ล้างบาปด้วยการลงอาบน้ำได้หรือไม่ [ปุณณิกาเถรีคาถา]

 
khampan.a
วันที่  28 ก.ค. 2556
หมายเลข  23260
อ่าน  4,272

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔- หน้าที่ 341

ปุณณิกาเถรีคาถา

[๔๔๖] พระปุณณิกาเถรีได้กล่าวคาถาเหล่านี้เป็นอุทานว่า

ข้าพเจ้าถามพราหมณ์ว่า ข้าพเจ้าเป็นหญิงแบกหม้อน้ำ กลัวเจ้านายลงโทษ กลัววาจาและโทสะเจ้านายคุกคาม จึงลงตักน้ำเป็นประจำ แม้แต่ในหน้าหนาว ท่านพราหมณ์ ท่านกลัวอะไร จึงลงอาบน้ำทุกเมื่อ ท่านมีตัวสั่นเทา ประสบความหนาวเย็นอย่างหนัก

พราหมณ์ตอบว่า ดูกรแม่ปุณณิกาผู้เจริญ เจ้ารู้ว่าเรากำลังทำกุศลกรรมอันปิดเสียซึ่งบาปกรรม ยังจะสอบถามอยู่หรือหนอ ผู้ใดไม่ว่าแก่หรือหนุ่ม ประกอบกรรมที่เป็นบาป แต่ผู้นั้น ก็จะหลุดพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบน้ำ.

ข้าพเจ้า กล่าวว่า ใครหนอ ช่างไม่รู้ มาบอกแก่ท่าน ซึ่งก็ไม่รู้ว่า คนจะหลุดพ้นจากบาปกรรมได้เพราะการอาบน้ำ พวกกบ เต่า งู จระเข้ และสัตว์อื่นใดที่สัญจรอยู่ในน้ำ ทั้งหมด ก็คงจะพากันไปสวรรค์แน่แท้ คนฆ่าแพะ คนฆ่าสุกร คนฆ่าปลา คนล่าเนื้อ พวกโจร พวกเพชฌฆาต และทำบาปกรรมอื่นๆ แม้คนเหล่านั้น ก็จะหลุดพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการ อาบน้ำ ถ้าหากว่า แม่น้ำเหล่านี้จะพึงนำบาปที่ท่านทำมาแต่ก่อนไปได้ไซร้ แม่น้ำเหล่านี้ก็จะพึงนำทั้งบุญของท่านไปด้วย ท่านก็จะพึงห่างจากบุญนั้นไป.

ท่านพราหมณ์ ท่านกลัวบาปอันใด จึงลงอาบน้ำทุกเมื่อ ท่านพราหมณ์ ท่านก็อย่าทำบาปกรรมอันนั้น ขอความหนาวเย็นอย่าทำลายผิวท่านเลย.

พราหมณ์กล่าวว่า ท่านนำเราผู้เดินทางผิดมาสู่ทางถูก [อริยมรรค] แม่ปุณณิกาผู้เจริญ เราขอมอบผ้าสาฏกผืนนี้ให้ท่านเพื่อใช้อาบน้ำ.

ข้าพเจ้า กล่าวว่า ผ้าสาฎกผืนนี้จงเป็นของท่านเท่านั้นเถิด ข้าพเจ้า ไม่ต้องการผ้าสาฎกผืนนี้ดอก ถ้าท่านกลัวทุกข์ ถ้าทุกข์ไม่น่ารักสำหรับท่าน ท่านก็อย่าทำบาปกรรมทั้ง ในที่ลับ ทั้งในที่แจ้ง ก็หากว่าท่านจักกระทำหรือกำลังกระทำบาปกรรม ท่านถึงจะเหาะหนีไป ก็ไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย.

ถ้าท่านกลัวทุกข์ ถ้าทุกข์ไม่น่ารักสำหรับท่าน ท่านก็จงถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เช่นนั้นเป็นสรณะ จงสมาทานศีล ข้อนั้นก็จักเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นของท่าน.

