ผลแห่งการกางฉัตรถวายพระพุทธเจ้า [อานันทเถราปทาน]

 
Idoitforyou
วันที่  12 มี.ค. 2551
หมายเลข  7845
อ่าน  1,142

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้าที่ 649

อานันทเถราปทานที่ ๑๒ (๑๐)

ว่าด้วยผลแห่งการกางฉัตรถวายพระพุทธเจ้า

พระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จออกจากประตู

พระอารามแล้ว ทรงเมล็ดฝนอมฤตให้ตก ยังมหาชนให้เย็น

สบาย.

พระขีณาสพผู้เป็นนักปราชญ์เหล่านั้น ประมาณหนึ่งแสน

ได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก แวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดุจพระฉายาตามพระองค์ไปฉะนั้น.

เวลานั้น เราอยู่บนคอช้าง กั้นฉัตรขาวอันประเสริฐ ปีติ

เกิดแก่เรา เพราะได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าผู้มีพระรูปโฉมงาม.

เราลงจากคอช้างแล้วเข้าไปเฝ้าพระนราสภ ได้กั้นฉัตร

แก้วของเราถวายแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด.

พระมหาฤๅษีพระนามว่าปทุมุตตระ. ทรงทราบความ ดำริของเราแล้ว ทรงหยุดกถานั้นไว้ แล้วตรัสพระคาถา เหล่านี้ว่า

ผู้ใดได้กั้นฉัตรอันประดับด้วยเครื่องอลังการทอง เรา จักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว

บุรุษผู้นี้ไปจากมนุษยโลกแล้ว จักครอบครองภพดุสิต จักเสวยสมบัติ มีนางอัปสรทั้งหลายแวดล้อม.

จักเสวยเทวราชสมบัติ ๓๔ ครั้ง จักเป็นอธิบดีแห่งชน

ครอบครองแผ่นดิน ๘๐๐ ครั้ง จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๘

ครั้ง จักเสวยราชสมบัติในประเทศราชอันไพบูลย์ในแผ่นดิน.

ในแสนกัป พระศาสดาพระนามว่าโคดมโดยพระโคตร

ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก

ผู้นี้จักเป็นโอรสแห่งพระญาติของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นธงชัยแห่ง

สกุลศากยะ จักรได้เป็นพุทธอุปัฏฐาก มีนามชื่อว่า อานนท์

จักมีความเพียร ประกอบด้วยปัญญา ฉลาดในพาหุสัจจะ มี

ความประพฤติอ่อนน้อม ไม่กระด้าง ชำนาญในบาลีทั้งปวง.

พระอานนท์นั้น มีจิตส่งไปเพื่อความเพียร สงบระงับ

ไม่มีอุปธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะนิพพาน.

มีช้างกุญชรอยู่ในป่าอายุ ๖๐ ปี ตกมัน ๓ แห่ง (คือที่

ตา หู และอัณฑะ) เกิดในตระกูลช้างมาตังคะ มีงางอนงาม

ควรเป็นราชพาหนะ ฉันใด แม้บัณฑิตทั้งหลาย ก็ฉันนั้น

ประมาณได้หลายแสน มีฤทธิ์มาก บัณฑิตทั้งหมดนั้นของ

พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด เป็นผู้ไม่มีกิเลส.

เรานมัสการอยู่ทั้งในยามต้น ในยามกลาง และในยาม

สุดท้าย เรามีจิตเลื่อมใส ปลื้มใจ บำรุงพระพุทธเจ้าผู้

ประเสริฐสุด เรามีความเพียร ประกอบด้วยปัญญา มีสติ

สัมปชัญญะ บรรลุโสดาปัตติผล ฉลาดในเสขภูมิ.

ในแสนกัปแต่กัปนี้ เราก่อสร้างกรรมใดไว้ เราได้บรรลุ

ถึงภูมิแห่งกรรมนั้นแล้ว ศรัทธาตั้งมั่นแล้วมีผลมาก การมา

ในสำนักพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดของเรา เป็นการมาดีแล้ว

หนอ วิชชา ๓ เราบรรลุแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เรา

ทำเสร็จแล้ว.

คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และ

อภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เรา

ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล.

ทราบว่า ท่านพระอานนทเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้

ด้วยประการฉะนี้แล.

