สมุทัยกับลักษณะของความเป็นตัวตน


        ผู้ถาม ลักษณะของสมุทัยกับลักษณะของความเป็นตัวตนมีความต่างกันไหม

        สุ. ความติดข้องเป็นโลภเจตสิก ความเห็นผิดเป็นทิฏฐิเจตสิก เพราะฉะนั้นโลภมูลจิตหรือจิตซึ่งมีโลภะเป็นมูลเกิดร่วมกับโลภะ จึงต่างเป็นโลภะที่ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับโลภะที่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย

        ผู้ถาม อย่างเช่นสภาพธรรมของโทสะ ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยแต่ว่าในความเป็นจริงก็ยังมีความเป็นตัวตน

        สุ. เมื่อไหร่

        ผู้ถาม เมื่อธรรมเกิดขึ้น แล้วก็ระลึกรู้สภาพธรรม

        สุ. นี่เป็นเหตุที่เราจะต้องเรียนเรื่องจิตแต่ละขณะโดยละเอียด เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมากเหมือนเป็นจิตเดียวใช่ไหม เหมือนเห็นด้วย ได้ยินด้วย แต่ความจริงมีจิตเห็นหนึ่งขณะ แล้วก็มีจิตอื่นๆ เกิด และก็จิตได้ยินหนึ่งขณะ เพราะฉะนั้นจะเป็นจิตเห็น จิตได้ยินพร้อมกันหนึ่งขณะไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้โทสะจึงไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะใดที่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ยึดสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นตัวตนหรือว่ามีความเห็นอื่นใดก็ตามทั้งหมด ขณะนั้นต้องเป็นสภาพธรรมของโลภมูลจิต เพราะเหตุว่ามีความยินดีติดข้องในความเห็นนั้น จิตหนึ่งขณะเกิดแล้วดับไปก็ลองคิดดู และก็ติดตามมาด้วยจิตหลายขณะสืบต่อเหมือนมีเราตั้งแต่เกิดจนตาย เหมือนมีเรานั่งอยู่ที่นี่เมื่อกี้นี้ก็เป็นเรา เพราะแท้ที่จริงก็ไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละขณะที่เกิดแล้วก็ดับไป ก็ต้องเข้าใจโดยละเอียดว่าโทสมูลจิตไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย แต่โลภมูลจิตเท่านั้นที่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย

        ผู้ถาม คือเดิมยังมีความเข้าใจว่าสมุทัยตัวโลภะคือความเป็นตัวตน

        สุ. สมุทัยต้องเป็นโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดซึ่งโสตาปัตติมรรคจิตดับไม่เกิดอีกเลย แต่ว่ายังมีโลภะที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยสำหรับพระอริยบุคคลขั้นสูงขึ้นที่จะดับกิเลสนั้นๆ ต่อไป

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 183


    หมายเลข 10215
    25 ม.ค. 2567