พราหมณ์ กล่าวว่า แต่ก่อน เราเป็นเผ่าพันธุ์ของพรหม บัดนี้เราเป็นพราหมณ์จริง มีวิชชา ๓ ถึงพร้อมด้วยเวท เป็นโสตถิยะ ผู้อาบน้ำเสร็จแล้ว .

จบ ปุณณิกาเถรีคาถา

อรรถกถาปุณณาเถรีคาถา

ใน โสฬสกนิบาต คาถาว่า อุทหารี อห สีเต เป็นต้น เป็นคาถาของ พระปุณณาเถรี มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

พระเถรีแม้รูปนี้ ก็บำเพ็ญบารมีมาในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สร้างสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาในภพนั้นๆ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ก็บังเกิดในเรือนสกุล รู้เดียงสาแล้ว เกิดความสังเวช เพราะเป็นผู้พรักพร้อมด้วยเหตุสัมปทา ก็ไปสำนักภิกษุณีฟังธรรม ได้ศรัทธา แล้วบวชมีศีลบริสุทธิ์ เรียนพระไตรปิฎก เป็นพหูสูต ทรงธรรม และเป็นผู้กล่าวธรรม [ธรรมกถึก]. บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า สิขี เวสสภู กกุสันธะ โกนาคมนะ และกัสสปะ ก็เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นพหูสูต ทรงธรรม และเป็นผู้กล่าวธรรม [ธรรมกถึก] เหมือนครั้งบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ฉะนั้น. แต่เพราะเป็นคนเจ้ามานะ จึงไม่อาจตัดกิเลสให้ขาดได้ และเพราะกระทำกรรมโดยมีมานะเป็นสันดาน ในพุทธุปบาทกาลนี้ จึงบังเกิดในท้องของทาสีในเรือนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี. นางมีชื่อว่าปุณณา นางเป็นโสดาบัน ในเพราะพระธรรมเทศนาชื่อสีหนาทสูตร ทรมานพราหมณ์ที่ถือว่าบริสุทธิ์ด้วยการลงอาบน้ำ ท่านเศรษฐีสรรเสริญแล้ว ทำนางให้เป็นไทแก่ตัว อนุญาตให้นางบวชได้แล้วก็บวช เจริญกรรมฐาน ไม่นานนัก ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในคัมภีร์อปทานว่า

ข้าพเจ้าบวชเป็นภิกษุณี ในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่าวิปัสสี และของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี เวสสภู กกุสันธะ โกนาคมนะ และพระกัสสปะ ถึงพร้อมด้วยศีล มีปัญญารักษาตัว สำรวมอันทรีย์ เป็นพหูสูต ทรงธรรม สอบถามความแห่งธรรม เล่าเรียนฟังธรรมอย่างใกล้ชิด ข้าพเจ้าแสดงธรรมท่ามกลางหมู่ชน อยู่ในพระศาสนาของพระชินเจ้า ด้วยความเป็นพหูสูต ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงมีศีลเป็นที่รัก หากแต่ถือตัวจัด

มาในบัดนี้ ภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดในท้องทาสีผู้แบกหม้อน้ำ [กุมภทาสี] ในเรือนของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ราชธานีแห่งแคว้นโกศล.

ข้าพเจ้าเป็นหญิงแบกหม้อน้ำ ได้พบพราหมณ์โสตถิยะ กำลังหนาวสั่น อยู่กลางน้ำ ครั้นพบเขาแล้ว ได้กล่าวดังนี้ว่า

ข้าพเจ้าเป็นหญิงแบกหม้อน้ำ กลัวเจ้านายลงโทษ ถูกภัยคือวาจาและโทสะเจ้านายคุกคาม จึงลงตักน้ำทุก เมื่อ แม่แต่หน้าหนาว ท่านพราหมณ์ ท่านเล่า กลัวอะไร จึงลงน้ำทุกเมื่อ ตัวสั่นเทา ประสบความหนาวเย็นอย่างหนัก.

พราหมณ์กล่าวว่า ดูกร แม่ปุณณาผู้จำเริญ เจ้าเมื่อรู้ว่าเราผู้กระทำกุศลกรรม อันห้ามบาปที่ทำไว้แล้ว ยังจะสอบถามหรือหนอ ก็ผู้ใด ไม่ว่าเป็นคนแก่และคนหนุ่มประกอบบาปกรรมได้ ผู้นั้น ย่อมจะหลุดพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการลงอาบน้ำ.

