กสิณ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 พ.ย. 2550
หมายเลข  5689
อ่าน  2,865

กสิณ

ทั้งสิ้น ทั้งปวง หมายถึง อารมณ์ของสมถภาวนา ๑๐ อย่าง ในบรรดาอารมณ์ ๔๐ ได้แก่ปฐวีกสิณ (ดิน) อาโปกสิณ (น้ำ) เตโชกสิณ (ไฟ) วาโยกสิณ (ลม) โลหิตกสิณ (สีแดง) นิลกสิณ (สีเขียว) ปีตกสิณ (สีเหลือง) โอทาตกสิณ (สีขาว) อาโลกกสิณ (แสงสว่าง) อากาสกสิณ (ช่องว่าง)

กสิณ เป็นการอบรมจิตใจให้สงบจากกิเลส โดยการพิจารณากสิณดิน เป็นต้น โดยความเป็นดินทั้งปวง และถ้ารู้ความจริงว่าสรรพสิ่งทั้งปวงเป็นเพียงธาตุดินเท่านั้น ความแก่งแย่ง ความชิงดีชิงเด่น ความริษยาอาฆาต ความโลภ โกรธหลง ก็ย่อมจะเบาบางลงและสงบไปได้

กสิณ เป็นอารมณ์ที่สามารถเป็นปัจจัยให้จิตสงบจากนิวรณ์ เป็นอัปปนาสมาธิจนถึงฌานจิตที่ ๕ (โดยปัญจกนัย) แต่ถ้าไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของฌานจิต ซึ่งเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ก็ยังไม่ใช่หนทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง เพื่อความพ้นจากทุกข์ทั้งปวง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 พ.ย. 2550

อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ภัพพสูตร ข้อ ๓๕๗ และอาวรณตาสูตร ข้อ ๓๕๘

ลิ้มรส รู้โผฎฐัพพะ และคิดนึกได้อย่างไร มิฉะนั้นกุศลจิตก็เกิดไม่ได้ จิตที่สงบจากอกุศลเป็นสมถภาวนานั้น ต้องเป็นกุศลจิตในอารมณ์ ๔๐ อารมณ์ คือ กสิณ ๑๐ อสุภ๑๐ อนุสสติ ๑๐ อาหาเรปฎิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฎฐาน ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูปฌานอารมณ์ ๔

กสิณ ๑๐ ชื่อว่า กสิณ เพราะอรรถว่า ทำอารมณ์ทั้งสิ้น กสิณ ๑๐ ได้แก่

๑.ปถวีกสิณ ระลึกถึงแต่ดินเท่านั้น

๒.อาโปกสิณ ระลึกถึงแต่น้ำเท่านั้น

๓.เตโชกสิณ ระลึกถึงแต่ไฟเท่านั้น

๔.วาโยกสิณ ระลึกถึงแต่ลมเท่านั้น

๕.นีลกสิณ ระลึกถึงแต่สีเขียวเท่านั้น

๖.ปีกสิณ ระลึกถึงแต่สีเหลืองเท่านั้น

๗.โลหิตกสิณ ระลึกถึงแต่สีแดงเท่านั้น

๘.โอทาตกสิณ ระลึกถึงแต่สีขาวเท่านั้น

๙.อาโลกกสิณ ระลึกถึงแต่แสงสว่างเท่านั้น

๑๐.อากาสกสิณ ระลึกถึงแต่อากาศเท่านั้น

...จากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป หน้า ๗-๘

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 พ.ย. 2550

จิตที่ระลึกถึงแต่ดินเป็นกุศลเป็นอกุศล เมื่อปัญญาไม่เกิดขณะที่คิดถึงดินก็เป็นอกุศลที่ต้องการคิดถึงดิน หรือต้องการจดจ้องที่ดิน เมื่อปัญญาเกิด จิตที่ระลึกถึงดินก็เป็นกุศล เมื่อรู้ว่ารูปทุกอย่างที่ปรากฏปราศจากธาตุดินไม่ได้ สิ่งที่เคยพอใจปรารถนาต้องการทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น ล้วนเป็นแต่เพียงดินเท่านั้น

