หาเราไม่เจอ


        มีความคิดความจำมาแสนนานว่ามีตัวเรา แต่ลองพิจารณาไตร่ตรองจริงๆ ดูว่าอะไรที่เป็นเรา เมิ่อไม่เจอจะบอกว่ามีเราได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการได้ฟังพระธรรมเพื่อสะสมความเห็นถูกตามความจริงว่าไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรมแต่ละอย่าง จึงเป็นประโยชน์สูงสุด


        ผู้ฟัง ดูเหมือนท่านอาจารย์จะย้ำว่า ไม่มีเรา ไม่มีเราได้อย่างไร

        ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ฟังต้องมีเราตลอดกาล จะไม่ได้ยินแม้แต่คำว่า ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ๒ คำนี้ “เรา” กับ “ไม่ใช่เรา” เดิมทีเดียวมีแต่เรา แต่พอฟังพระธรรมก็ได้ยินคำว่า “ไม่ใช่เรา” ก็ลองคิดดูว่า อะไรเป็นเรา เพราะไม่รู้ใช่ไหมคะ ลองหาดูซิคะ เดี๋ยวนี้ ที่นี่อะไรสักอย่างเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง นั่นคือความไม่รู้

        เพราะฉะนั้น ก็เริ่มรู้จักตัวเองว่า ไม่รู้จริงๆ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม จะไม่สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ได้

        เพราะฉะนั้น เป็นคำที่ควรฟังอย่างยิ่ง คือ พระพุทธพจน์ ซึ่งเป็นวาจาสัจจะ จริงทุกคำ ไม่ได้ให้เชื่อ ฟังแล้วไตร่ตรองว่าจริงไหม เคยเข้าใจว่าเป็นเรา หาซิคะว่า ไหนเรา เราอยู่ไหน ถ้ามีเราจริงๆ ก็ต้องตอบได้ว่า เราอยู่ไหน ไหนเรา

        ผู้ฟัง ทั้งตัวนี่เป็นเรา

        ท่านอาจารย์ ทั้งตัว จริงๆ หรือคะ ตรงไหนตัว กำลังนั่งอยู่ ไหนเรา

        ผู้ฟัง คิดว่ายังเป็นเราอยู่

        ท่านอาจารย์ คิดค่ะ เพราะฉะนั้น ไม่จริง เพราะหาไม่เจอ ถามว่าเราอยู่ที่ไหน เดี๋ยวนี้ หาเจอไหม ก็จำว่าเป็นเราตั้งนาน ไม่ลืมด้วย แต่พอถามจริงๆ ว่า ไหนเรา หาเรามาซิว่าอยู่ไหน

        เพราะฉะนั้น คำจริงกับคำไม่จริงต่างกัน คำจริงสามารถเข้าใจได้ พิสูจน์ได้ทุกกาล ไม่ว่าเมื่อไร แต่คำไม่จริง อย่าง “เรา” อยู่ไหน ไหนเรา เอาเรามาให้ดูหน่อย ไหนเรา

        ผู้ฟัง หาเราไม่เจอ

        ท่านอาจารย์ มีจริงๆ หรือเปล่า ถ้ามีก็ต้องหาเจอ แต่หาเท่าไรก็หาไม่เจอแล้วจะบอกว่ามีได้อย่างไร เริ่มรู้แล้วใช่ไหมว่า ไม่รู้

        เพราะฉะนั้น ฟังธรรมะ ประโยชน์สูงสุด คือ ได้ฟังคำว่า “ไม่ใช่เรา” เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ไม่ใช่เรา เมื่อเข้าใจว่าเป็นความจริงก็จะติดตามความเข้าใจนี้ให้มั่นคงขึ้น ถูกต้อง หรือเปล่า จริง หรือเปล่า ทุกคำไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไร

        ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกให้เรามาซิ แต่จริงๆ ก็จำไว้เหนียวแน่นว่า มีเราเห็น มีเราได้ยิน เราคิด

        ท่านอาจารย์ ทีละอย่างซิคะ ขณะได้ยินไม่เห็น เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นเราเห็น หรือ เพราะฉะนั้น เป็นคำที่ควรฟังอย่างยิ่ง เพื่อที่จะรู้ว่า ไม่เคยรู้แล้วเคยเห็นผิด เข้าใจผิด