ข้าพระองค์ได้บอกแก่พราหมณ์ผู้ขึ้นจากน้ำ ถึง บทอันประกอบด้วยธรรมและอรรถ พราหมณ์ฟังบทนั้นแล้ว ก็สลดใจด้วยดีออกบวช เป็นพระอรหันต์.

เมื่อใด ข้าพระองค์บำเพ็ญบารมีมา ๙๙ ชาติ เกิดในสกุลทาสี เมื่อนั้น บิดามารดาเหล่านั้น ได้ขนานนามข้าพระองค์ว่าปุณณา นำข้าพระองค์ให้เป็นไทแก่ตัว.

ต่อจากนั้น ข้าพระองค์ขออนุญาตท่านเศรษฐี ออกบวช เป็นผู้ไม่มีเรือน ไม่นานเลยก็ได้บรรลุพระอรหัต.

ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพระองค์เป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ ในทิพโสต ชำนาญเจโตปริยญาณ รู้ปุพเพนิวาสญาณ ชำระทิพโสตแล้ว เพราะหมดสิ้นอาสวะทุกอย่าง บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว.

ญาณในอรรถ ธรรม นิรุตติ ปฏิภาณ อันบริสุทธิ์ไร้มลทิน ของข้าพระองค์มีเพราะอานุภาพของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด.

ข้าพระองค์มีปัญญามาก เพราะภาวนา มีสุตะ [พหูสูต] เพราะสุตะ เกิดในตระกูลต่ำเพราะมานะ กรรมก็ยังไม่สุดสิ้น. กิเลสทั้งหลาย ข้าพระองค์ก็เผาเสียแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ทำเสร็จสิ้นแล้ว ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ก็พิจารณาทบทวนข้อปฏิบัติของตน ได้กล่าวคาถาเหล่านี้เป็นอุทานว่า

ข้าพระองค์ถามพราหมณ์ว่า ข้าพเจ้าเป็นหญิงแบกหม้อน้ำ กลัวเจ้านายลงโทษ กลัววาจาและโทสะเจ้านายคุกคาม จึงลงตักน้ำทุกเมื่อ แม้แต่หน้าหนาว. ท่านพราหมณ์ ท่านกลัวอะไร จึงลงอาบน้ำทุกเมื่อ ท่านมีตัวสั่นเทา ประสบความหนาวเย็นอย่างหนัก.

พราหมณ์ตอบว่า ดูก่อนแม่ปุณณาผู้จำเริญ เจ้ารู้ว่าเรากำลังทำกุศลธรรม อันปิดซึ่งบาปกรรม ยังจะสอบถามอยู่หรือ หนอ ก็ผู้ใดไม่ว่าแก่หรือหนุ่ม ประกอบกรรมที่เป็น บาป แม้ผู้นั้น ก็จะหลุดพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบน้ำ.

ข้าพเจ้ากล่าวว่า ใครหนอช่างไม่รู้มาบอกกับท่าน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าตนจะหลุดพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบน้ำ พวก กบ เต่า งู จระเข้ และสัตว์อื่นๆ ที่สัญจรอยู่ในน้ำทั้งหมด ก็คงจักพากันไปสวรรค์แน่แท้ คนฆ่าแพะ คนฆ่าสุกร คนฆ่าปลา คนล่าเนื้อ พวกโจร พวกเพชฌฆาต และคนทำบาปกรรมอื่นๆ แม้คนทั้งนั้น จะหลุดพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบน้ำ ถ้าหากว่า แม่น้ำเหล่านี้จะพึงนำบาปที่ท่านทำมาแต่ก่อน ไปได้ไซร้ แม่น้ำเหล่านี้ ก็จะพึงนำแม้บุญของท่าน ไปด้วย ท่านก็จะพึงเห็นห่างจากบุญนั้นไป.

ท่านพราหมณ์ ท่านกลัวบาปกรรมอันใด จึงลงอาบน้ำทุกเมื่อ ท่านพราหมณ์ ท่านก็อย่าทำบาปกรรม อันนั้น ขอความหนาวเย็นอย่าทำลายด้วยของท่านเลย.

