อารมณ์ของบิดา


        อารมณ์ของบิดาคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นพระบิดาของผู้ฟังแล้วเข้าใจ แล้วอบรมเจริญปัญญาจนสามารถได้รับมรดก เพราะเหตุว่าลูกทั้งหลายก็ได้รับมรดกจากบิดามารดา

        เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่เข้าใจถูกต้อง ขณะนั้นก็เริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า “อารมณ์ของบิดา” ต้องไม่ใชอารมณ์ของคนไม่รู้ ปกติธรรมดาเห็นแล้วก็ไม่รู้ ได้ยินแล้วก็ไม่รู้ แต่พอได้ยินพระธรรม ก็เริ่มรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คืออารมณ์ของบิดา ซึ่งจะเป็นที่พึ่ง ซึ่งจะเป็นอุปนิสยโคจร ใช้อีกคำหนึ่งแล้ว ไม่ใช่คำว่า อารมณ์ แต่ใช้คำว่า โคจร อารมณ์ของบิดา

        เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็กำลังเริ่มฟัง เริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าสามารถเห็นประโยชน์ของวาจาสัจจะ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสทุกคำว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้อารักขา ทำให้ขณะนั้นไม่เป็นอกุศลในสิ่งที่กำลังปรากฏ

        เพราะฉะนั้น ก็เป็นอารักขโคจร จากการมีโอกาสได้ยินได้ฟัง แล้วก็เริ่มจะรู้ว่า อะไรเป็นที่พึ่ง อะไรไม่เป็นที่พึ่งในสังสารวัฏ จนกระทั่งสามารถไม่ลืมสิ่งที่ได้ฟังเป็นประโยชน์ ทำให้ขณะนี้สามารถรู้ว่า ประโยชน์จริงๆ ของการเห็น ไม่ใช่เพียงเห็น ติดข้องแล้วดับไป แต่ประโยชน์จริงๆ ของการเห็น คือสามารถรู้ความจริงว่า ขณะที่เห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่ใช่ของใครเลย หลังจากที่เข้าใจว่า เห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่แท้ที่จริงก็คือว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาแสนสั้น เพียงเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป แต่ซ้ำจนกระทั่งปรากฏเป็นนิมิตสัณฐานให้ไม่รู้ต่อไป ให้หลงยึดถือ ให้หลงเข้าใจผิดต่อไป

        เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจเพิ่มขึ้น อารักขา ความเข้าใจนั้นทำให้ขณะที่คนอื่นเห็นแล้วเป็นอกุศล สำหรับคนนั้นเห็นแล้วเป็นกุศล

        เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการคิดนึกเรื่องใดๆ ก็ตาม หรือเป็นการเห็นการได้ยินเรื่องไหน วันไหนก็ตาม ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา ฟังวันนี้แต่ไม่รู้ว่าจะอารักขาเมื่อไร ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าอกุศลที่สะสมมามากมายมหาศาล อยู่ในความมืดสนิทมาแสนนาน กว่าจะเข้าใจความจริงก็ต้องอาศัยพระธรรมเป็นแสงสว่าง เป็นที่พึ่งที่จะออกจากความมืด หรือสิ่งที่ถูกพันธนาการผูกพันไว้ทั้งตัว ถูกผูกไว้แน่นหนา มัดแน่น ใส่กุญแจไว้อีก ขังไว้ในห้องอีก ประตูรั้วก็ปิดอีก แล้วจะออกไปอย่างไร

        เพราะฉะนั้น เข้าใจความจริง ไม่ใช่รีบร้อน จะไปทำอะไร โดยไม่เข้าใจ

        ด้วยเหตุนี้ที่ใช้คำว่า “ปัญญา” ในภาษาบาลี ก็คือความเข้าใจ ไม่ต้องไปใช้ภาษาอื่นค่ะ กำลังเห็น เข้าใจตามที่ได้ฟังหรือเปล่า เพียงแค่ว่าเป็นธรรมะ คือสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นด้วยตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไป

