เชื่อกรรมเพราะอะไร


        กรรมคืออะไร เชื่อในกรรม และผลของกรรม หรือไม่ ทำไมจึงเชื่อ เชื่อเพราะฟังมาเช่นนั้น หรือเพราะมีความเข้าใจในเหตุในผลจริงๆ


        ท่านอาจารย์ ที่ฟังธรรมะเรื่องกรรม และผลของกรรม แล้วบอกว่าเชื่อกรรม และผลของกรรม เชื่อเพราะเขาบอก หรือว่าเชื่อเพราะเข้าใจ นี่ต่างกันมาก ถ้าอ่านพระไตรปิฎกเหมือนพระองค์ทรงแสดง เหมือนบอกให้เป็นอย่างนั้น ให้เข้าใจอย่างนี้ แต่คนที่ได้ยินได้ฟังเข้าใจอย่างนั้น หรือเปล่า

        เพราะฉะนั้น ทั้งหมดไม่ใช่เชื่อเพราะคนอื่นบอก แม้กระทั่งท่านพระสารีบุตรก็กล่าวว่า ท่านไม่ได้เชื่อเพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง หรือบอกท่าน แต่ท่านเชื่อเพราะท่านเห็นว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นถูกต้องตามความจริงอย่างนั้น แต่ไม่ใช่เพียงเขาบอก เขาบอกว่าอย่างนี้ว่า นี่เป็นกรรมทำแล้วผลของกรรมก็จะเกิดขึ้น ก็เชื่อ อย่างนั้นก็ไม่เข้าใจแม้กรรมคืออะไร แต่คงไม่ลืมว่า กรรมก็ไม่ใช่ภาษาไทยจริงๆ ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็หมายความถึงการกระทำ แต่จริงๆ แล้วการกระทำทั้งหมดต้องมีความตั้งใจ หรือจงใจ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ หรือขณะไหนก็ตามถ้าจะกล่าวถึงจิตซึ่งมีเจตนา ที่เป็นสภาพที่จงใจ ตั้งใจเกิดร่วมด้วยทุกขณะ แต่ลักษณะของความจงใจ ความตั้งใจนั้นก็หลากหลายมาก ไม่เหมือนกันเลย

        เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวว่า วิบากจิต เช่นเห็นเกิดเพราะกรรม มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง เจตนา จงใจจะเห็น หรือเปล่า ก็ต้องเข้าใจอีก ขณะนั้นไม่ใช่ลักษณะที่จงใจ แต่เป็นลักษณะที่ขวนขวายให้สภาพธรรมะที่เกิดร่วมด้วยกระทำกิจของสภาพธรรมะนั้นๆ

        เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดตั้งใจ จงใจ สภาพธรรมะอื่นก็เป็นไปตามความจงใจ ความตั้งใจนั่นแหละ เช่น ถ้าจะสร้างบ้าน ความจงใจตั้งใจจะไปหามะพร้าว กะทิอะไร หรือเปล่า หรือตั้งไปหาวัสดุที่ใช้สร้างบ้านเกิดขึ้น

        เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามเจตนาที่จงใจทำให้สภาพธรรมะอื่นเมื่อถูกกระตุ้นให้ขวนขวาย ให้เป็นไปอย่างนั้น ก็กระทำสิ่งนั้นสำเร็จ

        เพราะฉะนั้น เวลาที่เราจะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ก็ต้องมีเจตนา และสภาพธรรมะอื่นก็เป็นไปกับเจตนานั้นแล้วก็สำเร็จเพราะเจตนานั้น