เมื่อรู้ถึงแก่นแท้ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกที่เคยพอใจปรารถนาว่าเป็นแต่เพียงดิน ก็ทำให้ละคลายความพอใจในสิ่งทั้งหลายได้ในขณะที่ระลึกรู้ว่าเป็นเพียงดินเท่านั้น การที่จิตจะเป็นกุศลระลึกถึงแต่ดินนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะเมื่ออารมณ์กระทบตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจก็คล้อยไปตามอารมณ์นั้นๆ ทันที ด้วยเหตุนี้การเจริญสมถภาวนาที่จะให้จิตสงบจากอกุศลมั่นคงขึ้น จึงต้องอาศัยสถานที่ที่เงียบสงัดปราศจากเสียงผู้คนรบกวน และทำดินเป็นวงกลมเกลี้ยง (ปถวีกสิณ) ปราศจากมลทินโทษ ที่จะทำให้จิตน้อมนึกไปพอใจในรูปร่างสัณฐานต่างๆ ได้ (ความละเอียดมีในคัมภีร์วิสุทธิมรรคสมาธินิเทสปถวีกสิณ) ขณะที่ดูปถวีกสิณนั้น เมื่อจิตระลึกถึงดินประกอบด้วยปัญญาเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ จิตจึงจะสงบได้ และจะต้องดูปถวีกสิณเพื่อเตือนให้ระลึกถึงดินเท่านั้นเรื่อยๆ ไปเพื่อไม่ให้จิตรู้อารมณ์อื่น

ยากแค่ไหนที่จะระลึกถึงแต่ดินด้วยจิตที่สงบจากอกุศลทั้งหลายอยู่เรื่อยๆ โดยดูปถวีกสิณที่ไม่เล็กนักไม่ใหญ่นัก ไม่ห่างนักไม่ใกล้นัก ไม่สูงนักไม่ต่ำนัก ฉะนั้น วิตกเจตสิกจึงเป็นองค์ณานที่ขาดไม่ได้เลย วิตกเจตสิก ที่เกิดกับมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตจะต้องจรดที่ปถวีกสิณ ด้วยจิตที่สงบจากอกุศลทั้งหลายทั้งในขณะที่หลับตาและลืมตา จนกว่าอุคคหนิมิต คือ นิมิตของปถวีกสิณจะปรากฏทางมโนทวารเหมือนกับในขณะที่ลืมตา

ซึ่งบางท่านแม้ปฏิสนธิจิตจะเป็นติเหตุกะแต่อุคคหนิมิตก็ไม่ปรากฏเลย อุคคหนิมิตจะปรากฏเมื่อมหากุศลญาณสัมปยุตต์เพิ่มความสงบมั่นคงในปถวีกสิณแล้ว แต่ขณะที่อุคคหนิมิตปรากฏนั้นก็ยังไม่ถึงอุปจารสมาธิ

การประคับประคองให้มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตตั้งมั่นในอุคคหนิมิตต่อไปและมั่นคงขึ้นนั้น ไม่ง่ายเลยตามข้อความในวิสุทธิมรรค ปถวีกสิณนิเทส เมื่อนิวรณ์ทั้งหลาย (อกุศลธรรมที่กลุ้มรุมครอบงำจิต) ระงับลงโดยลำดับแล้ว จิตย่อมสงบมั่นคงเป็นอุปจารสมาธิเมื่อปฏิภาคนิมิตปรากฏราวกะชำแรกอุคคหนิมิตออกมา ปฏิภาคนิมิตเป็นนิมิตที่ผ่องใสกว่าอุคคหนิมิต

