ตามรู้ - หลงลืมสติ


        สติสัมปชัญญะไม่ต่างจากปกติ เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดแล้วก็รู้ลักษณะที่มีจริงๆ ขณะนั้นไม่ได้ไปคิดเรื่องอื่นเลย ใช้คำว่า “ตามรู้” เพราะเหตุว่ามีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ในขณะนั้น ตามสิ่งนั้น รู้สิ่งนั้น ไม่ใช่ไปรู้สิ่งอื่น

        เพราะฉะนั้นก็เป็นปกติธรรมดาค่ะ อย่างนี้แหละ เมื่อไรก็เมื่อนั้น ผู้นั้นก็รู้เองว่า กำลังรู้ลักษณะ ต่างกับที่แต่ก่อนนี้ก็จับช้อนส้อมทั้งวัน ชงกาแฟ หรือทำอะไรก็แล้วแต่ หรือแม้ขณะนั่งที่นี่ ก็มีสิ่งที่ปรากฏ แต่ลืมว่าเป็นธรรม ลืมลักษณะของสภาพธรรม

        ด้วยเหตุนี้จึงใช้คำว่า “หลงลืมสติ” เพราะว่าสติไม่เกิด จึงไม่รู้ว่าเป็นธรรม และไม่รู้ลักษณะนั้นด้วย แต่เวลาที่มีลักษณะปรากฏ ไม่ต้องไปนั่งคิดว่า นี่เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย สติเป็นสภาพที่กำลังระลึก กำลังรู้ลักษณะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปนั่งคิด แต่ให้รู้ความต่างของขณะที่กำลังรู้ลักษณะกับขณะที่ไม่ได้รู้ลักษณะ

        นี่คือความหมายของคำว่า “ตามรู้” แล้วเราก็ฟังเรื่องธรรม และลักษณะเฉพาะแต่ละลักษณะของธรรม เพื่อให้เข้าใจขึ้นๆ ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะมีการรู้ตรงลักษณะ หรือรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ ทิ้งคำว่า “ตามรู้” รู้ตามอะไรหมด แต่จะรู้ขณะที่ต่างกันของขณะที่ไม่ได้รู้ลักษณะ คือ ขณะนั้นใช้คำว่า “หลงลืมสติ” เพราะสติไม่เกิด เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังรู้ลักษณะ นั่นคือสติเกิดแล้ว และกำลังรู้ลักษณะนั้น นั่นคือตามรู้ หรือจะใช้รู้ตาม หรือจะใช้อะไร ไม่ต้องกังวลเลย แต่ให้ทราบว่า ขณะใดที่หลงลืม ทั้งๆ ที่ฟังเรื่องแข็ง ก็ไม่ได้รู้ลักษณะที่แข็ง ทั้งๆ ที่มีการรู้ลักษณะแข็งทั้งวัน แต่ขณะใดที่เกิดระลึกตรงแข็ง ไม่ใช่เรา และไม่ได้บังคับด้วย เป็นปกติธรรมดา จึงละการตื่นเต้น เป็นเรารู้ หรือเรามีสติ เพราะเรานี่มากมายเหลือเกิน คอยที่จะดีใจ พอกุศลจิตเกิดก็ดีใจ พออกุศลจิตเกิด ก็เสียใจ ก็ไม่ใช่เป็นการรู้ความจริงว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะนั่นเอง

        เพราะฉะนั้นการฟัง ฟังแล้วฟังอีก แล้วค่อยๆ เข้าใจ ให้เข้าใจลักษณะของธรรม แต่ไม่ใช่ให้ไปติดในชื่อ

        พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมภาษาอะไรคะ ภาษาไทยหรือเปล่าคะ ไม่ใช่แน่ แล้วเมื่อเป็นภาษาบาลี ไม่ใช่ว่าทรงตั้งภาษาใหม่ขึ้นมา แต่ว่าเพราะคนในครั้งนั้นใช้ภาษานั้น ก็ใช้ภาษาที่เมื่อฟังแล้วเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมฉันใด สำหรับคนไทยก็จะใช้ภาษาที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

        ที่ประเทศศรีลังกา พระมหินทเถระ โอรสของพระเจ้าอโศก ท่านเป็นพระอรหันต์ ได้ไปเผยแพร่พระธรรมที่เกาะสิงหล ท่านใช้ภาษาอะไรคะ ท่านก็ต้องใช้ภาษาสิงหล มีผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรมหรือเปล่า เมื่อมีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม จะโดยภาษาหรือคำอะไรก็ตามแต่ แต่สามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปติดที่คำ เพราะทุกท่านเป็นผู้ที่มีปฏิสัมภิทาในนิรุตติ คือ เข้าใจในโวหาร ในคำที่ใช้ เพื่อจะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีประโยชน์เลย โวหารทั้งหลายก็ไม่มีประโยชน์ แต่ไม่ว่าจะเป็นโวหารใดๆ ในพระไตรปิฎก ก็เพื่อที่จะให้ถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ อย่างถูกต้อง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 255


    หมายเลข 11927
    23 ม.ค. 2567