พราหมณ์กล่าวว่า ท่านนำเราผู้เดินทางผิดมาสู่ทางถูก [อริยมรรค] แม่ปุณณาผู้จำเริญ เราขอมอบผ้าสาฎกนี้ให้ท่าน เพื่อใช้อาบน้ำ

ข้าพเจ้ากล่าวว่า ผ้าสาฎกนี้จงเป็นของท่านเถิด ข้าพเจ้าไม่ต้องการผู้สาฎกนี้ดอกจ้ะ ถ้าท่านกลัวทุกข์ ถ้าทุกข์ไม่น่ารัก สำหรับท่าน ท่านก็อย่าทำบาปกรรม ทั้งในที่ลับ ทั้งในที่แจ้ง ก็หากว่าท่านจักกระทำ หรือกำลังกระทำบาปกรรม ท่านถึงจะเหาะหนีไป ก็ไม่พ้นไปจากทุกข์ ได้เลย.

ถ้าท่านกลัวทุกข์ ถ้าทุกข์ไม่น่ารักสำหรับท่าน ท่านก็จงถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เช่นนั้นเป็นสรณะ จงสมาทานศีล ข้อนั้นก็จักเป็นไป เพื่อความหลุดพ้นของท่าน.

พราหมณ์กล่าวว่า แต่ก่อน เราเป็นเผ่าพันธุ์ของพรหม บัดนี้เรา เป็นพราหมณ์จริง มีวิชชา ๓ ถึงพร้อมด้วยเวท เป็นโสตถิยะ ผู้อาบน้ำเสร็จแล้ว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทหารี ได้แก่ ผู้นำน้ำมาด้วยหม้อ. บทว่า สทา อุทกโมตรึ ได้แก่ ลงตักน้ำทุกเมื่อ คือทั้งกลางคืนกลางวัน แม้แต่ในหน้าหนาว. อธิบายว่า เวลาใดๆ เจ้านายต้องการน้ำเวลานั้นๆ ข้าพเจ้าก็ต้องลงตักน้ำ ครั้นลงตักน้ำแล้ว ก็ต้องนำน้ำไปให้เขา. บทว่า อยฺยาน ทณฺฑภยภีตา ได้แก่ กลัวภัยคือการลงโทษของเจ้านาย. บทว่า วาจาโทสภยฏฏิตา ได้แก่ ถูกภัยคือการลงโทษทางวาจา [การด่าว่า] และภัยคือการลงโทษทางกาย [การโบย, ตี] คุกคาม คือบีบคั้น ประกอบความว่า ต้องลงตักน้ำ แม้แต่หน้าหนาว.

ต่อมาวันหนึ่ง นางปุณณาทาสีไปท่าน้ำเพื่อเอาหม้อนำน้ำมา ณ ที่นั้น ได้พบพราหมณ์ผู้หนึ่ง ซึ่งถือลัทธิว่าบริสุทธิ์ได้ด้วยการอาบน้ำ เมื่อความนาวเย็นกำลังเป็นไปอยู่ ในสมัยหิมะตก ลงน้ำแต่เช้าตรู่ ดำน้ำมิดศีรษะ ร่ายมนต์แล้วขึ้นจากน้ำ ผ้าเปียก ผมเปียก สั่นเท้า ฟันกระทบกันดังบรรเลงพิณ ฉะนั้น ครั้นเห็นแล้ว มีใจอันความกรุณากระตุ้นเตือนแล้ว หวังจะเปลื้องพราหมณ์นั้นให้พ้นจากทิฏฐินั้น จึงกล่าวคาถาว่า กสฺส พฺราหฺมณ ตฺว ภีโต เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กสฺส พฺราหฺมณ ตฺว ภีโต ความว่า ท่านพราหมณ์ ท่านกลัวแต่เหตุแห่งภัย ชื่อไรเล่า. บทว่า สทา อุทกโมตริ ได้แก่ลงน้ำทุกเวลา คือทั้งเช้าทั้งเย็น และครั้นลงแล้ว ก็มีตัว คือส่วนแห่งร่างกายหนาวสั่น คือสั่นเทิ้ม. บทว่า สีต เวทยเส ภุส ได้แก่ ประสบ คือเสวยทุกข์ เกิดแต่ความหนาวอย่างเหลือเกิน คือที่ทนได้ยาก.

