ใครๆ ก็อยากได้ทรัพย์มากๆ แต่ก็ไม่สามารถจะได้อย่างที่ต้องการ เพราะต้องการเท่าไร ไม่มีพอเลยเรื่องทรัพย์ ให้เท่าไรก็อยากมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

        นี่ก็แสดงให้เห็นว่า มีความติดข้องโดยไม่รู้ที่มาที่ไปว่า ทรัพย์นั้นมาจากไหน แต่ว่าศรัทธาที่ทำให้ทรัพย์เกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงทรัพย์ทางโลก เพราะฉะนั้นทรัพย์ในทางธรรม มี เป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ยังไม่กล่าวถึงอริยะ แต่กล่าวถึงเพียงความหมายของทรัพย์ โสภณเจตสิก ซึ่งเริ่มด้วยศรัทธา ซึ่งเหมือนเมล็ดพืช ถ้าไม่มีศรัทธาเลย จะมีการฟังธรรม จะมีกุศลประการต่างๆ หรือไม่ แต่เมื่อมีศรัทธาเกิดแล้ว ก็ย่อมนำไปสู่กุศลประการอื่นๆ ตามกำลังของศรัทธาด้วย แต่ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใสในกุศล โดยที่ไม่มีความเข้าใจธรรม ไม่มีการฟังพระธรรม ไม่มีการเข้าใจว่า พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นคืออย่างไร

        ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ ศรัทธานั้นจะเป็นอริยะได้ไหม ไม่ได้เลย ไม่ได้นำไปสู่การรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพื่อละคลายอกุศล

        เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความต่างกัน ศรัทธาของผู้ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีศรัทธาในพระปัญญาคุณของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระรัตนตรัย กับศรัทธาของผู้ได้ฟัง และก็เห็นประโยชน์สูงสุดในชีวิต ไม่ใช่ทรัพย์อื่น แต่เป็นทรัพย์ที่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง เพื่อจะได้มีความเห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ

        นี่ก็คือความต่างกันของทรัพย์ทางโลก และทรัพย์ที่เป็นนามธรรม และทรัพย์ที่จะนำไปสู่ความเป็นอริยะ แต่ไม่ใช่ไปจำชื่อว่า อริยทรัพย์มีเท่าไร และศรัทธาเข้าใจหรือไม่เข้าใจอย่างไรก็เป็นอริยทรัพย์ ไม่ใช่เลย แต่ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ศรัทธาคืออะไร และเป็นอริยทรัพย์เมื่อไร ถ้าเพียงแต่ศรัทธาในทาน ศีล จะเป็นอริยทรัพย์ไม่ได้


    หมายเลข 11948
    23 ม.ค. 2567