เวทนาเกิดขณะปฏิบัติธรรม ควรทำอย่างไร

 
สติปัฏฐานสี่
วันที่  12 มี.ค. 2549
หมายเลข  904
อ่าน  1,500

เมื่อผู้ปฏิบัติได้กำหนดระยะเวลาหนึ่งในการปฏิบัติ การเดิน การนั่ง เช่น 30 นาทีหรือ1ชั่วโมงเวทนาเกิด ขณะปฏิบัติธรรมควรทำอย่างไร ช่วยบอกแนวทางการปฏิบัติธรรมที่ชัดเจนด้วยนะครับ อยากทราบแนวทางที่คุณปฏิบัติกัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 12 มี.ค. 2549

ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานพระพุทธองค์แสดงว่า เมื่อเสวยสุขเวทนาก็รู้ชัดว่าเสวยสุขเวทนาเมื่อเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่าเสวยทุกขเวทนา ฯลฯ แนวทางที่มูลนิธิเผยแพร่อยู่ คือ ศึกษาพระธรรมคำสอนให้เข้าใจก่อน และเป็นผู้มีปรกติอบรมเจริญกุศลทุกประการ การศึกษาไม่ใช่เพียงอยู่ในตำราเท่านั้น คือ ศึกษา ค่อยๆ เข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏทวารทั้ง ๖ ตามความเป็นจริง ว่าเป็นเพียงสภาวธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น (เจริญสติปัฏฐาน) และมีการดำเนินชีวิตเป็นปรกติแต่อบรม ความรู้ ความเห็นถูก คือสัมมาทิฏฐิให้มากขึ้น ควรทราบว่า การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ใช่การนั่งสมาธิ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 12 มี.ค. 2549
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
สติปัฏฐานสี่
วันที่ 12 มี.ค. 2549

ขอบพระคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kchat
วันที่ 14 มี.ค. 2549

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 422

จากข้อความบางส่วนในอรรถกถา บทว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน ได้แก่ ปฏิบัติมีข้อความดังนี้

"................................................... ส่วนอุบาสกปฏิบัติให้สมบูรณ์ในสรณะ ๓ศีล ๕ ศีล ๑๐ รักษาอุโบสถเดือนละ ๘ ครั้ง ถวายทาน บูชาด้วยของหอมบูชาด้วยมาลา บำรุงมารดาบิดา บำรุงสมณพราหมณ์ อุบาสกผู้นี้ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แม้ในอุบาสิกา ก็นัยนี้เหมือนกัน."

จากข้อความข้างต้นนี้ การปฏิบัติธรรม คงจะมีหลายระดับใช่ไหมครับ และการกำหนดว่า จะนั่ง จะเดิน นานเท่าไร จะเป็นวิธีหนึ่งของการปฏิบัติธรรมหรือไม่ และอุบาสกปฏิบัติให้สมบูรณ์ในสรณะ ๓ หมายความว่าอย่างไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
study
วันที่ 14 มี.ค. 2549

การปฏิบัติธรรม คือ การประพฤติตามคำสอนทุกระดับ คือ ตั้งแต่การขัดเกลากิเลสด้วยการเสียสละให้ทานเพื่อบูชาคุณของผู้มีคุณ การสละเวลาช่วยเหลือกิจการงานของผู้อื่น การปรนนิบัติผู้มีอุปการะคุณการรักษาศีลทุกระดับการเจริญสมถภาวนาและการเจริญวิปัสสนาภาวนา สำหรับเรื่องอิริยาบถและเวลาไม่ใช่วิธีการปฏิบัติธรรม อยู่ที่สภาพจิตเป็นสำคัญ การปฏิบัติให้สมบูรณ์ในสรณะ ๓ หมายถึง การแสดงความเคารพนอบน้อมบูชาในพระรัตนตรัย คือ เป็นผู้ที่เคารพใน พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และประพฤติปฏิบัติตามคำสอนไม่นับถือสิ่งอื่นยิ่งกว่าพระรัตนตรัย ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
สติปัฏฐานสี่
วันที่ 14 มี.ค. 2549

ขอบพระคุณมากครับ ที่ทาง มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา แสดงข้อธรรม และทางคุณ kchat ช่วยเสนอคำถามเกี่ยวกับเรื่องของเวลา ทำให้เกล้ากระผมมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นนะขอรับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