รู้ได้อย่างไรว่าธรรมนั้นจริงและตรง


    เสกสรร   เมื่อกี้พูดถึงเรื่องสมาธิ กระผมกราบเรียนถามว่า มีการพูดว่าสมาธิ มี ๒ อย่างคือ มิจฉาสมาธิอย่างหนึ่งกับสัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง แล้วทางพุทธศาสนานิยมยกย่องสรรเสริญสัมมาสมาธิ ขอกราบเรียนถามว่า สัมมาสมาธิต่างกับมิจฉาสมาธิ อย่างไร  พอเข้าใจคร่าวๆ  ครับ

    ส.   มิจฉาสมาธิเกิดกับอกุศลจิต สัมมาสมาธิเกิดกับกุศลจิต

    เสกสรร   ทีนี้ถ้าผู้ไม่รู้ลักษณะของกุศล อย่างเช่นพรุ่งนี้คิดว่าเราจะได้ไปเที่ยวต่างประเทศ  กลางคืนก็นอนฝันหวาน  พรุ่งนี้เราได้ขึ้นเครื่องบินแล้ว แล้วก็มีความยินดีพอใจอย่างยิ่งทีเดียวที่จะได้ไปเห็นสิ่งที่ดีงามทั้งหลาย ซื้อของ อะไรอย่างนี้ เป็นต้น อันนี้ก็เป็นความตั้งมั่นในระดับหนึ่งเหมือนกันที่ว่า จ้องไว้ว่าพรุ่งนี้จะได้ไปต่างประเทศ ในขณะนั้นเป็นสมาธิหรือเปล่า ในขณะที่ตั้งมั่นคิดอยู่ในเรื่อง 

    ส.   ต้องศึกษาให้ทราบว่า เจตสิกต่างกันเป็น ๕๒ ชนิด เจตนาเป็นสภาพที่จงใจ ตั้งใจ  เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ ไม่เว้นเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย แม้แต่กำลังนอนหลับสนิท เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งใช้คำว่า สมาธิ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ทีละ ๑ อารมณ์ ก็เกิดกับจิตทุกขณะ  เพราะฉะนั้น เจตนาเจตสิกไม่ใช่เอกัคคตาเจตสิก แต่เกิดพร้อมกันทุกครั้ง

    เสกสรร   เพราะฉะนั้น สัมมาสมาธิ ถ้าผู้เจริญธรรม ถ้าระลึกถึงสภาวธรรม ในขณะนั้นก็เป็นเอกัคคตา ใช่ไหมครับ

    ส. ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นต้องมีเอกัคคตาเจตสิกเกิด แต่ถ้าพูดถึงว่าเป็นผู้ศึกษาก็คือ รู้ว่าศึกษาอะไร เพราะว่าเรื่องของการศึกษามีหลายเรื่อง แต่ว่าศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง ก็มีทางเดียว คือ ศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถา อย่างอื่นไม่ใช่คำสอนแน่นอน ถ้าเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงประมวลไว้ก็คือ พระไตรปิฎกและอรรถกถา ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจก็ต้องทราบว่า ต้องมีที่อื่นที่จะอธิบาย แล้วด้วยการไตร่ตรองจริงๆ พิจารณาข้อความนั้นกับสภาพธรรมะที่มีจริงๆ ก็ต้องรู้ว่า สอดคล้องกัน เช่น เรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ เป็นเรื่องที่มีจริง เพราะฉะนั้น ถ้ามีข้อความใดที่แสดงความละเอียด ความชัดเจน ความกระจ่างให้รู้เพิ่มขึ้นในลักษณะของธรรมะที่มีจริงๆ จะจากใครก็ได้ แต่ทั้งหมดต้องจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา ไม่ใช่ว่าจากใครก็ได้ซึ่งไม่ได้ศึกษาธรรม แล้วก็คิดเอง พูดเอง อย่างนั้นไม่ใช่ เพราะเหตุว่าจะไม่ทำให้เข้าใจจริงๆ นอกจากเป็นความเห็นของแต่ละบุคคล เช่นถ้าบอกว่าให้บังคับ  แล้วเราก็รู้ว่า บังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้น คนนั้นสอนถูกหรือสอนผิด แต่ว่าถ้าให้เข้าใจว่า สิ่งที่มีจริงคืออะไร ไม่ใช่ตัวตน จริงไหม ถ้าไม่มีตา จักขุปสาทก็ไม่เห็นขณะนี้ จริงหรือไม่จริง เมื่อเห็นแล้วเกิดโลภะ หรือโทสะ หรือเกิดกุศล ก็จริงอีก เพราะฉะนั้น สภาพธรรมะเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมบังคับไม่ได้ว่า ให้เป็นกุศลไปตลอด  หรือว่าให้ปัญญาเกิดมากๆ ให้ดับกิเลสหมดเลย

    นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งเห็นได้ว่า ถ้าเป็นธรรมะที่จริง ตรงตามพระไตรปิฎก จะรับฟังจากไหน ใครก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่พิจารณา

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่ามีอาจารย์ที่ผูกขาดว่า ต้องเป็นท่านผู้นี้ ไม่ใช่เลย ใครก็ตาม ไม่มีชื่อ ขณะนั้นกำลังมีเสียงที่ปรากฏ แล้วก็คนฟังก็พิจารณาเข้าใจว่า ตรงนี้ถูก แต่ถ้าถูกบ้าง ผิดบ้าง ผู้ฟังก็มีโอกาสจะพิจารณาว่า ตรงนั้นไม่ถูก ต้องนี้ผิด

    เพราะฉะนั้น ไม่มีใครจะไปผูกขาด หรือไปบังคับ แต่ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งสามารถจะพิจารณาและเข้าใจได้ว่า ตรงไหนถูก ตรงไหนผิด  หรือว่าถูกเป็นส่วนใหญ่ หรือว่าผิดเป็นส่วนใหญ่ อันนี้ก็คงพอจะเข้าใจได้ว่า การศึกษาธรรมะ หมายความถึงศึกษาให้เข้าใจถึงสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน  ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นตามความเป็นจริง


    หมายเลข 10139
    17 ก.ย. 2558