        ด้วยเหตุนั้นเจตนาจึงเป็นเหตุให้เกิดผลในขณะนั้น ถ้าเกิดพร้อมกับจิตที่เกิดร่วมกันกับเจตสิกอื่นๆ เจตนานั้นชื่อว่า สหชาตกัมมปัจจัย ไม่ใช่ไม่ใช่กรรม ยังเป็นกรรม แต่เป็นกรรมประเภทไหน เป็นกรรมประเภทที่เกิดร่วมกันกับจิต และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน ซึ่งกระทำหน้าที่ขวนขวายทำให้กิจของจิต และเจตสิกนั้นๆ สำเร็จลงเท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นเจตนาที่เป็นกุศล หรืออกุศล เช่นเจตนาที่คิดไม่ดี ทำไม่ดี พูดไม่ดี ลองคิดดู เจตนาทำให้คนอื่นตาย หรือถ้าไม่ถึงตายก็ขอให้ขาขาด ไม่ถึงขาขาด แขนขาด ทำให้ตาบอด หรือเจตนาใดๆ ก็ตามเกิดแล้ว เจตสิกอื่นๆ ก็ขวนขวายกระทำกิจของตนตามหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ จนกระทั่งกรรมนั้นสำเร็จ เจตนานั้นเป็นสหชาตกัมมปัจจัย แต่ว่าเมื่อกระทำกรรมที่ไม่ใช่เพียงเป็นเห็น ได้ยินที่เกิดกับจิตทุกประเภท แต่ยังเป็นเจตนาที่ต้องการให้ผลเช่นนั้นเกิดขึ้น เช่นต้องการให้ตาย หรือให้ตาบอด ให้หูหนวก ให้แขนขาด ขาขาด เพราะฉะนั้น เกิดคนเดียว อยู่คนเดียว เจตนาคนเดียว ผลของเจตนานั้นก็ทำให้จิตประเภทที่เป็นผลนั้นเกิดขึ้นตรงตามเจตนานั้นๆ เห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดี ลิ้มรสไม่ดี รู้สิ่งที่กระทบกายไม่ดี เจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อไรรู้เลยใช่ไหมว่า ไม่มีใครทำให้สักคน แต่กรรมที่ได้กระทำแล้ว

        เพราะฉะนั้น ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทบกาย เข้าใจว่าเป็นคนอื่นสิ่งอื่นทั้งนั้น แต่ความจริงเมื่อมีกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็ทำให้จิตประเภทนั้นเกิด เมื่อสิ่งนั้นได้กระทบกายแล้วทุกขเวทนาเกิดขึ้นตามกรรมที่ได้กระทำไว้

        เพราะฉะนั้น เวลาที่ทำให้ใครตาบอด ต้องการไม่ให้มีตา ใช่ไหมคะ สำเร็จแล้วด้วย ก็เป็นผลทำให้จิตในชาตินั้นเกิดโดยไม่มีจักขุปสาทรูปเกิดร่วมด้วย นี่ก็เป็นผลของกรรม

        เพราะฉะนั้น เรื่องกรรม และผลของกรรม ไม่ใช่เชื่อเพราะเขาบอก ทั้งหมดทุกคำที่เป็นวาจาสัจจะ ไม่ใช่เชื่อเพราะคนอื่นบอก แต่ต้องพิจารณาแล้วเข้าใจโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเขตบุญ หรือศาสนาอื่น หรือคำสอนอื่นก็ตามแต่ ก็ต้องรู้ว่าเพราะอะไร เมื่อถูก มีความเห็นถูก เข้าใจถูกแล้วยังจะแสวงหาอื่นที่ผิด หรือ

        เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ได้ว่า เมื่อเป็นสิ่งที่ถูกแล้ว บุญก็คือมีความตั้งใจที่จะศึกษาให้เข้าใจเพิ่มขึ้น ให้รู้ยิ่งขึ้น เพราะรู้ว่า บุญสามารถทำให้ดับกิเลสได้ แต่บาป หรืออกุศลไม่สามารถดับกิเลสได้เลย

        เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นบุญหลายอย่างก็จะต้องรู้ด้วยว่า ขณะนั้นความละเอียดของสภาพของจิตเป็นอย่างไร ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าเป็นบุญที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา แล้วจะให้จิตที่เกิดเป็นผลของบุญนั้นประกอบด้วยปัญญาได้อย่างไร ไปเอาปัญญาที่ไหนมา

        เพราะฉะนั้น นี่แสดงให้เห็นว่า การได้ฟังพระธรรมทุกคำทั้งหมดต้องไตร่ตรองโดยละเอียด แม้แต่คำว่า “เชื่อ” ก็ต้องรู้ว่า เชื่อเพราะเขาบอก หรือว่าเชื่อเพราะเข้าใจ

        เพราะฉะนั้น อุบาสกที่ดีเชื่อแบบไหน

        อ.ธิดารัตน์ เชื่อด้วยความเข้าใจ

        ท่านอาจารย์ ด้วยความเข้าใจ เพราะพระธรรมทั้งหมดทำให้เห็นถูก เข้าใจถูก


    หมายเลข 10287
    18 ก.พ. 2567