อยู่คนเดียวในโลก


    เรณู   ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ ท่านผู้ฟังท่านเดียวมี ๓ คำถาม คำถามแรก เราอยู่ในโลกนี้คนเดียวจริงๆ หรือคะ คำถามที่ ๒ คนเราส่วนใหญ่กลัวความตายเพราะเหตุใดคะ ข้อ ๓ โทษของความติดข้องเป็นอย่างไรบ้าง ดิฉันเห็นว่ามีความสุขดีค่ะ

    ส.   ก็คงจะเป็นสุขจริงๆ แต่ว่าสุขเพียงขั้นสุขเวทนา แต่ไม่ได้เข้าใจความสุขอีกระดับหนึ่ง คือ สุขด้วยปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม

    เรณู   ท่านอาจารย์คะ คำถามที่ ๑ อยากให้ท่านอาจารย์เน้นย้ำว่า คนเราอยู่ในโลกนี้คนเดียวจริงๆ หรือคะ

    ส.   ก็น่าคิด  เวลานี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตามากมายหลายอย่าง คงจะสงสัยว่า แล้วจะอยู่คนเดียวได้อย่างไร จริงๆ หรือเปล่า ถ้าถามกลับ เห็นที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้  เห็นคนเดียว หรือคนว่าคนอื่นร่วมเห็นด้วย ในเห็นที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ของเรา

    เรณู   เท่าที่ฟัง ตอบตามทฤษฎี  ก็เห็นคนเดียว

    ส.   เวลาปวดเมื่อย  ปวดคนเดียว หรือว่าคนอื่นก็ปวดด้วย

    เรณู   คนอื่นอาจจะปวดด้วย แต่ว่าเราก็ไม่ทราบ  เราทราบแต่ว่าเราปวด

    ส.   ขณะที่กำลังเป็นปวดของเรา มีของใครมารวมอยู่ด้วยหรือเปล่า

    เรณู   ไม่มี

    ส.   เวลาที่รับประทานอาหารอิ่ม คนอื่นอิ่มด้วยไหมคะ

    เรณู   เราอิ่ม

    ส.   เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วเราอยู่ในโลกของจิต ๑ ขณะ ๑ ขณะ ๑ ขณะ ซึ่งต่างคนก็มีจิตแต่ละขณะ คนหนึ่งจะมีจิต ๒ ขณะไม่ได้เลย เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่เป็น อนันตรปัจจัย  ต้องจิตนี้ดับก่อน จิตอื่นจึงจะเกิดสืบต่อได้ มีผู้ถามบอกว่า แล้วจิตขณะนี้ มาจากไหน ก็บอกว่า ถ้าขณะก่อนไม่มี ขณะนี้จะมีไหม เพราะฉะนั้น ขณะต่อไปก็ต้องมี เพราะเหตุว่ามีขณะนี้ ซึ่งดับ แล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น จริงๆแล้วที่ว่าเป็นเรา หรือแต่ละคน ก็คือจิต ๑ ขณะเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ สืบต่อไปตามการสะสม ทำให้ต่างคนต่างรู้ความเป็นจริงว่า แต่ละคนเหมือนกันไม่ได้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความคิด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสุขทุกข์ต่างๆ ก็มีเหตุปัจจัยเฉพาะแต่ละคนที่เกิดขึ้นตามการสะสมของจิตแต่ละขณะ  เพราะว่าจิตที่เกิดขึ้นแล้วดับไปก็จริง แต่ก็สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไป ทำให้อัธยาศัย แม้แต่อย่างละเอียดที่สุด การพูด การเดิน การนั่ง การนอน ก็ต้องเกิดจากจิตซึ่งเคยกระทำอย่างนั้นๆ มาจนกระทั่งชิน บางคนก็อาจจะสบาย ถ้านั่งขัดสมาธิ บางคนก็อาจจะสบายเวลาที่นอนท่านั้น ท่านี้  นี่ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน ซึ่งเป็นความละเอียดมากของธรรมะ

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าพิจารณาจริงๆ  เราอยู่ในโลกคนเดียวกับความคิด แล้วความจริงที่คิดก็ไม่ใช่คนด้วย เป็นแต่เพียงจิต เพราะฉะนั้น ถ้าจะถอนชื่อ ทุกสิ่งทุกอย่างออกหมด แล้วก็พิจารณาสภาพธรรมะแต่ละอย่าง แต่ละประเภทจริงๆ จิตก็เป็นจิต เป็นมนินทรีย์ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เช่นเวลาที่เราเห็นสีที่คล้ายคลึงกัน แต่จิตก็ยังสามารถเห็นความละเอียดของความต่างของความคล้ายคลึงนั้นได้  บางคนตาไม่ดี ก็อาจจะถามคนอื่นว่า ๒ สีนี้เหมือนกันหรือเปล่า แต่คนตาดีก็รู้ว่า ๒ สีนี้ไม่เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ความละเอียดของสภาพธรรมะจริงๆ ที่จิตสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเป็นสภาพธรรมะที่สามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง เมื่อเห็น ก็เห็นชัดในสิ่งที่กำลังปรากฏว่าในขณะนี้  ใครจะมาบอกว่า ไม่ใช่สิ่งนี้ไม่ได้ เพราะว่าสิ่งนี้กำลังปรากฏให้เห็น เวลาที่ได้ยินเสียง ใครจะบอกว่า ให้เป็นเสียงอื่น ไม่ใช่เสียงนี้ ไม่ใช่เสียงอย่างนี้ ก็ไม่ได้ เพราะว่าสภาพของเสียงที่ปรากฏอย่างไร ก็เป็นความจริงในขณะนั้น เฉพาะชั่วขณะที่ได้ยิน แล้วก็หมดไป