ขณะที่ปฏิภาคนิมิตปรากฏนั้น มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตสงบมั่นคงถึงขั้นอุปจารสมาธิ คือสมาธิที่ใกล้ต่อการสงบแนบแน่นในอารมณ์ขั้นอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นปฐมฌานจิตการประคับประคองให้มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตที่สงบถึงขั้นอุปจารสมาธิสงบได้ต่อไปอีกเรื่อยๆ และเพิ่มความสงบมั่นคงขึ้นจนถึงขั้นที่อัปปนาสมาธิซึ่งเป็นจิตขั้นรูปาวจรเป็นปฐมฌานจิตเกิดขึ้นได้นั้น ต้องรักษาอุปจารสมาธิที่ได้แล้ว ดุจนางแก้วรักษาครรภ์ซึ่งเป็นที่อุบัติแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์ และต้องเว้นเหตุอันไม่เป็นสัปปายะ (ธรรมที่สะดวกสบายเกื้อกูลแก่การเจริญภาวนา) ๗ อย่างเหล่านี้ คือ

๑.เว้นอาวาส คือที่อยู่ซึ่งเมื่ออยู่แล้วนิมิตที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดที่เกิดแล้วก็หายไป

๒.เว้นโคจร คือทางไปที่ห่างจากอาวาส หรือที่ใกล้อาวาสมากที่หาภิกษาไม่ได้ง่ายและไม่สมบูรณ์

๓.เว้นถ้อยคำที่ไม่สบายที่นับเนื่องในดิรัจฉานกถา คือ กถาที่ไม่เกื้อกูลแก่ปัญญา ซึ่งทำให้ นิมิตที่เกิดขึ้นแล้วหายไป

๔.เว้นบุคคลที่มากด้วยกิเลส ที่ขวนขวายในกิเลส เพราะทำให้จิตเกิดกิเลสเศร้าหมอง

๕ - ๖.เว้นโภชนะและอากาศที่ไม่ถูกกับร่างกาย อันจะทำให้ป่วยไข้

๗.เว้นอิริยาบถที่ไม่ทำให้จิตตั้งมั่น

เมื่อเว้นสิ่งที่ควรเว้นและเสพสิ่งที่ควรเสพแล้ว อัปปนาสมาธิก็ยังไม่เกิด ก็จะต้องบำเพ็ญอัปปนาโกศลให้เต็มที่ คือต้องประกอบด้วยอัปปนาโกศลความรู้ความฉลาดในธรรมที่เกื้อกูลให้ฌานจิตเกิดขึ้นได้ ๑๐ ประการ คือ

วิสุทธิมรรค ปฐวีกสิณนิทเทส

๑.โดยการทำวัตถุให้เป็นของสะอาด คือทั้งร่างกายและเครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัยให้ สะอาด มิฉะนั้นแล้วจิตใจก็ไม่แจ่มใส

๒.โดยการยังความเสมอกันของอินทรีย์ ๕ คือสัทธา และปัญญา วิริยะและสมาธิให้ เสมอกัน ด้วยสติ

๓.โดยฉลาดต่อนิมิต

๔.ย่อมประคองจิตโดยสมัยที่ควรประคอง

๕.ย่อมข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม

๖.ย่อมยังจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรร่าเริง

๗.ย่อมเพ่งเฉยจิตในสมัยที่ควรเพ่งเฉย

๘.โดยการเว้นบุคคลผู้ไม่ตั้งมั่น

๙.โดยเสพบุคคลผู้ตั้งมั่น

๑๐.โดยความเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปในคุณนั้นๆ

ถ้าไม่เป็นผู้ฉลาดในอัปปนาโกศล ๑๐ นี้ มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตก็ไม่อาจเพิ่มความสงบมั่นคงขึ้นอีกจนเป็นบาทให้อัปปนาสมาธิ คือ รูปาวจรปฐมฌานจิตเกิดได้

...จากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป หน้า ๗-๘

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 28 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