บทว่า ชานนฺตี วต ม โภติ ความว่า ดูก่อนแม่ปุณณาผู้เจริญ ท่านก็รู้ว่า ด้วยการลงน้ำนี้ เรากำลังทำกุศลกรรม ที่จะปิด คือสามารถห้ามกันบาปกรรมที่สร้างสมไว้นั้นได้ ยังจะถามด้วยหรือหนอ.

พราหมณ์เมื่อแสดงว่า ความข้อนี้ปรากฏในโลกแล้ว มิใช่หรือ แม้อย่างนั้น เราก็จะบอกแก่ท่าน จึงกล่าวคาถาว่า โย จ วุทฺโฒ เป็นต้น.
คาถานั้นมีความว่า คนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าแก่ หนุ่ม หรือกลางคน ประกอบ คือกระทำเหลือเกิน ซึ่งบาปกรรม ต่างโดยปาณาติบาตกรรมเป็นต้น คนแม้นั้นยินดีนักในบาปกรรมอย่างหนัก ก็หลุดพ้น คือรอดพ้นโดยส่วนเดียว จากบาปกรรมนั้นได้ ด้วยการรดน้ำ คือด้วยการอาบน้ำ.

นางปุณณาฟังคำของพราหมณ์นั้น เมื่อจะให้คำตอบแก่พราหมณ์นั้น จึงกล่าวคาถาว่า โก นุ เต เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โก นุ เต อิทมกฺขาสิ อชานนฺตสฺส อชานโก ความว่า ใครหนอช่างไม่รู้ ช่างไม่เข้าใจ ช่างเขลา มาบอกแก่ท่านผู้ไม่รู้วิบากกรรม คือไม่รู้วิบากของกรรมทุกๆ ประการ ถึงความข้อนี้ว่า คนย่อมหลุดพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะเหตุที่รดน้ำ ผู้นั้นมีถ้อยคำที่เชื่อไม่ได้เลย อธิบายว่า คำนั้นไม่ถูกต้อง.

บัดนี้ นางปุณณาเมื่อชี้แจงถึงความไม่ถูกต้องนั้นแก่พราหมณ์นั้น จึงกล่าวคาถามีว่า สคฺค นูน คมิสฺสนฺติ เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาคา แปลว่า งู. บทว่า สุสุมารา แปลว่า จระเข้. บทว่า เย จญฺเ อุทเก จรา ความว่า สัตว์แม้เหล่าอื่นใด ที่หากินอยู่ในน้ำ มีปลา มังกร และปลาใหญ่นันทิยาวัตเป็นต้น สัตว์แม้เหล่านั้น เห็นทีจักไปสวรรค์ เข้าถึงเทวโลกกันแน่แท้ ถ้าจะหลุดพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะอาบน้ำ.

บทว่า โอรพฺภิกา แปลว่า คนฆ่าแพะ. บทว่า สูกริกา แปลว่า คนฆ่าสุกร. บทว่า มจฺฉิกา แปลว่า ชาวประมง. บทว่า มิคพนฺธกา แปลว่า พรานเนื้อ. บทว่า วชฺฌฆาตกา ได้แก่ คนมีหน้าที่ฆ่า.

