ฟังให้เข้าใจให้รู้ความจริงจนกระทั่งไม่ลืม


        เพราะเหตุว่าธรรมมี ๓ ระดับ ขั้นฟัง และก็ขั้นพิจารณาให้เข้าใจตรงตามที่ได้ยินได้ฟัง และก็ขั้นอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งประจักษ์แจ้งความจริงๆ ที่ปรากฏตรงตามที่ได้ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง จะเป็นอื่นไปไม่ได้เลย สภาพธรรมเป็นอย่างไร ปัญญารู้ตรงตามความเป็นจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้นผู้ตรงคือขณะนี้ได้ฟังเพียงเข้าใจเรื่องของเห็นกับสิ่งที่ปรากฏว่าไม่ใช่เรา เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป

        แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิดก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมเป็นแต่เพียงสติขั้นสามารถที่จะฟังเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมนั้นเท่านั้น นี่เป็นความต่างกันของปัญญาว่าถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ฟังให้เข้าใจให้รู้ความจริงจนกระทั่งไม่ลืม จะรู้ได้เลยว่าผู้ที่ฟังธรรมฟังเข้าใจจริงแต่ลืม คือลืมรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทั้งๆ ที่ลักษณะก็ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง

        ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดคือรู้ตรงลักษณะซึ่งไม่มีชื่อ ลักษณะแข็งกำลังปรากฏ มีไหม ต้องเรียกชื่อหรือเปล่า มีชื่อหรือเปล่า เป็นธรรมที่มีลักษณะอย่างนั้น ใครเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้เลย และตามความเป็นจริงแข็งต้องเกิด ถ้าไม่เกิดแข็งปรากฏไม่ได้ และไม่ใช่มีแต่แข็ง ต้องมีกายปสาทที่กระทบแข็ง และไม่ใช่มีแต่เฉพาะกายปสาท และแข็ง ต้องมีจิตที่กำลังรู้แข็ง และจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมไม่ได้

        เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้นทั้งหมดเป็นความหมายของอายตนะ แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราไปจำชื่ออายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ แล้วก็นั่งจำ แต่ว่าขณะที่มีความเข้าใจจริงๆ ในสภาพธรรมที่ปรากฏ และรู้ว่าสิ่งนั้นทั้งหมดยังไม่ดับ ถ้าจิตเห็นดับ สีสันวัณณะปรากฏในวาระนั้นไม่ได้เลย แต่ว่าจิตเห็นจะเกิดเพียงขณะเดียวไม่ได้ ยังมีจิตอื่นๆ ซึ่งเกิดแล้วก็รู้สีแต่ว่าทำกิจหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นแต่ละอย่างๆ รวดเร็วสั้นมาก เล็กน้อยมาก ไม่ได้ปรากฏเหมือนอย่างความชอบหรือความไม่ชอบกุศล และอกุศล

        ด้วยเหตุนี้จึงมีความต่างของสภาพธรรมซึ่งเกิดสั้นเพียงหนึ่งขณะ กับสภาพธรรมซึ่งเกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ด้วยเหตุนี้ สภาพธรรมที่กระทำกิจอย่างนั้นก็เป็นกิจต่างกับกิจอื่น เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ยินคำว่าชวนะหรือจะได้ยินคำว่าอะไรก็ตาม ถ้ายังไม่เข้าใจก็กลับมาไตร่ตรองให้เข้าใจ ไม่ใช่เพียงจำชวนะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นกิริยาสำหรับพระอรหันต์ และก็โลกุตตรจิตทั้งหมดทำกิจชวนะ นั่นคือจำชื่อแต่ไม่ได้ไตร่ตรอง ไม่ได้พิจารณาถึงความต่างว่าชวนะเพราะอะไร ทำไมเป็นกิจชวนะ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 227


    หมายเลข 11190
    22 ม.ค. 2567