        เพราะฉะนั้น คิดถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คำนี้ลืมไม่ได้ เราเป็นใคร แล้วจะฟังใคร ฟังแล้วจะคิดว่า เข้าใจง่ายๆ หรือ เป็นใครมาจากไหน จะได้ฟังแล้วเข้าใจได้เลยว่า ไม่ใช่เรา เป็นไปไม่ได้เลย แต่ว่าฟังเพื่อสะสมความเห็นถูกต้อง อีกนานทีเดียวกว่าจะเข้าใจมั่นคงจนกระทั่งสามารถรู้ได้ว่า ขณะนี้แท้ที่จริงแล้วมีอะไรที่กำลังปรากฏ แล้วสิ่งนั้นเป็นอะไร แล้วความจริงถึงที่สุดก็คือสิ่งนั้นมีแน่เมื่อเกิด ถ้าไม่เกิดไม่มีแน่ เมื่อเกิดแล้วก็หายไปแล้ว หมดแล้ว เป็นอย่างอื่นไปแล้ว

        เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรเหลือเลย ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ มีอะไรเหลือบ้าง แม้แต่เดี๋ยวนี้ เสียงเมื่อกี้นี้ก็หายไปแล้ว คิดเมื่อกี้ก็หมดไปแล้ว

        เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็จะเป็นผู้ที่ไม่ได้หวังประจักษ์การเกิดดับ หรือหมดกิเลส หรือรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจขึ้นๆ นั่นคือละความติดข้อง และความไม่รู้

        ทุกคำเป็นเพียงเสียงที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง ให้เข้าใจให้ถูกต้อง อย่าง “ไม่ใช่เรา” ภาษาไทย คนไทยเข้าใจได้ ไม่ต้องใช้ภาษาบาลี มคธีว่า “อนัตตา” แต่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง มีจริงๆ เห็นก็มีจริง เห็นเกิดแล้วเห็นก็ดับ บ่อยๆ เข้าจะคุ้นเคยไหมคะ ได้ยินมี ได้ยินแล้วก็ดับ ค่อยๆ ชิน ค่อยๆ เข้าใจ ไม่ลืม แล้วก็ฟังเพื่อให้เข้าใจว่า ชีวิตไม่ได้มีแต่เห็น มีแต่ได้ยิน ยังมีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมะ

        เพราะฉะนั้น ทุกคนลืมเรื่องสะสมความเข้าใจ คือความเห็นถูก มุ่งแต่จะไปรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ และเรื่องราวต่างๆ ของสิ่งที่มี แต่ไม่รู้สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ซึ่งไม่ว่าใครจะรู้เรื่องราวมากมายสักเท่าไรก็ตาม แต่ไม่รู้ว่า ขณะนี้ต่างหากที่เป็นสิ่งที่มีจริงที่เริ่มฟังสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้เพื่อเข้าใจขึ้น ไม่ใช่เรื่องอื่น ก็จะทำให้ผู้นั้นสามารถเข้าใจ แล้วรู้ว่า ไม่ใช่เราจริงๆ

        เพราะฉะนั้น ความเข้าใจวันนี้แม้น้อย มีแล้ว เป็นเม็ดพืชที่ต้องอาศัยการทำนุบำรุงจนสามารถเติบโตมีดอกมีผลได้ บนสวรรค์ก็มีดอกไม้อายุหลายพันปีกว่าจะบาน ผู้อยู่บนสวรรค์ก็คอยเวลาที่ดอกไม้นี้จะบาน จนได้พบดอกไม้บาน แต่เราพบธรรมะ เข้าใจธรรมะที่กำลังมีจริงๆ หรือเปล่า

        เพราะฉะนั้น แม้ธรรมะมีแต่ไม่รู้ แล้วก็คิดว่าวันละนิดวันละหน่อย คงไม่มีประโยชน์อะไร นั่นก็ผิด เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีเลย ก็ไม่มีโอกาสเลยที่จะถึงวาระนั้นที่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏตรงตามที่ได้ยิน เพราะปัญญามีกำลังพอที่จะละการยึดถือสภาพธรรมะที่ยึดถือมานานด้วยความไม่รู้ว่าเป็นธรรมะ


    หมายเลข 10284
    18 ก.พ. 2567