        เพราะฉะนั้น จะต้องการทรัพย์สมบัติอื่นใด ชื่อเสียงเกียรติยศ หรืออะไร เพียงแค่ทุกอย่างเพียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปหมดในสังสารวัฏที่ยาวนาน ไม่เหลือเลย แม้แต่วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ก็ไม่เหลือ เพราะฉะนั้น พอถึงพรุ่งนี้ วันนี้จะไม่มีอะไรเหลือสำหรับพรุ่งนี้เลย

        นี่คือมีที่พึ่งที่จะไม่ยึดถือ ที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง แต่พระธรรมไม่ใช่เพียงเท่านี้ ทรงแสดงความจริงถึงที่สุดที่จะทำให้รู้ความจริงจากความมืดสนิทมาสู่ความสว่าง แต่กว่าจะถึงความสว่างก็ต้องมั่นคง และเริ่มเข้าใจว่า อารมณ์อะไรเป็นที่พึ่ง เป็นแสงสว่างจริงๆ ที่จะนำไปสู่โคจรสุดท้าย อุปนิพันธโคจร ไม่อย่างนั้นจะทรงแสดงพระธรรมโดยนัยหลากหลาย โดยอารมณ์ โดยโคจร และทรงประมวลไว้ถึง ๓ อย่าง ตั้งแต่วันนี้ที่เริ่มเข้าใจ หรือวันก่อนๆ ที่เริ่มเข้าใจ ก็เป็นอุปนิสย ที่อาศัยที่มีกำลัง เมื่อเช้าฟังธรรมะทางวิทยุหรือเปล่า ตอนเย็นฟังหรือเปล่า ตอนกลางคืนฟังหรือเปล่า อุปนิสยโคจรสะสมมา ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครจะบังคับหรือดลบันดาลให้เกิดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ได้ฟังพระธรรมแล้ว มีอะไรที่เป็นที่พึ่ง เห็นมาแล้วมากมาย ได้ยินมาแล้วมากมาย เป็นที่พึ่งหรือเปล่า

        เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ข้อสำคัญคือไม่ใช่ฟังเฉยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง จึงสามารถเป็นอุปนิสยโคจรซึ่งจะอารักขา เป็นอารักขโคจร ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ใดๆ ปรากฏ ร้ายที่สุด เลวที่สุด ดีที่สุด หรือน่าพอใจที่สุด ธรรมะที่ได้ฟังแล้วก็อารักขาให้ไม่หวั่นไหวเลยไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะไม่มีเรา ไม่ใช่เรา แต่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เราอยู่ที่ไหนในสังสารวัฏมานานแสนนานแล้ว แล้วเดี๋ยวนี้เป็นอะไร อยู่ที่ไหน ยังคิดถึงอยู่หรือเปล่า ยังหวังจะรู้อยู่ทำไมในเมื่อทั้งหมดที่ผ่านไปแล้ว ไม่สามารถจะให้ความจริงได้เลย

        ด้วยเหตุนี้จึงสามารถเข้าใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้นที่สามารถทำให้เห็นถูก เข้าใจถูกในความจริงว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งหนึ่ง เช่น เห็นเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เป็นสิ่งหนึ่ง เสียงเป็นสิ่งหนึ่ง ได้ยินเป็นสิ่งหนึ่ง เป็นชีวิตประจำวันทั้งหมด เพียงเกิดปรากฏแล้วหมดไป จะรีบร้อนไปทำอะไรให้รู้ความจริงที่เป็นอริยสัจได้ไหม ในเมื่อไม่เข้าใจ

        เพราะฉะนั้น การฟังสำคัญที่สุดคือเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมะ แม้แต่คำว่า “เป็นธรรมะ” ถึงหรือยัง


    หมายเลข 10075
    30 ธ.ค. 2566