ธรรมในการทำงาน


        ผู้ฟัง ทำงานเพื่อให้มีจริยธรรม จะต้องตรงอย่างไร และเป็นความจริงใจอย่างไร ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความด้วยค่ะ

        ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นเรื่องหน้าที่การงาน ก็ตรงต่อหน้าที่

        ผู้ฟัง เป็นการกระทำดีในหน้าที่ที่รับผิดชอบ

        ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ เพราะว่าธรรมะมี ๒ ฝ่าย กุศลธรรม และอกุศลธรรม กุศลธรรมก็เป็นฝ่ายคุณความดี อกุศลธรรมก็ตรงกันข้าม ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็จะขาดกุศลธรรม และอกุศลธรรมไม่ได้ แม้แต่ในเรื่องหน้าที่การงาน

        ผู้ฟัง การทำงานรู้สึกว่า ต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง และสิ่งที่ถูกใจ เราควรคิดอย่างไร

        ท่านอาจารย์ ถูกตามธรรมะดีกว่า เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วถูกต้อง ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมะ เราก็ไม่รู้ว่า ถูกต้องจริงๆ คืออย่างไร แต่ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงสำหรับชีวิตประจำวันจริงๆ ใช้คำว่า "พรหมวิหาร” พรหม คือ ผู้ประเสริฐ วิหาร คือ ที่อยู่ เพราะฉะนั้น ที่อยู่ของผู้ประเสริฐ ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็ตาม ต้องเป็นคุณความดี ซึ่งมี ๔ อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในขณะที่ทำหน้าที่การงานได้ไหม หรือว่าไม่ว่าที่ไหนก็ตามจะขาดคุณธรรม ๔ ประการนี้ได้ไหม แต่ว่าส่วนใหญ่เราไม่ได้ศึกษาละเอียด และเรายังไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่า ประโยชน์ของธรรมะ ๔ อย่างเป็นอย่างไร แม้แต่ในการทำงาน ที่จะว่าถูกใจหรือไม่ถูกใจก็ตาม แต่ถ้าคนนั้นเป็นผู้ตรง จริงใจ และมีคุณความดี ก็จะต้องประกอบด้วยธรรมะ ๔ ประการนี้ด้วย คือ ประการที่ ๑ เมตตา ความเป็นมิตร ซึ่งจะต้องขยายความอีก เพราะเหตุว่าข้อความในพระไตรปิฎกที่กล่าวว่า ไม่คบคนพาล แล้วจะทำอย่างไร เพราะว่าต้องพบปะผู้คนมากมาย บางคนก็เป็นมิตร สนิทสนมคุ้นเคยตามลำดับ

        เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจคำว่า “มิตร” ทีนี่ ภาษาไทยเราใช้คำว่า “เพื่อน” เป็นเพื่อนกัน เป็นมิตรกัน ถ้าเป็นเมตตาหรือเป็นมิตรจริงๆ ก็คือไม่ต้องใช้คำว่า “เพื่อน” ก็ได้ แต่หมายความว่า ขณะใดก็ตามที่หวังดีพร้อมที่จะทำประโยชน์ แต่ต้องในทางที่ถูกต้อง

        เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้มั่นคงในคุณความดี ก็จะรู้ว่า ความไม่ดี เป็นเหตุให้ได้ผลที่ไม่ดีแน่ๆ ตั้งแต่เกิด เพราะเราเห็นว่า เกิดมาหลากหลาย หรือแม้แต่คนที่เกิดมาดีแล้ว แต่ถึงคราวที่อกุศลกรรมที่ไม่ดีให้ผล ก็สามารถตัดรอนสภาพที่สะดวกสบายนั้นได้ทันที แขนขาด ขาขาด ตาบอดได้ไหม โรคร้ายต่างๆ ก็ได้ โดยไม่ต้องมีแม้ใครทำให้ แต่ต้องมีเหตุที่ได้ทำไว้

        เพราะฉะนั้น ถ้ามั่นคงในเรื่องของเหตุ และผล กุศลกรรม และอกุศลกรรม เราก็จะยึดมั่นในกุศลกรรม เพราะเหตุว่าถ้าเราจากโลกนี้ไปโดยไม่เห็นประโยชน์ของกุศลกรรม แล้วทำแต่อกุศลกรรม ผลของกรรมนั้นเราก็เห็นอยู่ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือที่อื่นก็ได้ ซึ่งถ้าไม่อ่านพระไตรปิฎกก็อาจจะไม่เชื่อว่า มีนรก เปรต อสุรกาย ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม อย่างข่าวเมื่อเช้านี้มีคนไปปล้นธนาคาร แต่ภายหลังก็ฆ่าตัวตายด้วยความสำนึกผิด เพราะอาจจะทำทุจริตต่อไปก็ได้

        เพราะฉะนั้น ชีวิตของแต่ละหนึ่ง ขณะใดก็ตามที่ทำสิ่งที่ดีงาม มีความมั่นใจว่า สิ่งนั้นต้องให้ผลแน่นอน เพราะฉะนั้น จะไม่ตกไปในฝ่ายที่ไม่ถูกต้อง แม้ว่าจะถูกใจ ชีวิตนี้สั้นมาก ใครจะจากโลกนี้ไปเดี๋ยวนี้ก็ได้ เย็นนี้ก็ได้ พรุ่งนี้ก็ได้ แต่จากไปโดยไม่ได้ทำทุจริตกรรม ทำกุศลกรรม ย่อมมีประโยชน์กว่า

        เพราะฉะนั้น ถ้ามั่นคงจริงๆ คำว่า “บารมี ๑๐” มีบารมีหนึ่ง คือ อธิษฐานบารมี มีความมั่นคงในคุณความดี เพราะรู้ว่าเหตุกับผลต้องตรงกัน เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ทำความดีเพื่อจะได้รู้ความจริง เพราะว่าความจริงขณะนี้มี แต่ก็รู้ยากมาก ความจริงเป็นสิ่งที่รู้ยากจริงๆ ยิ่งเป็นความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้จะยิ่งยากสักแค่ไหน เพราะความจริงของชาวโลกก็เพียงแต่ได้ยินได้ฟัง แล้วก็ไตร่ตรอง แล้วก็ประมวลเหตุการณ์กับหลักฐานว่าจริงหรือไม่จริง แต่ไม่ใช่ความจริงถึงที่สุดในทางธรรมะ ความจริงถึงที่สุดในทางพระธรรมไม่พ้นจากเหตุ และผล ไม่ว่าที่ไหน ค้านกันไม่ได้เลย

        เพราะฉะนั้น ถ้าการกระทำดี ผลต้องดี แล้วจะจากโลกนี้ไปโดยทำทุจริตกรรม เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นผลว่า ต้องนำมาซึ่งผลที่ดี แต่ถ้าใครก็ตามที่มั่นคงในคุณความดี แล้วต้องจากโลกนี้ไป ก็ไม่เดือดร้อน เพราะระหว่างที่มีชีวิตอยู่ เราได้ทำความดี

        นี่ก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาด้วยความตรง เกิดมาแล้วทำดี สะสมความดี แต่ดีเท่าไรก็ยังไม่พอ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้เข้าใจธรรมะโดยละเอียดโดยลึกซึ้ง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพียงแค่คำเดียว นิดๆ หน่อยๆ เราก็พอเห็นประโยชน์ แต่ถ้ามากกว่านั้น ลึกซึ้งกว่านั้น ประโยชน์จะสักแค่ไหน

        เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคนมั่นคงในความดี ความถูกต้อง ก็คุ้มครอง เป็นเหตุที่ดี


    หมายเลข 10072
    19 ก.พ. 2567