พอใจที่จะรู้น้อย รู้อย่างเดียวหรือไม่


    ถ. เคยได้ยินได้ฟังมาว่า ท่านเปรียบเทียบเหมือนประตู ๔ ประตู จะเข้าประตูไหนก็ตาม ก็เขาไปสู่จุดศูนย์กลางของสถานที่แห่งนั้นได้ ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความ

    ท่านอาจารย์ ดูเหมือนว่ารู้น้อยๆ จะดีกว่าหรือ รู้นิดเดียวก็จะได้เป็นพระอริยบุคคลเร็ว ไม่ต้องรู้อะไรมาก ความเห็นผิดทำให้ยุ่ง ความเห็นถูกไม่ทำให้ยุ่ง มีใครเห็นอย่างนี้บ้าง

    ถ. รู้อย่างเดียวแต่ว่ารู้ถูก รู้ตรง ทำให้ไม่ต้องเลี้ยวไปมา หรือว่าไม่ลังเลว่าจะเข้าประตูไหนดี

    ท่านอาจารย์ ใคร่จะถามว่า รู้อย่างเดียวนั้นรู้อะไร

    ถ. รู้ทางที่จะปฏิบัติวิปัสสนาประตูใดประตู ๑ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ ขอรูปประตูเดียวก็จะเดินตรงไปประตูนั้น

    ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้อะไรเลยก็เลยคิดว่า รู้อย่างเดียวเท่านั้น ท่านที่คิดว่าจะเจริญกายานุปัสสนา ประตู ๑ ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนาม เวทนา จิต ธรรม แล้วท่านจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม คิดถึงเฉพาะความเป็นจริงเสียก่อนว่าเป็นไปได้ไหม จะรู้รูปเพียงอย่างเดียวไม่รู้นามเลย เพราะเหตุว่าการระลึกรู้สภาพธรรมที่กายจะมีลักษณะของรูปปรากฏ เพราะที่ยึดถือว่าเป็นกายนี้คือรูป เป็นรูปต่างๆ ที่ประชุมรวมกัน และจะมีเพียงความรู้ลักษณะของรูปโดยไม่รู้ลักษณะของนามจะทำให้สามารถละสักกายทิฏฐิการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ไม่ได้ แต่ความจริงจะทำอย่างไรให้รู้เพียงรูปเดียว

    ได้เคยพูดเรื่องอานาปานสติ มาแล้วครั้งหนึ่ง ที่ทรงอุปมาไว้ในสูตร ๑ ว่า การเจริญสตินั้นก็เหมือนกับมีกองดินอยู่ ๔ กอง ใน ๔ ทิศ ไม่ว่าจะขับรถหรือขับเกวียนผ่านไปทางใดก็จะสะเทือนหรือกระทบกับกองดินทั้ง ๔ กองนั้น เหมือนกับการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เจาะจงให้รู้แต่เฉพาะกายานุปัสสนา หรือเวทนานุปัสสนา หรือจิตตานุปัสสนา หรือธัมมานุปัสสนา เพราะเหตุว่า สติเป็นอนัตตาไม่มีตัวตนที่จงใจไปเลือกว่าจะเจริญบรรพนั้นเท่านั้น นั่นไม่ใช่วิสัยของผู้มีปกติเจริญสติ สติระลึกรู้ลักษณะของกายานุปัสสนาได้ เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนาได้ นี่เป็นข้อหนึ่งที่ควรจะคิด ถ้าในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกายานุปัสสนา แล้วสติดับไป แล้วสติก็เกิดต่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแม้ที่กายแต่ไม่ใช่กายานุปัสสนา (เช่นเวทนานุปัสสนา) การเจริญสติปัฏฐานกระเทือนถึงกันหมดทั้ง ๔ ปัฏฐาน แต่ว่าผู้นั้นกลับไปเข้าใจว่า เจริญเฉพาะปัฏฐานเดียว คลาดเคลื่อนแล้ว เพราะเป็นผู้เจริญสติไม่ใช่เป็นผู้หลงลืมสติ สติระลึกรู้ทางตาไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ดับไปแล้ว ผู้นั้นไม่หวั่นไหว ระลึกรู้ลักษณะของนามอื่นที่ไม่ใช่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะรู้ว่าเป็นนามธรรม เพราะรู้ว่าเป็นรูปธรรม เป็นต้นว่าทางหู ผู้ที่มีปกติเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของเสียง ไม่หวั่นไหว สติจะระลึกลักษณะของนามได้ยิน ไม่หวั่นไหว เสียงกับการได้ยินไม่ใช่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่เวลาที่สติของผู้นั้นระลึกรู้ที่กาย เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ผู้นั้นก็ไม่หวั่นไหว ถ้าเป็นผู้มีปกติเจริญสติแล้วจะเป็นปัฏฐานเดียวไม่ได้ นอกจากเป็นผู้ที่บังคับสติเท่านั้น เมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามรูปแล้วก็กระเทือนทั้ง ๔ ปัฏฐาน เป็นการเจริญทั้ง ๔ ปัฏฐานได้ จะขาดปัฏฐานใดปัฏฐานหนึ่งก็ไม่ได้ด้วย จะไม่สามารถถึงนามรูปปริจเฉทญานได้ ที่ทรงแสดงไว้อย่างไร ก็เพราะตรัสรู้จริงอย่างนั้น


    หมายเลข 6660
    8 ต.ค. 2566