ที่เกิดของจิต


        แม้แต่จิตขณะแรกคือปฏิสนธิจิตในโลกนี้ก็เกิดที่รูป ดังนั้นจิตทั้งหมดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องเกิดที่รูป ซึ่งรูปที่เป็นที่เกิดของจิต มีทั้งหมด ๖ รูป


        ขณะแรกที่จิตเกิดมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม จิตกับเจตสิกแยกกันไม่ได้เลย จิตอาศัยเจตสิกปรุงแต่ง เจตสิกก็ต้องอาศัยจิตเกิดขึ้น จิต และเจตสิกเกิดพร้อมกันในขณะนั้น โดยเป็นผลของกรรม นี่คือชาติ ชา – ติของจิตซึ่งเกิดเป็นผลของกรรม ไม่ใช่กรรม แต่กรรมที่ได้ทำแล้วจะเห็นกำลังแรงของเจตนาที่ทำกรรมว่า เมื่อจากโลกหนึ่งๆ ไปแล้วไม่ต้องคิดว่าจะไปไหน กรรมพาไปได้ หรือกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดได้ จากโลกนี้ไปถึงสวรรค์ชั้นดุสิตก็ได้ ไปถึงนรกอเวจีก็ได้ เพราะกำลังของกรรมที่ได้กระทำแล้วพร้อมให้ผล กรรมนั้นจึงสามารถทำให้วิบากจิต คือ ผลของกรรมนั้นเกิดขึ้นแล้วจะเกิดในภพไหน อย่างที่พูดถึงภพแล้ว และผลของกรรมไม่ใช่เหตุ เป็นชาติวิบาก

        เพราะฉะนั้น ในขณะแรกที่เกิดขึ้นต้องมีจิตเจตสิก แล้วทำไมถึงมีรูปมาจนถึงทุกวันนี้ได้ ถ้าไม่มีรูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิดดับสืบต่อจนกระทั่งเป็นผู้ฟังพระธรรมอยู่ขณะนี้ได้

        เพราะฉะนั้น ขณะแรกกรรม อย่าลืมว่าไม่ใช่อย่างอื่นเลย แต่เจตนาที่ได้กระทำกรรมนั้นๆ เป็นปัจจัยทำให้จิต เจตสิก รูปเกิดขึ้นในภพหนึ่ง แล้วแต่กรรมนั้นเป็นกรรมอะไร ถ้าเป็นความสงบอย่างประณีตถึงขั้นฌาน ไม่เกิดในโลกนี้ เพราะกว่าจะเกิดฌาน ความสงบขั้นที่ไม่ติดต้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ก็ต้องอาศัยปัญญาระดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อให้ผลไม่เกิดในโลกนี้

        เพราะฉะนั้น ทุกคนที่เกิดในโลกนี้ต้องเป็นผลของกุศลหนึ่ง เป็นผลของทานก็ได้ ของศีลก็ได้ เป็นผลของการฟังธรรมะก็ได้ เพราะขณะนี้เป็นกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญาที่ขณะที่กำลังเข้าใจ ก็แล้วแต่ว่าเกิดมาแล้วเป็นคนมีปัญญาหรือไม่มีปัญญาก็ตามกรรมที่ทำแล้ว แต่ขณะที่เกิดไม่ได้มีแต่เฉพาะจิต และเจตสิก มีรูปเกิดด้วย โดยรูปนั้นเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน

        เพราะฉะนั้น ต้องมีรูปอื่นๆ หลังจากเติบโตขึ้น เพราะในภูมิมนุษย์ยังไม่มีรูปครบในขณะที่เกิดขึ้นครั้งแรก นี่ก็เป็นความละเอียดกว่าจะถึงจักขุปสาท โสตปสาท และรูปอื่นๆ ซึ่งไม่น่าสงสัยเลย แม้จิตขณะแรกยังต้องเกิดที่รูปที่กรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิด

        เพราะฉะนั้น รูปที่เป็นที่เกิดของจิตในขณะปฏิสนธิ ชื่อว่า “หทยรูป” แล้วเราก็ใช้คำว่า “หทยวัตถุ” พอใช้คำว่า วัตถุ หมายเฉพาะรูปที่เป็นที่เกิดของจิต แต่ถ้าไม่กล่าวถึงวัตถุ ก็เป็นรูปธรรมดา แต่ถ้ากล่าวว่า “จักขุวัตถุ” คือรูปนั้นเป็นที่เกิดของจิต เพราะจักขุปสาทในขณะนี้กรรมก็ทำให้เกิดดับเร็วมากทุกอนุขณะจิต จิต ๑ ขณะก็มีขณะเกิดขึ้น อุปาทขณะ ขณะที่ยังไม่ดับ ฐิติขณะ ยังที่ดับ ภังคขณะ จะเห็นว่า แม้ ๑ ขณะ ก็มีขณะเกิด ขณะที่ตั้งอยู่ และขณะดับซึ่งต่างกัน แต่กรรมทำให้รูปที่เกิดจากกรรมเกิดทุกอนุขณะของจิต ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ขณะนี้หรือขณะนอนหลับ จักขุปสาทก็มี แต่ไม่เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ เพราะจิตเห็นไม่ได้เกิด แต่ขณะใดก็ตามที่จิตเห็นเกิด จิตเห็นจะเกิดที่อื่นไม่ได้เลย นอกจากที่จักขุปสาทรูป ซึ่งขณะที่เป็นที่เกิดของจิตก็เรียกว่า “จักขุวัตถุ” พอใช้คำว่า “จักขุวัตถุ” หมายความว่าเป็นที่เกิดของเห็นทุกขณะ

