เข้าใจเรื่องแต่ไม่รู้ลักษณะ


    พันทิพา   ก็จะเรียนถามเกี่ยวกับการกระทบของรูปกับรูป  ซึ่งทางตาก็คือ สีกระทบกับจักขุปสาท แต่สำหรับตัวดิฉันเองจะรู้ลักษณะของการกระทบดีมากๆ ก็ทางกายวิญญาณ คือ ทางกาย กายปสาท ขณะนั้นจะระลึกเข้าใจลักษณะของการกระทบได้ดี เพราะว่ามันชัดเจน มันมีรูปกระทบรูปจริงๆ แต่สำหรับทางตา บางทีไม่ค่อยเข้าใจว่า อะไรกระทบอะไร เพราะว่า สี ก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร จักขุปสาทก็ยังไม่เคย

    ส.   คุณพันทิพาคะ สี ไม่เข้าใจว่าเป็นอย่างไร หมายความว่าเป็นอย่างไรคะ

    พันทิพา   คือสีปรากฏเป็นสี คือ ความสว่าง เรารู้ว่าเป็นรูป แต่ลักษณะของการกระทบไม่เข้าใจ

    ส.   ที่เราใช้คำว่า  สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะหมดความสงสัยไหมคะในขณะนี้

    พันทิพา   สิ่งที่ปรากฏทางตานี้เข้าใจ เพราะว่าปรากฏ ที่เรียนถามนี้ ลักษณะของการกระทบ จะเรียนถามอันนี้ ซึ่งจะปรากฏรู้สึกถึงลักษณะการกระทบทางตา หรือ ทางหู เป็นบางครั้ง คือ เวลาที่มีแสงสว่างจ้าๆ หรือในขณะที่เราอยู่ในที่มืด แล้วมีแสงสว่างจ้ามากระทบตา ก็จะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับว่า มีสีกระทบตา ตอนนั้นว่ามีการกระทบ  หรือการได้ยินเสียงดังๆ แล้วก็กระทบหู ตอนนั้นจะมีความเข้าใจ มันมีลักษณะเหมือน การกระทบเหมือนกับทางกาย ก็จะเรียนถามว่า นี่คือการศึกษาเกี่ยวกับการกระทบของรูปกับรูปทางปสาทต่างๆ ใช่หรือไม่ คืออันนี้ก็เป็นเพียงการระลึกศึกษา ไม่ใช่เป็นสติปัฏฐาน

    ส.   การศึกษาธรรมะต้องเข้าใจอรรถ พยัญชนะด้วย แม้แต่คำว่า กระทบ  ที่ทรงแสดงว่ามี สภาพธรรมะที่กระทบได้ หมายความถึงลักษณะของสภาพธรรมะสามารถจะกระทบ เช่น จักขุปสาทกับรูปารมณ์ หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกับจักขุปสาทได้  โสตปสาทก็กระทบกับเสียง เสียงสามารถจะกระทบโสตปสาทได้ คือแสดงถึงสภาพธรรมะที่สามารถกระทบ แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้ใครไปรู้ลักษณะกระทบ หรืออาการกระทบ เพราะเหตุว่าขณะนี้สภาพธรรมะทั้งหมดมากมายหลากหลาย นับไม่ถ้วน แต่ว่าถ้าทรงแสดงโดยประมวล ก็คือว่า มีสภาพธรรมะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือลักษณะหนึ่งเป็นนามธรรม อีกลักษณะหนึ่งเป็นรูปธรรม นี่คือการตั้งต้น

    เพราะฉะนั้น เวลาที่อบรมเจริญปัญญาต้องตั้งต้นตรงตามที่ได้ศึกษาด้วย มิฉะนั้นก็จะสับสน คือ ไปรู้การกระทบหรือไปรู้อะไร แต่ความจริงเมื่อตั้งต้นทราบว่า  มีสภาพธรรมะ ๒ อย่างซึ่งมีลักษณะที่ต่างกัน คือ สภาพธรรมะอย่างหนึ่งนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ฟัง พิจารณา  เริ่มเข้าใจ เริ่มพิสูจน์ว่า  เป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ไม่รู้อะไรเลย แต่ว่าเห็นเป็นสภาพธรรมะที่เป็นธาตุรู้ คือสามารถที่จะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ฉันใด จากการศึกษาที่เริ่ม เวลาที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ ก็จะต้องอบรมจากการสามารถที่จะรู้ความต่างกันของลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะว่ารูปธรรมก็มีมาก  นามธรรมก็มีมาก

