สภาพที่ติดข้องและ ยึดมั่นในขันธ์


        ผู้ถาม ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ แล้วอุปาทานขันธ์ ๕ ต่างกันอย่างไร

        สุ. มีคำว่า “อุปาทาน” ก็หมายความว่าเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ

        ผู้ถาม แล้วมันต่างกันยังไง

        สุ. สภาพธรรมเป็นขันธ์ แล้วก็มีคำว่า “อุปาทานขันธ์” อุปาทานเป็นสภาพที่ยึดถือ จะยึดถืออะไร

        ผู้ถาม ยึดถือขันธ์

        สุ. เพราะฉะนั้นคำว่า “อุปาทาน” หมายความถึงสภาพที่ติดข้อง ยึดมั่นในขันธ์ ซึ่งแต่ละคนมีทุกวันเลยในขันธ์กี่ขันธ์

        ผู้ถาม ในขันธ์ ๕

        สุ. ครบใช่ไหม

        ผู้ถาม ครบ

        สุ. จะไม่มีอุปาทานขันธ์ในขันธ์หนึ่งขันธ์ใด เช่นไม่มีอุปาทานในสัญญาขันธ์ได้ไหม

        ผู้ถาม ไม่ได้

        สุ. ตามความเป็นจริงก็คือขันธ์นั่นแหละเป็นที่ตั้งของอุปาทาน เพราะฉะนั้นความหมายของอุปาทานก็มี ๒ อย่าง คือขันธ์ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ยึดถือของอุปาทาน และขันธ์ซึ่งเกิดเพราะอุปาทาน อันนี้จริงๆ แล้วก็คำที่ได้ยินทุกคำเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ให้เราไปจำความหมายต่างๆ โดยที่ไม่เข้าใจอะไร อย่างเมื่อกี้นี้ไม่ได้เลยคือเรื่องของปรมัตถธรรม หรือเรื่องของขันธ์ หรือเรื่องของทุกขอริยสัจก็เหมือนกัน

        ผู้ถาม แล้วอย่างอรูปพรหมก็มีแค่ ๔ ขันธ์ แล้วอย่างนี้จะจัดว่าเป็นอุปาทานขันธ์ ๔ ได้ไหม

        สุ. แน่นอน ถ้าบุคคลนั้นมีการยึดถือในขันธ์ใด ก็มีอุปาทานในขันธ์นั้น เวลาที่ยึดถือในขันธ์ ยึดถือพร้อมกัน ๕ ขันธ์หรือเปล่า

        ผู้ถาม ไม่ทราบ

        สุ. เรื่องไม่รู้นี่มีเยอะเลยใช่ไหม ค่อยๆ รู้ด้วยตัวเอง จากการฟัง และไตร่ตรองจนเป็นความเข้าใจถูกของเราเอง

        ผู้ถาม แล้วอย่างอสัญญสัตตาพรหมที่มีรูปขันธ์อย่างเดียวจะมีอุปาทานขันธ์หรือเปล่า

        สุ. มีจิตเกิดหรือเปล่า

        ผู้ถาม ไม่มีจิตเกิดก็ไม่มีอุปาทานขันธ์

        สุ. ถ้ามีผู้ที่รู้ขันธ์ของอสัญญสัตตาพรหม แต่ผู้นั้นยังมีกิเลสอยู่ขันธ์ของอสัญญสัตตาพรหมจะเป็นอุปาทานขันธ์ของผู้ที่รู้รูปของอสัญญสัตตาพรหมหรือเปล่า

        ผู้ถาม ก็ไม่

        สุ. คือต้องเข้าใจจริงๆ ว่าขันธ์ใดก็ตามซึ่งเป็นที่ยึดถือของกิเลสขณะใด ขณะนั้นก็เป็นอุปาทานขันธ์ของสภาพที่ยึดถือในขณะนั้น เพราะอะไร เพราะรูปก็เกิดดับเร็วมาก รูปไหนเกิดแล้วปรากฏ แต่ว่าไม่มีใครไปรู้ไปเห็น รูปนั้นจะเป็นที่ยึดมั่นกิเลสของใครไหม รูปเกิดดับเร็วมาก อย่าลืม รูปใดเกิดแล้วไม่ปรากฏ รูปนั้นดับแล้วเร็วอย่างนั้น เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดแล้วดับโดยที่ไม่มีใครไปยึดมั่นในรูปนั้น รูปนั้นจะเป็นอุปาทานขันธ์ไหม

        ผู้ถาม ไม่เป็น

        สุ. คือทั้งหมดให้เราหัดพิจารณาธรรมโดยความละเอียด ซึ่งจะต้องไม่ไปตามเพียงแต่จำได้ แต่ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ด้วย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 183


    หมายเลข 10214
    25 ม.ค. 2567