        เพราะฉะนั้น รูปที่เป็นที่เกิดของจิตมี ๖ รูป จักขุปสาท ๑ เป็นที่เกิดของเห็นเดี๋ยวนี้ กุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก โสตวัตถุ ใครทำให้เกิดไม่ได้เลยนอกจากกรรม เป็นที่เกิดของจิตที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ จิตที่ได้ยินเดี๋ยวนี้ไม่ได้เกิดที่อื่นเลย เวลารู้กลิ่น ฆานวิญญาณก็เกิดที่ฆานปสาท เมื่อเป็นที่เกิดก็ใช้คำว่า “ฆานวัตถุ” ขณะที่กำลังรู้รสที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นจิตที่กำลังรู้รส เป็นชิวหาวิญญาณเกิดที่ชิวหาปสาท ขณะนั้นเป็นชิวหาวัตถุ

        ขณะนี้แข็งหรืออ่อน ใครยับยั้งได้ เกิดแล้วตามเหตุปัจจัย จิตที่รู้แข็งก็เกิดที่กายปสาทซึ่งขณะนั้นเป็นกายวัตถุ จริงๆ แล้วกรรมก็ทำให้เกิดทุกอนุขณะซึมซาบอยู่ทั่วตัว

        เพราะฉะนั้น จิตจะเกิดนอกรูปไม่ได้ ตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด และขณะต่อๆ ไปจิตก็จะต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใดใน ๖ รูป

        ตอนนี้ก็ไม่ลืมว่า จิตทุกประเภทในภูมิที่มีรูป จิตนั้นต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใดใน ๖ รูป จำกัดไว้เลย รูปอื่นไม่ใช่ที่เกิดของจิต ๖ รูป คือ จักขุปสาท ๑ เป็นที่เกิดของจิตเห็น จักขุวิญญาณ ๒ และโสตปสาท เกิดดับอย่างนี้ แต่เป็นที่เกิดของจิตได้ยินกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก ๒ ทางจมูก ขณะใดที่ได้กลิ่น จะไม่ให้ได้กลิ่นได้ไหม กรรมทำให้ได้กลิ่น จะไม่ให้เห็นได้ไหม ไม่ได้ กรรมทำให้ต้องเห็น จะไม่ให้ได้ยินได้ไหม ไม่ได้ กรรมทำให้ต้องได้ยิน และไม่ให้รู้รสได้ไหม ไม่ได้ กรรมทำให้จิตเกิดขึ้นรู้รสที่ชิวหาปสาท ขณะนั้นก็คือจิตที่กำลังลิ้มรส เป็นผลของกุศลกรรม เป็นกุศลวิบาก หรือเป็นผลของอกุศลกรรม จึงเป็นอกุศลวิบาก ๒ แล้วทางกายก็กระทบสัมผัส เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้าง ก็เกิดตรงนั้น ตรงที่รูปนั้นเป็นที่เกิดของจิตที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบ รวมเป็น ๑๐ จิต เรียกว่า ทวิปัญจวิญญาณ เกิดที่ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ลิ้น ๒ กาย ๒ รวมเป็น ๑๐ จิตนอกนั้นทั้งหมดเกิดที่หทยวัตถุ ใครจำไม่ได้ ไม่เข้าใจบ้างคะในเมื่อชัดเจนอยู่แล้ว

        เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตเกิดที่หทยวัตถุ โทสมูลจิตเกิดที่หทยวัตถุ กุศลจิตเกิดที่หทยวัตถุ โลกุตรจิตเกิดที่หทยวัตถุ ชัดเจนว่าจิตที่เหลือเกิดที่หทยวัตถุ เปลี่ยนไม่ได้ด้วย

        นี่คือไม่ใช่เรา ทั้งหมดประมวลมาแล้วก็คือให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ธรรมะเป็นธรรมะ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เกิดแล้วดับจนลวงให้เห็นเหมือนไม่ดับ เข้าใจว่าเที่ยง เข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด กว่าอัตตสัญญาที่สะสมมานานแสนนานจะค่อยๆ คลายไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งต้องอาศัยปัญญา คือ ความเข้าใจจากการฟังจนสามารถรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จนประจักษ์แจ้งในทุกคำที่ทรงแสดงว่า ทั้งหมดเป็นวาจาสัจจะ ไม่เป็นอื่นเลย


    หมายเลข 10339
    30 ธ.ค. 2566