จบอานันทเถราปทาน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Sam
วันที่ 12 มี.ค. 2551

ท่านพระอานนท์เป็นผู้เลิศในด้านพหูสูตร ในอรรถกถาทุติยอุรุเวลสูตร มีข้อความเกี่ยวกับการ

เป็นผู้มีสุตะมาก เป็นผู้รองรับสุตะไว้ได้ เป็นผู้สั่งสมสุตะ การทรงจำได้คล่องแคล่ว การสาธยาย

ด้วยวาจาได้ ฯลฯ เชิญศึกษาโดยตรงครับ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 62-63 ข้อความตอนหนึ่งจาก อรรถกถาทุตยอุรุเวลสูตร บทว่า ปณฺฑิโต เถโรเตฺวว สงฺขฺยํ คจฺฉติ ความว่า นับได้ว่า บัณฑิต เพราะประกอบด้วยความฉลาด ว่าเถระเพราะถึงความเป็นผู้มั่นคง.บทว่า พหุสฺสุโต โหติ ความว่า ภิกษุนั้นมีสุตะมาก อธิบายว่า นวังค-สัตถุศาสน์ เป็นอันภิกษุนั้นเรียนแล้ว ด้วยสามารถเบื้องต้น และเบื้องปลายแห่งบาลีและอนุสนธิ. บทว่า สุตธโร ได้แก่ เป็นผู้รองรับสุตะไว้ได้.จริงอยู่ พระพุทธวจนะอันภิกษุใดเรียนแต่บาลีประเทศนี้ เลือนหายไปจากบาลีประเทศนี้ ไม่คงอยู่ ดุจน้ำในหม้อทะลุ เธอไม่สามารถจะกล่าวหรือบอกสูตรหรือชาดกอย่างหนึ่ง ในท่ามกลางบริษัทได้ ภิกษุนี้หาชื่อว่า ผู้ทรงสุตะไม่.ส่วนพระพุทธวจนะ อันภิกษุใดเรียนแล้ว ย่อมเป็นอย่างเวลาที่ตนเรียนมาแล้วนั่นแหละ เมื่อเธอไม่ทำการสาธยาย ตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็ไม่เลือนหายภิกษุนี้ ชื่อว่า ผู้ทรงสุตะ. บทว่า สุตสนฺนิจโย ได้แก่ ผู้สั่งสมสุตะ.ก็สุตะอันภิกษุใดสั่งสมไว้ในตู้คือหทัย ย่อมคงอยู่ดุจรอยจารึกที่ศิลา และดุจมันเหลวราชสีห์ที่เขาใส่ไว้ในหม้อทองคำ ภิกษุนี้ ชื่อว่า สั่งสมสุตะ. บทว่าธตา คือ ทรงจำได้ได้คล่องแคล่ว. จริงอยู่ พระพุทธวจนะอันภิกษุบางรูปเรียนแล้วไม่ทรงจำให้คล่องแคล่ว ไม่หนักแน่น เมื่อถูกเขาพูดว่า ท่านโปรดกล่าวสูตรหรือชาดกโน้นดังนี้ เธอก็กล่าวว่า เราจักสาธยายเทียบเคียง สอบสวนก่อนแล้ว จึงค่อยรู้ พระพุทธวจนะที่ภิกษุบางรูปทรงจำคล่องแคล่วเป็นเสมือนภวังคโสต. เมื่อถูกเขาพูดว่า ท่านโปรดกล่าวสูตรหรือชาดกโน้น ดังนี้ เธอจะยกขึ้นกล่าวสูตรหรือชาดกนั้นได้ทันที. ตรัสว่าธตาทรงหมายถึงข้อนั้น. บทว่าวจสา ปริจิตา ได้แก่ สาธยายด้วยวาจาได้สูตร ๑๐ หมวด วรรค ๑๐ หมวด๕๐ หมวด. บทว่า มนสานุเปกฺขิตา ได้แก่ เพ่งด้วยจิต. พระพุทธวจนะที่ภิกษุใดสาธยายแล้วด้วยวาจา ปรากฏชัดในที่นั้นๆ แก่เธอผู้คิดอยู่ด้วยใจเหมือนรูปปรากฏชัด แก่บุคคลผู้ยืนตามประทีปดวงใหญ่ ฉะนั้น. ทรงหมายเอาพุทธวจนะของภิกษุนั้นจึงตรัสคำนี้. บทว่า ทิฏฺ€ิยา สุปฺปฏิวิทฺธา ได้แก่ ใช้ปัญญาขบทะลุปรุโปร่ง ทั้งเหตุทั้งผล.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 12 มี.ค. 2551

ท่านพระอานนท์เป็นเอตทัคคะ ผู้เลิศ 5 อย่าง

1. เป็นพหูสูตร

2. มีสติ ทรงจำธรรมะได้มาก

3. มีคติ เช่น ธรรมะบท 1 จำแนกได้หลายนัย

4. มีฐิติ คือความเพียร

5. เป็นยอดอุปัฏฐาก

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ajarnkruo
วันที่ 12 มี.ค. 2551

ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระอานนทเถระผู้ได้กระทำคุณอันยิ่งในพระศาสนาของพระสมณโคดมพระองค์นั้น...อนุโมทนาครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
suwit02
วันที่ 12 มี.ค. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
opanayigo
วันที่ 4 มี.ค. 2552

อนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