“ธาตุดิน” เป็นใครหรือเปล่า


        สุกัญญา สภาพของธาตุดิน สงสัยว่าลักษณะของธาตุดินที่ปรากฏ ทำไมถึงเป็น ๒ อย่าง คือ อ่อน และแข็ง และทำไมถึงมีความต่างกัน

        สุ. ทุกคนก็คงจะเคยได้ยินคำว่า “ดิน” แต่ว่าเวลาที่มีคำว่า “ธาตุดิน” ก็ต่างจากดินที่เราเคยเข้าใจ เพราะเหตุว่าตามธรรมดา เวลาที่เราพูดถึงดิน เราก็คิดถึงดินที่เราปลูกต้นไม้ หรือดินที่นำมาทำเป็นภาชนะต่างๆ แต่ถ้าพูดถึงธาตุดิน ความหมายจะเปลี่ยนจากความเข้าใจที่เราใช้ เพราะเหตุว่ามีคำว่า “ธาตุ” หรือ “ธา – ตุ” ซึ่งหมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริง และมีลักษณะเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีใครที่สามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้

        เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งที่มี มีลักษณะที่ปรากฏแต่ละลักษณะ เพราะฉะนั้นก็เป็นธาตุ หรือ “ธา – ตุ” หมายความถึงสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมทั้งหมดที่ใครไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นได้

        เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงธาตุดิน และเราไปคิดถึงเฉพาะดินที่ปลูกต้นไม้ หรือดินที่นำมาทำเป็นภาชนะต่างๆ อันนั้นไม่ใช่ความหมายจริงๆ ของธาตุดิน เพราะว่าเป็นแต่เพียงความหมายของดิน แต่ว่าถ้าใช้คำว่า “ธาตุ” หมายความว่าสภาวะหรือสภาพที่มีลักษณะที่แข็ง

        ขณะนี้มีแข็งไหมคะ? มี ปรากฏหรือเปล่า ปรากฏเมื่อมีการกระทบสัมผัส สภาพที่แข็งที่กำลังปรากฏ ใครเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้เลย นี่คือความหมายของธาตุดิน คือ เป็นสภาพธรรมที่แต่ก่อนเราอาจจะคิดถึงชื่อ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ลักษณะของโต๊ะ เก้าอี้ เปลี่ยนไปตามรูปร่างลักษณะที่เราจำได้ว่า ลักษณะนี้เป็นโต๊ะ ลักษณะนั้นเป็นเก้าอี้ แต่ถ้ามีการกระทบสัมผัส มีลักษณะที่แข็งปรากฏ ขณะนั้นจะไม่มีการนึกถึงว่า รูปร่างของสิ่งที่แข็งนั้นเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะเหตุว่าเมื่อลักษณะที่แข็งปรากฏ รูปร่างไม่ได้ปรากฏ

        ธรรมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ ขณะนี้เคยเข้าใจว่าเป็นโต๊ะ แข็ง เก้าอี้แข็ง แต่เวลาที่กำลังกระทบสัมผัส ลักษณะแข็งปรากฏ มีรูปร่างโต๊ะ มีรูปร่างเก้าอี้หรือเปล่า ตรงแข็ง ไม่มีเลย

        เพราะฉะนั้นเวลาที่กล่าวถึงธาตุดิน หมายความถึง “ปฐวีธาตุ” ในภาษาบาลี ซึ่งภาษาไทยก็ใช้คำว่า “แข็ง” ธาตุแข็ง ก็เป็นสิ่งที่มีจริง แต่สิ่งที่มีจริง ถ้าใช้คำว่า “ธาตุ” ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง คือ ก่อนนั้นไม่รู้จักปฐวีธาตุหรือธาตุดิน รู้จักแต่ดิน แต่เวลาที่ได้ยินได้ฟังแล้วมีความเข้าใจเรื่องสภาวะแข็ง หรือสภาพที่มีลักษณะแข็งหรืออ่อน จะใช้คำไหนก็ได้ ขณะนั้นก็มีสิ่งที่มีลักษณะที่ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วก็จะปรากฏทางตา ทางหูไม่ได้ด้วย แต่ต้องปรากฏทางกาย

        นี่คือการที่จะเริ่มเข้าใจว่า สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธาตุ แต่ว่าเวลาที่คุณสุกัญญาถามถึงธาตุดิน ก็จะกล่าวถึงแต่เฉพาะธาตุดิน ซึ่งธรรมที่ได้ยินได้ฟัง พิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อใช้คำว่า “ธาตุดิน” เป็นใครหรือเปล่า เป็นของใครหรือเปล่า

        สุกัญญา ไม่เป็นค่ะ

        สุ. นั่นคือเริ่มเข้าใจความหมายของ “ธรรม” ซึ่งเป็นธาตุต่างๆ นั่นเอง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 247


    Tag  ธาตุ  
    หมายเลข 11848
    10 ม.ค. 2567