ไม่พักไม่เพียร


        ท่านอาจารย์ ห้วงน้ำใหญ่คือกิเลส วันนี้ข้ามบ้างไหม มีโอฆะ มีห้วงน้ำใหญ่หรือเปล่า ตั้งแต่ลืมตามา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

        อ.ธิดารัตน์ ไม่พัก ไม่เพียร จะข้ามโอฆะได้หรือ

        ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจ ไม่พัก ไม่เพียร พัก คือ ไม่ฟัง ไม่เข้าใจ สนุกสนานทั้งวัน เดือน ปี แล้วก็จากโลกนี้ไป พักไม่สามารถจะเข้าใจได้ แต่ถ้ามีความเห็นผิดเพียรอยากจะถึงนิพพาน เพียรเป็นตัวตนที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งขณะนั้นก็ไม่ใช่หนทาง

        เพราะฉะนั้น คำนี้จริงๆ ลึกซึ้งมาก ไม่พัก ไม่เพียร คือไม่ได้หลงอยู่ในความไม่รู้ และความติดข้อง พักอยู่สบายๆ เวลาที่ได้ยินคำว่า “ไม่ต้องทำอะไร” คนก็บอกว่า นี่ไงบอกว่าไม่ต้องทำอะไร ก็ไม่ต้องทำ ก็คือพัก นั่นคือไม่ได้เข้าใจคำที่ได้ยินเลย คิดเองหมด ได้ยินคำอะไรก็คิดเอง แต่ธรรมะต้องศึกษาแต่ละคำที่ได้กล่าว แม้แต่มีผู้ที่กล่าวหาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยถ้อยคำต่างๆ พระองค์ก็ใช้คำนั้นอธิบายให้เขาเข้าใจว่า พระองค์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น

        เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า เวลาได้ยินได้ฟังคำอะไร ไม่ใช่ไปคิดเองว่า หมายความว่าอย่างนี้ แต่ต้องรู้ว่า คำนั้นหมายความว่าอะไร ไม่พัก คือ รู้ว่าจะมีชีวิตอย่างนี้โดยไม่รู้สภาพธรรมะที่กำลังปรากฏให้รู้ คิดดู ไม่ใช่ไม่มีอะไรจะให้รู้ให้เข้าใจ มีสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งที่ควรรู้ ควรเข้าใจ แล้วจะพักไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็ลองคิดเอง มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ให้เข้าใจ แต่ก็ไม่รู้ บางคนก็ไม่อยากจะรู้ด้วย

        อ.ธิดารัตน์ แล้วเพียรล่ะคะ

        ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจผิด ได้ยินแค่คำนี้ เพียรเลย เราเพียร เพราะบอกให้เพียร ก็ไม่ใช่เราที่เพียร เพียรต้องด้วยความเห็นถูกต้อง เพียรที่จะมีความเห็นที่ถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ฟังเลย เพียรอย่างไรที่จะมีความเห็นถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็ต้องตามลำดับขั้น ถ้ารู้จริงๆ โดยนัยของสภาพธรรมะที่เป็นอภิธรรมะที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ก็จะรู้ว่า สภาพเพียรมีจริง เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต ภาษาบาลีจะใช้คำว่า “วิริยเจตสิก” เกิดกับจิตใดบ้าง จากการที่ทรงตรัสรู้ ไม่ใช่เราอยากจะเพียร แล้วเป็นเราเพียร โดยที่ว่าขณะนั้นเพียรเกิดแล้ว จิตนั้นๆ ก็ไม่รู้ว่าเพียร นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการศึกษาจริงๆ เพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ศึกษาเพื่อชื่อว่าศึกษา แต่ไม่เข้าใจ อย่างนั้นไม่ใช่ผู้ศึกษาแน่นอน

        อ.ธิดารัตน์ หมายถึงไม่ได้พักด้วยอกุศล และไม่เพียรด้วยอกุศล

        ท่านอาจารย์ ถูกต้อง


    หมายเลข 10070
    19 ก.พ. 2567