คำอธิบายอุปมาวิถีจิตทางปัญจทวาร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ก.พ. 2551
หมายเลข  7595
อ่าน  1,387

มีคำอธิบายว่า ข้อเปรียบเทียบนั้นแสดงเนื้อความอะไรแสดงเนื้อความว่า

อารมณ์มีกิจ คือ หน้าที่เพียงกระทบปสาทเท่านั้น คนบ้านนอกไม่ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน แต่เครื่องราชบรรณาการส่งต่อจากคนที่หนึ่งสอง สาม แล้วจึงถึงพระราชาและจักขุวิญญาณจิตเท่านั้นที่กระทำกิจเห็นอารมณ์ที่กระทบทวาร อารมณ์สามารถเพียงกระทบปสาทรูปเท่านั้น แต่ว่าจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์สืบต่อกันโดยอารมณ์ไม่ได้ข้ามพ้น
หรือล่วงล้ำปสาทเข้าไปสู่ที่อื่นเลย

เมื่อพิจารณาคำอุปมานี้ก็เข้าใจการเปรียบวิถีจิตที่เกิดขึ้น ทำกิจแต่ละขณะว่า จักขุวิญญาณจิตกระทำกิจเห็นที่จักขุปสาทรูปซึ่งเป็นจักขุทวาร เหมือนนายทวารที่เปิดประตูดูที่ทวาร สัมปฏิจฉันนะเป็นทหารยามคนที่หนึ่งที่รับเครื่องราชบรรณการส่งให้คนที่สอง เพราะเมื่อจักขุวิญญาณจิตกระทำกิจเห็นแล้วก็ดับไป จักขุวิญญาณจิตจะกระทำกิจรับอารมณ์อย่างสัมปฏิจฉันนะไม่ได้ เพราะว่าจักขุวิญญาณกระทำทัสสนกิจได้อย่างเดียว คือ เห็นที่ทวารคือที่ปสาทรูปเท่านั้น แต่สัมปฏิจฉันนจิตเป็นดุจทหารยามคนที่หนึ่งที่ทำกิจรับอารมณ์ แล้วส่งให้ทหารยามคนที่สองคือสันตีรณะ ซึ่งพิจารณาอารมณ์ แล้วส่งต่อให้โวฏฐัพพนจิตตัดสิน แล้วส่งต่อให้พระราชาคือชวนวิถีจิตทำกิจเสวย คือ เสพเครื่องราชบรรณาการนั้น

ฉะนั้น ที่ใช้คำว่า เสพหรือเสวย ก็เพื่อให้เข้าใจจริงๆ ในลักษณะของกุศลจิต หรืออกุศลจิตที่กระทำชวนกิจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ชวนวิถีจิตเป็นจิตที่เสพอารมณ์ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรือด้วยกุศล หรือด้วยกิริยาจิตของพระอรหันต์ ชวนจิตกระทำกิจแล่นไปในอารมณ์โดยไม่ใช่เห็น ไม่ใช่รับ ไม่ใช่พิจารณา ไม่ใช่ตัดสิน เพราะจิตที่เกิดก่อนได้กระทำกิจเหล่านั้นไปหมดแล้ว จึงเป็นปัจจัยให้กุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือกิริยาจิตเกิดขึ้นเสพ คือ แล่นไปในอารมณ์นั้นถึง ๗ ขณะ ชวนวิถีจิตจึงเป็นวิถีจิตที่เสพอารมณ์จริงๆ ถ้าเป็นโมฆวาระ แม้เสียงกระทบโสตปสาทแต่ก็ไม่ได้ยิน หรือถ้าเป็นโวฏฐัพพนวาระ กุศลจิต อกุศลจิต กิริยาจิตก็ไม่เกิด จะเสพอารมณ์นั้นได้ไหม ในเมื่อชวนวิถีจิตไม่เกิด แต่เมื่อชวนวิถีจิตเกิดจึงเสพอารมณ์นั้นโดยเป็นจิตประเภทเดียวกันเกิดดับสืบต่อซ้ำกันถึง ๗ ขณะ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลชวนวิถีจิตหรืออกุศลชวนวิถีจิตหรือกิริยาชวนวิถีจิต

ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 5 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