สมถะกับสมาธิ


    สุรีย์   กราบเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ คำว่า สมาธิ สมถะ แล้วก็สมถภาวนา มีความหมายเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ขอเรียนถามสมาธิก่อนคะ

    ส.   โดยศัพท์ ท่านอาจารย์สมพรคงจะอธิบายความหมายของคำว่า “สมาธิ” ก่อน แล้วก็ “สมถะ” แล้วก็ “สมถภาวนา” โดยศัพท์ค่ะ

    สมพร  สมาธิ กับ สมถะ สมาธิ ก็มาจาก เอกัคคตา แต่ว่าเอกัคคคตานั้นตั้งอยู่ในอารมณ์เดียว เมื่อตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวเป็นเวลานาน ก็เรียก เอกัคคตานั้นว่า สมาธิ แปลว่าความตั้งใจมั่น  สมาธิ แปลว่า ตั้งใจมั่น

    สมถะ แปลว่า สงบ สงบจากอกุศลธรรมซึ่งเป็นข้าศึก ที่เราเจริญพุทธคุณ หรือธรรมคุณ สังฆคุณก็ตาม ถ้าจิตยังฟุ้งซ่านอยู่  เรียกว่ายังไม่สงบ ถ้าสงบจากอกุศลธรรมทั้งหมด เรียกว่า สมถะ

    สมถภาวนา เราก็เพิ่มคำว่า ภาวนา ภาวนาแปลว่าเจริญ ทำความสงบนั้นให้เจริญขึ้น ๆ ๆ เรียกว่า สมถภาวนา ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น  คือว่าระดับจิตที่ตั้งมั่นที่มีความสงบ ไม่ใช่มีระดับเดียว มีระดับสูงขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้น จนกระทั่งสูงที่สุดเลย  เรียกว่า สมถภาวนา แปลว่าเจริญสมถะ

    สุรีย์   ทีนี้โดยทางปฏิบัติ อยากให้ท่านอาจารย์สุจินต์ช่วยขยายความว่า สมาธิเพราะว่าไปสมาธิ คือไปหาความสงบ อันนี้มีความผิดถูกอย่างไร

    ส.   การศึกษาธรรมะ คือการให้เราเข้าใจชัดเจน แต่ถ้าไม่ศึกษาก็คิดกันไป ใช้กันไป ซึ่งสมาธิ หมายความถึงสภาพของความตั้งมั่นคง เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตทุกๆ ขณะ เจตสิกนั้นมีชื่อว่า  เอกัคคตาเจตสิก  ก็โดยศัพท์ ก็คงจะแปลว่าตั้งมั่น

    สุรีย์   แต่ไม่ใช่ความสงบ

    ส.   ไม่ใช่ค่ะ เพราะฉะนั้น สมาธิเกิดกับอกุศจิตก็ได้ กุศลจิตก็ได้ ถ้าเกิดกับ อกุศลจิต ไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้น ไม่สงบ แล้วก็ลักษณะของเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่สงบ ก็เป็นกายปัสสัทธิเจตสิก จิตตปัสสัทธิเจตสิก เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท เพราะฉะนั้น ก็ต้องไม่ปน เอกัคคตาเจตสิกกับกายปัสสัทธิเจตสิก และจิตตปัสสัทธิเจตสิก เพราะเหตุว่ากายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิ ต้องเกิดกับโสภณจิต ต้องเป็นฝ่ายดี เพราะว่าสงบจากอกุศล

    สุรีย์   ตัวปัสสัทธิ ก็คือ ตัวความสงบ

    ส.   เป็นเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิต เกิดกับจิตที่ดี

    ผู้ถาม  ถ้าเผื่อว่า หากเขาไม่ได้เกิดร่วมกับเอกัคคตา ก็ไม่ใช่สมถะ

    ส.   ไม่มีอะไรที่ไม่เกิดร่วมกับเอกัคคตาเจตสิก  เพราะว่าเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท

    สุรีย์   ทีนี้ความต่างระหว่าง สมาธิ กับสมถะ  ดิฉันจะเข้าถึงตรงนี้ ถ้าเป็นสมถะ ต่างกับสมาธิอย่างไร

    ส.   เป็นฝ่ายกุศล สมถะ คือสงบ ได้แก่ กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิเจตสิก

    สุรีย์   แล้วถ้าเผื่อเป็นสมถภาวนาล่ะคะ

    ส.   สมถภาวนาเป็นกุศลจิต อบรมกุศลจิตให้ตั้งมั่นคงขึ้น เพิ่มขึ้น จึงชื่อว่าภาวนา

    สุรีย์   ถ้าเผื่อสมถภาวนานั้นเป็นความสงบจากอกุศล เรียนถามต่อไปว่า ความสงบซึ่งเกิดกับสมถภาวนา  ต่างกับความสงบซึ่งเกิดในวิปัสสนาอย่างไร

    ส.   ความสงบจากอกุศล หมายความถึง โสภณจิต ขณะนั้นไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้น ขณะที่เป็นการอบรมความสงบ เป็นสมถภาวนาก็เป็นกุศล เวลาที่อบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมะก็เป็นกุศล ต้องสงบ ไม่ใช่ว่าไม่สงบ เพราะว่ากายปัสสัทธิเจตสิกกับจิตตปัสสัทธิเจตสิกเกิดกับโสภณจิตทุกประเภท

    สุรีย์   ฟังดูว่า สมถภาวนานั้นจะต้องเป็นความสงบซึ่งมีปัญญา วิปัสสนาภาวนาก็เป็นความสงบที่มีปัญญา ปัญญาก็คือปัญญาเจตสิกซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง แต่ทีนี้มันต่างกันอย่างไร ความต่างกันของปัญญา ๒ ปัญญา ซึ่งความจริงก็ควรจะไม่ต่างกัน เขาเป็นเจตสิกตัวเดียวกัน

    ส.   ต้องทราบว่า ปัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่เห็นถูก เห็นอะไรถูก เห็นสภาพธรรมะในขณะนั้นถูกต้องตามความเป็นจริง ขณะที่เป็นกุศลจิต ซึ่งทุกคนก็มี เวลาที่ให้ทาน เวลาที่วิรัติทุจริต ขณะที่กำลังศึกษาฟังธรรมะก็เป็นกุศลจิต มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นโสภณ หรือว่าเป็นจิตที่ดีงาม เพราะว่าไม่มีปัญญา ก็อบรมเจริญสมถภาวนาไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนา สามารถที่จะรู้ความต่างกันของจิตที่เป็นกุศลและจิตที่เป็นอกุศล ไม่ใช่เพียงชื่อ ขณะที่กุศลจิตเกิด ใครรู้ ถ้าสติไม่เกิด  ขณะที่อกุศลจิตเกิด สติสามารถที่จะรู้ได้ว่า อกุศลจิตต่างกับกุศลจิต นี่คือความเห็นถูก นี่คือปัญญา

    เพราะฉะนั้น ปัญญารู้ถูกต้องตามความเป็นจริง จึงจะสามารถอบรมเจริญจิตที่ดี ที่สงบจากอกุศลให้มั่นคงขึ้นได้ เพราะสามารถที่จะรู้ว่า ขณะใดอกุศลจิตเกิดแล้ว  และหนทางที่จะไม่ให้อกุศลจิตเกิดต่อไป ก็คือจะต้องมีวิตก การตรึกนึกถึงสิ่งที่ทำให้จิตสงบจากอกุศลนั้น และเมื่อจิตสงบก็รู้ว่า มีความสงบขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะปรากฏลักษณะอาการของสมาธิระดับต่างๆ


    หมายเลข 10135
    17 ก.ย. 2558