ตั้งจิตไว้ชอบแม้ขั้นการฟัง


    ส.   ข้อสำคัญที่สุดที่จะไม่หลงทางในพระพุทธศาสนาก็คือว่า มีความเข้าใจให้ถูกต้องว่า สิ่งที่ทำให้เราเกิด แล้วก็วนเวียนไปในสังสารวัฏไม่รู้จบ คือ โลภะ หรือตัณหา ซึ่งเป็นความติดข้อง ถ้ายังไม่เห็นลักษณะของโลภะ  ความติดข้อง ก็ละไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้เรา ไม่ว่าจะฟังธรรมะ หรือว่าอ่านศึกษาก็ตาม แต่ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ละเอียด จะหลงทางตามโลภะทันที คือต้องการที่จะเห็นชัด หรือว่าเป็นการอบรมความรู้ความเข้าใจลักษณะของธรรมะ แล้วก็มีความละเอียดที่จะรู้ว่า ต่างกับที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน ไม่เคยรู้มาก่อน

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นการละความไม่รู้ ความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมะที่ปรากฏ  ไม่ใช่ต้องการอะไรซึ่งเกินวิสัย ซึ่งขณะนี้สภาพธรรมะกำลังปรากฏ คือ ทางตาเห็น แต่อยากจะทำอย่างไรถึงจะสามารถที่จะประจักษ์ชัดในความเกิดขึ้นและดับไป  นี่ไม่ใช่วิสัย เพราะเหตุว่าเป็นตัวตน เป็นความต้องการอย่างยิ่ง ซึ่งไม่เข้าใจเลยว่า ความไม่รู้มีมากเท่าไร ความติดข้องในสภาพธรรมะในแสนโกฏิกัปจนถึงขณะนี้มากเท่าไร แล้วก็จะค่อยๆ จางลง ใช้คำว่า “จางลง” ด้วยปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมะตั้งแต่ขั้นการฟัง ยิ่งฟังก็ยิ่งจะรู้ว่า  ต้องเป็นการอบรมความรู้ความเข้าใจให้ตรง ให้ถูก เพื่อละความต้องการ ไม่ใช่เพื่อฟังแล้วยิ่งต้องการ หรือว่าหาทางที่ต้องการ ที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมะ ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ความรู้ 

    เพราะฉะนั้น การตั้งจิตไว้ชอบ ต้องด้วยปัญญาที่สะสมมาแล้วในอดีต จากการฟัง แล้วก็พิจารณาแล้วก็เข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมะแม้ปรากฏก็เป็นสิ่งที่เห็นยาก เพราะลึกซึ้ง ที่จะเห็นว่าเป็นธรรมะ เพียงเห็นว่าเป็นธรรมะ ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย แต่เป็นสิ่งที่มีจริง ลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏแต่ละทาง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีลักษณะอย่างนี้ สิ่งที่ปรากฏทางหูก็อีกลักษณะหนึ่ง เป็นธรรมะอีกอย่างหนึ่ง ตลอดไปจนถึงทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ  จนกว่าจะรู้ทั่วจริงๆ ว่า เป็นธรรมะทั้งหมด ละความไม่รู้ ละความต้องการที่จะไปถึงการเกิดดับ โดยที่ปัญญาไม่รู้ความละเอียดของสภาพธรรมะในชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้น เรื่องการที่จะประจักษ์สภาพธรรมได้เมื่อไร อย่างไร มีวิธีอะไรบ้างที่จะทำให้รู้ได้เร็ว หรืออะไรอย่างนั้น แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นหลงทางตามโลภะ โดยไม่รู้ตัวเลย

    เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมดจะเกื้อกูล โดยทรงแสดงไว้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น เพื่อรู้และละ ต้องรู้จึงจะละได้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ละ

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปถามหาทางอื่นที่จะทำให้สามารถที่จะไปรู้โน้น รู้นี่  แต่เป็นการฟัง ด้วยดี แล้วก็พิจารณาให้เข้าใจว่า สภาพธรรมะแม้มีจริง เพียงแต่ให้เข้าใจและเห็นจริงว่า เป็นธรรมะ ก็ยาก แต่ว่าอาศัยการฟัง ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะทำให้ค่อยๆ จางความไม่รู้ลงไปทีละเล็กทีละน้อย สภาพธรรมะจึงจะปรากฏตามความเป็นจริงได้


    หมายเลข 10126
    17 ก.ย. 2558