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะได้ยินแต่ละเสียง แต่ละคิด แต่ละเข้าใจ ก็แล้วแต่  ก็เป็นเฉพาะคน ๆ  จริง ๆ ซึ่งไม่สามารถที่จะถ่ายทอดถ่ายเท หรือว่ายกย้ายไปให้ใครได้ เพราะว่าเป็นเรื่องของการสะสมสภาพธรรมะแต่ละขณะจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ก็ลองพิจารณาดูว่า อยู่คนเดียวหรือเปล่า  ถ้าขณะใดที่ไม่ได้อยู่คนเดียว หมายความว่าขณะนั้นไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมะตามความเป็นจริง แต่ถ้าขณะใดที่เริ่มจะเข้าใจสภาพธรรมะ แล้วพิจารณา แล้วมีลักษณะของสภาพธรรมะปรากฏ ขณะที่กำลังใส่ใจในลักษณะของสภาพธรรมะหนึ่ง จะรู้ ๒ อย่าง คือ อย่างอื่นด้วยได้ไหมคะ

    เรณู   ไม่ได้

    ส.   ไม่ได้ ก็จะค่อยๆ เริ่มเข้าใจ ความหมายของคำว่า อยู่คนเดียว

    เรณู   คนเราส่วนใหญ่กลัวความตาย เพราะเหตุใดคะ

    ส.   เพราะว่าไม่อยากตาย เมื่อเกิดมาแล้วที่จะไม่มีความติดข้องในความเป็นไม่มีเลย ไม่มีเลยจริงๆ ขอให้มีอะไรปรากฏเถอะ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร เพียงแค่เห็น ยังไม่รู้สิ่งที่เห็นเป็นอะไร ก็ติดแล้ว  ต้องการเห็น อย่างหนึ่งแล้ว พอได้ยิน ไม่รู้ว่าเป็นเสียงอะไรทั้งหมด ก็ติด ต้องการได้ยิน ไม่มีใครไม่อยากได้ยิน ไม่มีใครไม่อยากเห็น ไม่มีใครอยากไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะเหตุว่าเป็นหน้าที่ของโลภะ สภาพธรรมะอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิต แต่ว่าเกิดกับจิต แล้วก็ดับพร้อมจิต แล้วไม่ว่าจิตมีอะไรที่เป็นสภาพที่จิตกำลังรู้ คือเป็นอารมณ์ โลภะก็มีความยินดีในลักษณะของสภาพธรรมะนั้น

    เพราะฉะนั้น  เมื่อมีความติดข้อง แล้วเราจะปฏิเสธได้ไหมคะว่า เราไม่ติด เราตายก็ไม่เป็นไร หรือว่าเพราะเราติด เราจึงไม่อยากจะตาย คือไม่อยากจะจากสิ่งซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ กลัวว่าจะไม่ได้เห็นอีกต่อไป จะไม่มีความเป็นบุคคลนี้อีกต่อไป แต่ความจริงความเป็นบุคคลนี้กับความเป็นบุคคลก่อน ชาติก่อนก็ไม่มีอะไรเหลือ ความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ อีกไม่นานก็จะจบ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้  แล้วกรรมก็ทำให้เกิดใหม่เป็น บุคคลใหม่ 

    เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงว่า กลัวตาย ก็คือกลัวจะพลัดพรากจากสิ่งที่ปรากฏทางตาทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ว่าก็ต้องเกิดอีก แล้วก็ติดอีก แล้วก็กลัวตายอีก ถึงจะกลัวตายสักเท่าไร ก็ต้องตาย จะกลัวทำไม แต่ก็อดกลัวไม่ได้ เพราะว่ายังไม่อยากจะจากสิ่งที่เรามีอยู่ในชาตินี้ จนกว่าเราจะรู้ว่า ตายแล้วก็ต้องเกิด อย่างไร ๆ ก็ต้องเห็น ไปในสังสารวัฏ  ไม่มีทางออกจากสังสารวัฏ  ได้เลย ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมะ


    หมายเลข 10269
    18 ก.ย. 2558