เหตุใดความโกรธ โลภ หลง จึงไม่สิ้นไป

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ธ.ค. 2550
หมายเลข  6532
อ่าน  1,887

พระอริยบุคคลที่ละสักกายทิฏฐิได้แล้ว คือละความเห็นผิดเป็นตัวตนได้แล้ว ความสงสัยและความงมงายก็ย่อมหมดไป เหตุใดความโกรธ โลภ หลง ซึ่งตามธรรมดาก็ต้องติดตามตัวตนอยู่จึงไม่สิ้นไปด้วย

ที่คิดอย่างนี้ ก็เพราะไม่ทราบว่า กิเลสนั้นมีมากมายลึกและเหนียวแน่นเพียงใด เมื่อประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลาย ที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น ไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะยังมีกิเลสอื่นเหลืออยู่ ยังต้องดับกิเลสอื่นต่อไปอีก จนกว่าจะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์

การที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา จนเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้นนั้น แสดงให้เห็นถึงความหนาและความเหนียวของกิเลสที่สะสมไว้มากมายทีเดียว ซึ่งปุถุชน คือคนที่มีกิเลสหนาเหนียวแน่นเพียงนี้ จะเป็นพระอริยบุคคลได้ ต้องอบรมเจริญปัญญาอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงขั้นฟังหรือศึกษา แต่ต้องถึงขั้นอบรมเจริญสติปัฎฐานซึ่งเป็นทางเอก คือเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงได้

จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความรู้สึกแต่ละชนิดที่เกิดร่วมกับจิตแต่ละขณะนั้น ก็เกิดดับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ความสุข ความทุกข์เมื่อกี้นี้เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป แต่ไม่ประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมแต่ละขณะนั้นเลย โดยการศึกษาจึงรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ไม่ประจักษ์ลักษณะของจิตที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับจริงๆ ขณะนี้

มีหนทางใดไหม ที่จะทำให้ปุถุชนเป็นพระอริยเจ้าได้ โดยประจักษ์ลักษณะของจิตและสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว อย่าคิดว่าไม่มีหนทาง อย่าเพิ่งหมดหวัง อย่าเพิ่งท้อถอย ถึงแม้ว่าจะเป็นทางไกลสักเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อเริ่มอบรมเจริญ เริ่มก้าวไปทีละเล็กทีละน้อยก็ย่อมโน้มไปถึงนิพพาน โอนไปสู่นิพพาน

การไปถึง นิพพาน คือประจักษ์ลักษณะของนิพพานนั้น ไม่ใช่ว่าจะถึงได้ทันที แต่ต้องอบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ เสียก่อน แล้วจึงจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ละสักกายทิฏฐิที่เห็นผิดยึดถือนามธรรมและรูปธรรม ว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท เป็นพระโสดาบันบุคคล แต่กิเลสอื่นก็ยังดับไม่ได้ จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญา บรรลุคุณธรรมขั้นต่อๆ ไป จนบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์จึงดับกิเลสได้หมดสิ้น ไม่มีกิเลสใดเหลืออยู่เลย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
taweesup
วันที่ 23 ม.ค. 2551

พิจารณาบทความนี้แล้วรู้สึกสบายใจ ที่"บ้านธัมมะ" ใช้ภาษาแบบคนคุยกัน และมีพื้นฐานการศึกษา การปฏิบัติในระดับหนึ่ง ผมมีความรู้สึกว่าพระทธศาสนา เป็นพุทธศาสตร์ คือวิชาของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นศาสนาแห่งผู้มีปัญญา คงมิใช่มานั่งถกเถียงเอาผิดเอาถูก ถึงขั้นเปิดตำราตอบ (ยึดตำราเป็นสรณะ) ขอให้เป้าหมายทั้งผู้ถามผู้ตอบ เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ส่วนการเดินทางเป็นหน้าที่ของบุคคลนั้นๆ ในความเห็นของผม คิดว่าความเห็นแย้งก่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ การก่อให้เกิดอารมณ์โทสะกรณีความเห็นต่างกัน ถ้าใครทำใจได้ก่อนถือเสียว่าเป็นการสอบอารมณ์ในขีวิตจริง เพื่อทดสอบภาคปฏิบัติว่ามั่นคงแค่ไหน สอบไม่ผ่านก็ลงสนามฝึกต่อไป ไม่ท้อใจถอดใจ ไม่ช้าไม่นานคงสอบผ่านแน่นอน ผมคงมีโอกาสติดตาม "บ้านธัมมะ" และแสดงข้อคิดเห็นเท่าที่สติปัญญาพึงมีครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
webdh
วันที่ 24 ม.ค. 2551

พระพุทธดำรัสที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นตถาคต หมายถึง การเห็นธรรมรู้แจ้งธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้คือ โลกุตตรธรรม ๙ ขั้นปฏิเวธ เป็นผลของการเจริญธรรมขั้นปฏิบัติ การเจริญธรรมขั้นปฏิบัติต้องอาศัยปริยัติ ด้วยเหตุนี้ปริยัติคือ การศึกษาพระธรรมวินัยจึงเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นทางนำไปสู่พระพุทธศาสนาขั้นปฏิบัติและขั้นปฏิเวธเป็นลำดับไป พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคคือ พระธรรมวินัย มีสืบต่อกันมาอย่างสมบูรณ์ใน พระไตรปิฏก ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

ดาวน์โหลดหนังสือ -->

ปรมัตถธรรมสังเขป

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
webdh
วันที่ 24 ม.ค. 2551

ในอดีตสมัย ณ สาลวันอันเป็นที่แวะพักแห่งพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพาน ระหว่างไม้สาละคู่ หมดโอกาสที่สัตวโลกจะได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์อีกต่อไป พระผู้มีพระภาคประทานพระธรรมวินัยที่ทรงแสดงแล้ว ไว้เป็นศาสดาแทนพระองค์เมื่อทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พุทธบริษัทย่อมถวายความนอบน้อมสักการะพระธรรมอันประเสริฐสุดของพระผู้มีพระภาค ตามความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัย

แม้ผู้ใดเห็นพระวรกายของพระองค์ ได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์ หรือแม้ได้จับชายสังฆาฏิติดตามพระองค์ไปแต่ไม่รู้ธรรม ไม่เป็นธรรม ผู้นั้นก็หาได้เห็นพระองค์ไม่ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นได้ชื่อว่าย่อมเห็นตถาคต

พระพุทธศาสนา คือ พระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มี ๓ ขั้น

๑.ขั้นปริยัติ ศึกษาพระธรรมวินัย

๒.ขั้นปฏิบัติ เจริญธรรมเพื่อบรรลุธรรมที่ดับกิเลสดับทุกข์

๓.ขั้นปฏิเวธ รู้แจ้งธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์

ดาวน์โหลดหนังสือ -->

ปรมัตถธรรมสังเขป

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wirat.k
วันที่ 27 ม.ค. 2551

พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าอารมณ์ คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ต้องไปสอบที่ไหนด้วยเหรอครับ เพราะจิตเกิดดับและรู้อารมณ์อยู่ทุกขณะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 21 เม.ย. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