บทว่า ปุญฺมฺปิมา วเหยฺยุ ความว่า ถ้าแม่น้ำเหล่านั้นมีแม่น้ำอจิรวดีเป็นต้น จะพึงนำไปคือนำออกไปซึ่งบาปที่ท่านทำมาแต่ก่อน ด้วยการลงอาบน้ำในแม่น้ำเหล่านั้น ฉันใดไซร้ แม่น้ำเหล่านั้นก็พึงนำคือลอยซึ่งบุญที่ท่านทำไว้แล้วก็ฉันนั้น ท่านก็พึงห่างจากบุญกรรมนั้น คือ เมื่อเป็นดังนั้น ท่านก็พึงห่างว่างเว้นจากบุญกรรมนั้น อธิบายว่า คำนั้นไม่ถูกต้อง หรือว่าการลอยบุญของคนที่ลงอาบน้ำย่อมมีไม่ได้ เพราะน้ำ ฉันใด แม้การลอยบาป ก็ย่อมมีไม่ได้ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุไร ก็เพราะการอาบน้ำ ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อเหตุแห่งบาปทั้งหลาย สภาพใดทำสิ่งใดให้พินาศไป สภาพนั้น ก็เป็นปฏิปักษ์ต่อสิ่งนั้น ความสว่างเป็นปฏิปักษ์ต่อความมืด วิชชาเป็นปฎิปักษ์ต่ออวิชชา ฉันใด การอาบน้ำก็ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อบาป ฉันนั้น เพราะฉะนั้น พึงได้ข้อยุติในเรื่องนี้ว่า หลุดพ้นจากบาปกรรม เพราะอาบน้ำไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

บุคคลย่อมสะอาดเพราะน้ำก็หามิได้ เพราะชน เป็นอันมาก เขาก็อาบน้ำกันในแม่น้ำนั้น สัจจะและธรรมะมีในผู้ใด ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้สะอาด และผู้นั้น ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ผู้ลอยบาป.

บัดนี้ นางปุณณาทาสี เพื่อแสดงว่า ก็ผิว่า ท่านต้องการจะลอยบาปไซร้ ท่านก็อย่าทำบาปทุกๆ ประการเลย จึงกล่าวคาถาว่า ยสฺส พฺราหฺมณ เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตเมว พฺรหฺเม มากาสิ ความว่า ท่านกลัวบาปใด ท่านพันธุ์พรหม คือท่านพราหมณ์ ท่านก็อย่าได้ทำบาปนั้นสิด้วยว่าการลงน้ำ ก็เบียดเบียนร่างกาย ในหน้าหนาวเช่นนี้ อย่างเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น นางปุณณาจึงกล่าวว่า ขอความหนาวอย่าทำร้ายผิวท่านเลย อธิบายว่า ความหนาวที่เกิดเพราะการอาบน้ำในหน้าหนาวเช่นนี้ อย่าพึงทำร้าย อย่าพึงเบียดเบียนผิวแห่งร่างกายท่านเลย. บทว่า กุมฺมคฺคปฏิปนฺน ได้แก่ เราผู้ดำเนินคือผู้ประคับประคองทางผิด คือถือเอาผิดๆ นี้. บทว่า อริยมคฺค สมานยิ ความว่า ท่านนำมาพร้อม คือน้อมนำมาโดยชอบสู่ทางที่พระอริยะทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงดำเนินมาแล้วนี้ว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้พรักพร้อม ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น แม่ปุณณาผู้เจริญ เราขอมอบผ้าสาฎกผืนนี้ ให้แก่ท่านด้วยความยินดี เป็นส่วนของการบูชาอาจารย์โปรดรับผ้าสากฎผืนนี้ไว้เถิด.

