ความหมาย ๓ อย่างของสติ


    ผู้ถาม  การปฏิบัติธรรมะที่ผมฟังท่านอาจารย์อยู่ประจำว่า อย่างเวลานี้เรากำลังนั่งอยู่ เป็นปกติธรรมดา หมายถึงว่า ธรรมดา เช่นว่าคนเจริญวิปัสสนากรรมฐานกับไม่ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ต่างกันอย่างไรครับ

    ส.   ต่างกันที่ ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ถาม  ทั้งๆ ที่ปรมัตถ์กำลังปรากฏ แต่เราไม่ได้ระลึกถึง อย่างนี้ใช่ไหมครับ การปฏิบัติก็คือสภาพธรรมที่ปกติ  แต่ส่วนมากที่เราปฏิบัติกัน ส่วนมากไปทำ ไม่เป็นปกติ อย่างนี้ถูกไหมครับ

    ส.   เพราะฉะนั้น ก็คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่สามารถที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่เพียงปรากฏ แล้วดับอย่างรวดเร็วได้  เช่น ขณะนี้มีเห็นไหมคะ มีได้ยินไหมคะ คิดนึก สุขหรือทุกข์ เฉยๆ แข็ง

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิด ที่ใช้คำว่า ระลึกรู้ หมายความว่าเป็นสภาพที่ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ  ขณะใดที่ระลึกถึงสภาพธรรมะใดก็คือถึงลักษณะของสภาพธรรมะนั้น เฉพาะลักษณะนั้น เช่น ได้ยิน หรือเสียง ต้องทีละอย่าง เพราะฉะนั้น ขณะนั้นสติเป็นสภาพที่ระลึกถึง หรือว่าเป็นสภาพที่ถึงลักษณะที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    ผู้ถาม  ตามที่ท่านอาจารย์พูด เวลานี้สภาพธรรมะมันปรากฏทั้ง ๖ ทวาร แต่เราจะรู้ได้ทีละ ๑ ทวาร อันนี้เข้าใจครับ

    ส.   แล้วแต่ สติจะถึงลักษณะของสภาพธรรมะอะไร

    ผู้ถาม  ทีนี้แล้วแต่ว่าสภาพธรรมะไหนจะเป็นประธาน อย่างนี้ ใช่ไหมครับ

    ส.   แล้วแต่สติจะเกิดระลึก เพราะว่าเป็นอนัตตา  เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนไม่ได้เลยว่า จะระลึกตรงนั้นตรงนี้

    ผู้ถาม  ระหว่างที่สติจะระลึก เราก็ต้องมีสภาพธรรมะตรงนั้นเป็นประธานใช่ไหมครับ

    ส.   ขณะนี้มีสภาพธรรมะปรากฏเกิดดับสืบต่อทั้งวันทั้งคืน ไม่หยุดเลย เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่สติจะเกิดเมื่อไร ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ คือ ถึงเฉพาะลักษณะหนึ่ง ทีละลักษณะ

    ผู้ถาม  เหมือนกับว่าเวลานี้ผมยืนอยู่ ผมรู้สึกว่าแข็ง พอได้ยินท่านอาจารย์พูด ผมก็ไม่นึกถึงแข็ง นึกถึงเสียงของท่านอาจารย์ อย่างนี้

    ส.   ผมระลึก ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น ถ้าบอกว่า สติกำลังระลึก เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจะรู้ว่า ขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดมีสติ หรือสติเกิด จะไม่มีเราตั้งใจที่จะระลึก หรือที่จะดู หรือที่จะรู้ แต่ว่าเป็นปัญญาที่เกิดพร้อมในขณะนั้นที่รู้ว่า ขณะนั้นสติเกิดจึงระลึกลักษณะของอารมณ์นั้น หรือสิ่งนั้นจึงปรากฏ เพราะว่าสติระลึกเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมะนั้น

    ผู้ถาม  แล้วที่บอกว่า  ธรรมะทั้งหลายเป็นสติปัฏฐาน  อย่างนี้ ใช่ไหมครับ

    ส.   ที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

    ผู้ถาม  แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นอารมณ์ของสติ ใช่ไหมครับ

    ส.   ความหมายของสติ ๓ อย่าง ก็คือ สติปัฏฐาน เป็นทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลายดำเนิน จะไม่ไปทางอื่นเลย  เพราะเหตุว่าสภาพธรรมะ มี แต่เมื่อไม่รู้ตามความเป็นจริง ไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีวันจะเป็นพระอริยบุคคล เพราะว่าไม่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ ต่อเมื่อใดสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ ปัญญาเริ่มเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมะนั้น จนประจักษ์แจ้งความจริงซึ่งเกิดขึ้นและดับไป ก็จะทำให้เป็นพระอริยบุคคลได้

    เพราะฉะนั้น หนทางนี้เป็นหนทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลายดำเนิน นี่ความหมายหนึ่ง อีกความหมายหนึ่งก็คือสติปัฏฐาน ปัฏฐานคือที่ตั้ง หรือที่ระลึกของสติ ขณะนี้มีสภาพธรรมะ แล้วก็ไม่เคยรู้ความจริงของสภาพธรรมะใด เพราะว่าเกิดแล้วดับไปเร็วมาก ถ้าขณะนี้สติจะเกิด ก็สามารถที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมะที่ปรากฏ  ไม่ใช่สภาพธรรมะที่ดับแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนี้สติไม่ระลึกสภาพธรรมะนั้นก็ดับไป แล้วสติเกิดเมื่อไร ก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมะที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น สิ่งที่สติกำลังระลึกเป็นสติปัฏฐาน ความหมายที่ ๒

    อีกความหมาย ๑ ก็คือ สติมีหลายระดับ สติขั้นทานก็มี  ขั้นศีลก็มี  ขั้นสมถภาวนาก็มี  แต่ขณะใดที่เป็นสติปัฏฐาน  คือ กำลังระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งต้องอาศัยการศึกษา การฟัง เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ  เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้มีการระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ  ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่ดีๆ ก็จะไปบอกคนโน้น คนนี้ ให้ระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ โดยเขาไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจเรื่องธรรมะเลย

    เพราะฉะนั้น แม้ปัญญาขั้นต้นก็ไม่มี ปัญญาขั้นต่อไปก็เจริญไม่ได้ การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นตามลำดับขั้น ก็ต้องอาศัยปัญญาขั้นฟัง ปริยัติศาสนา คำสอนเรื่องสภาพธรรมะ แล้วก็มีความเข้าใจ ไม่ใช่เพียงอ่านได้ เพราะว่าบางคนเขาก็บอกว่า อ่านแล้วจบ หลายเล่ม แต่ว่าการเข้าใจธรรมะ ไม่ใช่การอ่านได้ หรือการอ่านออก แต่ว่าเมื่ออ่านแล้วรู้ว่า ธรรมนั้นเป็นเรื่องอะไร เช่น เรื่องของจิตคืออะไร เจตสิกคืออะไร รูปคืออะไร สภาพธรรมะที่ปรากฏทางตา ทางหู ทุกอย่างในชีวิตประจำวันเป็นธรรมะอย่างไร เมื่อมีความเข้าใจซาบซึ้งชัดเจนขึ้น เข้าใจมากขึ้น ก็จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ แล้วก็มีความเข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้น นั่นก็เป็นลักษณะของสติปัฏฐาน ซึ่งไม่ใช่สติระดับศีล หรือว่าระดับทาน


    หมายเลข 10200
    18 ก.ย. 2558