    นี่โดยการฟัง แต่โดยลักษณะแท้จริงที่จะปรากฏว่า ธาตุที่เป็นนามธรรม ไม่เกี่ยวข้องกับรูปธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวข้องในที่นี้หมายความว่า ไม่ใช่รูปชนิดหนึ่งชนิดใด แล้วลักษณะของรูปก็ไม่ใช่นามชนิดหนึ่งชนิดใด ไม่ว่ารูปที่จะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตาม รูปก็ยังคงเป็นรูป ไม่ใช่นามธรรม

    เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาโดยลำดับอย่างนี้ อบรมเจริญปัญญาอย่างนี้ ก็จะเข้าใจว่า ที่พูดว่าลักษณะกระทบ กับเข้าใจเรื่องการกระทบ ผิดกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาว่า มีรูปที่สามารถกระทบกันได้ ๑๐ รูป นี่เป็นการฟัง เข้าใจว่า มีการกระทบได้ เช่นเสียงกระทบกับหูได้ กระทบกับรูปอื่นไม่ได้  กลิ่นกระทบกับจมูก ฆานปสาทได้ กระทบกับรูปอื่นไม่ได้ 

    นี่คือความเข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ไปรู้การกระทบ เพราะเหตุว่าต้องรู้ลักษณะที่ปรากฏ ซึ่งต่างกันเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก่อน

    เพราะฉะนั้น ถ้าย้อนถามเรื่องการเข้าใจเรื่องการกระทบ กับ การรู้ลักษณะกระทบ ผิดกัน เพราะเหตุว่าการเข้าใจเรื่องการกระทบ ที่ว่าทางกาย กายปสาท สามารถที่จะรู้การกระทบ นี่คือเข้าใจเรื่องการกระทบ แต่ไม่รู้ลักษณะกระทบ  เพราะเหตุว่าลักษณะกระทบที่นั่น ที่แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวจะปรากฏได้ ต้องมีผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรม ขณะนี้แก้วกับโต๊ะวางอยู่ แก้วอยู่บนโต๊ะ ไม่มีกายปสาท  แก้วไม่รู้ โต๊ะไม่รู้ แต่ว่าเวลาใดก็ตามที่แข็งปรากฏ มีการกระทบแน่นอน แต่ว่าสภาพลักษณะที่เป็นนามธรรมกระทบ อารมณ์นั้นจึงได้ปรากฏ ถ้าไม่มีผัสสเจตสิกเกิด เวลาที่นอนหลับสนิท ก็มีสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย แต่ไม่รู้ ต่อเมื่อใดที่ผัสสเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเกิด รูปนั้นปรากฏกับจิต ซึ่งเกิดขึ้นแล้วรู้ลักษณะของรูปนั้น

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า ก่อนอื่นต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมก่อน ถึงจะรู้ว่ากระทบหมายถึงอะไร

    พันทิพา   แสดงว่าที่เรากล่าวว่าการกระทบกันนั้นจะต้องหมายถึงผัสสะ

    ส.   แล้วแต่ว่าพูดถึงเรื่องอะไร  ถ้าพูดถึงรูปที่กระทบได้ มีกี่รูปในรูป ๒๘ รูป แต่พูดถึงเมื่อรูปใดก็ตามที่ปรากฏ ก็เพราะเหตุว่ามีนามธรรม ซึ่งขาดผัสสเจตสิกไม่ได้  แต่ไม่ได้มีใครไปบอกให้รู้ลักษณะของผัสสเจตสิก เพราะเหตุว่าแม้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมก็ยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้ได้อย่างไรว่า นั่นคือผัสสเจตสิก แต่ทราบว่าต้องมีผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพรู้ที่เกิดกับจิต ขณะนั้นจึงสามารถที่จะทำให้รูปปรากฏกับจิตได้


    หมายเลข 10128
    17 ก.ย. 2558