นางปุณณานั้น ปฏิเสธพราหมณ์นั้น แต่เพื่อจะกล่าวธรรม ทำพราหมณ์ให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีล จึงกล่าวว่า ผ้าสาฎกจงเป็นของท่านเท่านั้นเถิด ข้าพเจ้าไม่ต้องการผ้าสาฎกดอก ดังนี้แล้วกล่าวต่อไปว่า ถ้าท่านกลัวทุกข์ ดังนี้เป็นต้น คำนั้นมีความว่า ผิว่า ท่านกลัวทุกข์ต่างโดยความไม่ผาสุกและความมีโชคร้ายเป็นต้น ในอบายทั้งสิ้นและในสุคติ ผิว่า ทุกข์นั้น ไม่น่ารัก ไม่น่าปรารถนาสำหรับท่าน ท่านก็อย่าทำ อย่าประกอบกรรมชั่วทราม แม้ประมาณเล็กน้อย โดยกรรมมีปาณาติบาตเป็นต้น ทางกายวาจา ในที่แจ้งคือทำเปิดเผยโดยปรากฏแก่คนเหล่าอื่น หรือโดยมโนกรรมมีอภิชฌาเป็นต้น ในมโนทวารอย่างเดียว ในที่ลับ คือทำปกปิด โดยไม่ปรากฏ ก็ถ้าหากท่านจักกระทำบาปกรรมนั้นในอนาคตหรือกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ท่านแม้จะจงใจ เจตนาหนีไปเสีย ด้วยประสงค์ว่า เมื่อเราหนีไปทางโน้นทางนี้ ทุกข์อันเป็นผลของกรรมนั้น ก็ติดตามไปไม่ได้ในอบาย ๔ มีนรกเป็นต้นและในมนุษย์ ดังนี้ จะชื่อว่าหลุดพ้นจากบาปนั้นก็หาไม่ อธิบายว่า เมื่อปัจจัยอันมีคติและกาลเป็นต้นยังประชุมกันอยู่ กรรมก็ย่อมจะให้ผลได้ทั้งนั้น บาลีว่า อุปจฺจ ก็มี ความว่าเหาะไป. นางปุณณาครั้นแสดงความไม่มีทุกข์ เพราะไม่ทำบาปอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะแสดงเพราะการทำบุญบ้างจึงกล่าวว่า สเจ ภายสิ เป็นต้น บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตาทิน ได้แก่ ผู้ถึงความเป็นผู้คงที่ในอารมณ์ที่เห็นแล้วเป็นต้น หรือประกอบความว่า ท่านจงเข้าถึงพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นสรณะ เพราะเป็นผู้ที่ท่านพึงเห็นเหมือนอย่างผู้คงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ที่ท่านพึงเห็น แม้ในพระธรรมและพระสงฆ์ ก็นัยนี้เหมือนกัน ประกอบความว่า จงเข้าถึงพระธรรมของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเช่นนั้น ถึงหมู่คือกลุ่มของพระอริยบุคคล ๘ เป็นสรณะ .
บทว่า ต ได้แก่ การถึงสรณะ และการสมาทานศีล. บทว่า เหหิติ แปลว่า จักเป็น.

พราหมณ์นั้นตั้งอยู่ในสรณะและศีลแล้ว ต่อมา ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาแล้วได้ศรัทธา ก็บวชพากเพียรพยายามอยู่ ไม่นานนัก ก็เป็นผู้มีวิชชา ๓ พิจารณาทบทวนข้อปฏิบัติของตน เมื่อจะอุทานจึงกล่าวคาถาว่า พฺรหฺมพนฺธุ เป็นต้น.

คาถานั้นมีความว่า แต่ก่อน ข้าพเจ้ามีชื่อว่า พรหมพันธุ์ เผ่าพันธุ์พรหม โดยเหตุเพียงเกิดในสกุลพราหมณ์ ข้าพเจ้า เป็นผู้มีไตรเพทถึงพร้อมด้วยเวท ชื่อว่า เป็นพราหมณ์ผู้อาบน้ำเสร็จแล้ว โดยเหตุเพียงเรียนเป็นต้นซึ่งไตรเพทมีอิรุพเพทเป็นอาทิ ก็อย่างนั้น บัดนี้ ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์จริง คือเป็นพราหมณ์โดยปรมัตถ์ เพราะลอยบาปได้โดยประการทั้งปวงชื่อว่า เตวิชชา เพราะบรรลุวิชชา ๓ ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยเวท เพราะประกอบด้วยเวท กล่าวคือมรรคญาณ และชื่อว่าอาบน้ำเสร็จแล้ว เพราะถอนบาปได้หมด แม้คาถาที่พราหมณ์กล่าวไว้ในเรื่องนี้ ภายหลัง พระเถรีก็กล่าวไว้เฉพาะดังนั้น จึงชื่อว่าคาถาของพระเถรีทั้งหมดแล.

จบ อรรถกถาปุณณาเถรีคาถา.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 19 พ.ค. 2557

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนา กุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
swanjariya
วันที่ 26 พ.ค. 2557

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 17 ส.ค. 2557

ขอพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pichet
วันที่ 13 ก.ค. 2558

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
มกร
วันที่ 5 ต.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ไม่รักในฐานะที่ควรจะรัก
วันที่ 1 ก.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