แด่ผู้มีทุกข์ ๐๑ - ความผูกโกรธ เป็นโทสมูลจิต

 
chaiyut
วันที่  17 พ.ย. 2550
หมายเลข  5565
อ่าน  2,831

อุเบกขาเวทนา คือความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ความรู้สึกอื่นคือ สุขเวทนาหรือโสมนัสเวทนา เกิดต่อแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง เวทนาอื่นคือ ทุกขเวทนาหรือโทมนัสเวทนา เกิดต่อแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง หมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกวันไม่จบสิ้นได้ ซึ่งสุขก็จะต้องสลับกับทุกข์ต่อไปจนถึงขณะตาย สิ้นสุดความเป็นบุคคลในชาติหนึ่งๆ ซึ่งทุกชาติ แม้ในชาติก่อนๆ และชาติหน้าต่อๆ ไปอีก ก็ย่อมเป็นเช่นนี้แหละ ตราบใดที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญา จนถึงขั้นที่สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท กิเลสทั้งหลายที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง แต่ละขณะ แม้ว่าจะดับไปแล้ว ก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิตขณะต่อๆ ไป เป็นอนุสัยกิเลส คือเป็นกิเลสซึ่งยังไม่ได้ดับ จึงเป็นเชื้อปัจจัยที่จะทำให้เกิดกิเลสประเภทนั้นๆ อีก

แม้โทสมูลจิตซึ่งเป็นจิตที่ขุ่นใจ แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ในวันหนึ่งๆ เช่น มีเสียงโทรศัพท์ แล้วรับโทรศัพท์ และเสียงโทรศัพท์ที่ฟังก็ไม่ค่อยจะชัดเจน ขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน เป็นความไม่พอใจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นิดเดียว เล็กน้อย ซึ่งถ้าไม่สังเกตก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้นโทสมูลจิตซึ่งขุ่นใจ ไม่พอใจเกิดขึ้นและดับไปแล้ว แต่ก็สะสมความขุ่นใจนั้นสืบต่อไปเป็นเชื้อนอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน เป็นปัจจัยให้โทสมูลจิตเกิดขึ้นอีกต่อไป ฉะนั้น จึงต้องพิจารณารู้ว่า แม้ความขุ่นใจเพียงเล็กน้อยก็เป็นโทษด้วย เพราะถ้าไม่ใช่ความขุ่นใจเพียงเล็กน้อย แต่เป็นความโกรธบุคคลหนึ่งบุคคลใด ซึ่งเป็นความโกรธที่ไม่ลืม และยังไม่ได้ลดน้อยลงเลย ก็จะทำให้เป็นความผูกโกรธ เป็นทุกข์ในชีวิตของแต่ละท่าน ซึ่งพระธรรมจะอนุเคราะห์ให้พิจารณา เห็นโทษของอกุศลและความโกรธ ซึ่งถ้าไม่เห็นโทษก็จะไม่ขัดเกลาและละคลายเลย

ฉะนั้น ผู้มีทุกข์ควรพิจารณาทุกข์ซึ่งเป็นความโศกเศร้า เสียใจ น้อยใจ กลัดกลุ้ม โกรธเคือง ขุ่นใจ ไม่แช่มชื่นว่า เป็นลักษณะของโทสะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ประทุษร้ายจิต โดยประการต่างๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้อย่างไรบ้าง และมีความตั้งใจจริงๆ ที่จะขัดเกลาละคลายความโกรธหรือโทสะนั้นแล้วหรือยัง ซึ่งก็จะต้องเห็นโทษ และเห็นความละเอียดของความโกรธเสียก่อน

ลักษณะของความโกรธต่างๆ รวมทั้งความผูกโกรธด้วยนั้น

ข้อความในสัมโมหวิโนทนี ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส ได้อธิบายลักษณะของความผูกโกรธว่า บุคคลใดย่อมผูกโกรธไว้ในกาลก่อน ภายหลังความโกรธเกิดขึ้นอีก ดังนี้ ก็ชื่อว่า อุปนาหะ ความผูกโกรธเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่ควรจะรู้ว่า โกรธใครแล้วยังไม่ลืม ยังโกรธอยู่อีก นี้คือความผูกโกรธ

คำว่า "อฏฺฐาปนา" ความตั้งไว้ ได้แก่ การตั้งความโกรธไว้ติดต่อกันของความโกรธอันเกิดขึ้นครั้งแรก (โกรธไม่จบ โกรธครั้งแรกอย่างไร ก็ยังคงตั้งความโกรธไว้ติดต่อกันกับความโกรธอันเกิดขึ้นครั้งแรก) การตั้งความโกรธไว้ตามปกติ เรียกว่า "การทรงไว้ซึ่งความโกรธ" การตั้งความโกรธไว้บ่อยๆ โดยส่วนทั้งปวง ชื่อว่า "ความดำรงความโกรธไว้" การไม่แสดงความแตกต่างกันแห่งความโกรธหลังกับความโกรธอันเกิดก่อน แล้วทำไว้โดยความเป็นอันเดียวกัน ชื่อว่า "ความสั่งสมความโกรธไว้" คือไม่ลดลงเลย ไม่ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยไปนานสักเท่าใด

ความสืบต่อความโกรธครั้งหลังกับด้วยความโกรธครั้งแรก ชื่อว่า "ความผูกพันความโกรธไว้" คำว่า "ความยึดมั่นความโกรธ" ได้แก่การทำความโกรธให้มั่นคง (ผูกไว้แล้วทำให้มั่นคงด้วย) คำว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า ลักษณะนี้ มีความผูกโกรธ เป็นลักษณะ มีความไม่สละคืนซึ่งเวร เป็นรสะ (กิจ) พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกลักษณะนี้ว่า อุปนาหะ ความผูกโกรธ ดังนี้ อธิบายว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยความโกรธด้วยลักษณะใด ย่อมไม่อาจเพื่อสละเวรชื่อเห็นปานนี้ บุคคลนี้ย่อมติดตามซึ่งความโกรธอื่นๆ อีกด้วยว่า "บุคคลนี้ไม่สมควรพูดกะเราอย่างนี้"

ดังนี้ ความโกรธของเขา ย่อมลุกโพลงทีเดียว ราวกะไม้สนอันไฟติดทั่วแล้ว ความโกรธย่อมไม่สะอาด เป็นราวกะหนังหมีอันบุคคลทำความสะอาดอยู่ และเป็นราวกะผ้าเก่าอันเปื้อนด้วยไขมัน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมด้วยพยัญชนะต่างๆ เพื่อที่จะให้พิจารณาเห็นจริงๆ ว่า ในวันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้หรือเปล่า บางท่านก็อาจจะคิดว่า ทำไมต้องทรงแสดงไว้มาก ฟังดูก็รู้สึกซ้ำไปซ้ำมา หรือว่าคล้ายกันจนเกือบแยกไม่ออก แต่เทศนาซึ่งพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงย่อมวิจิตรด้วยประการต่างๆ พร้อมด้วยคุณประโยชน์สำหรับอัธยาศัยของผู้ฟังต่างๆ กัน ถ้าพูดครั้งเดียวเท่านั้น ใครสามารถจะระลึกได้ ใครสามารถจะพิจารณาได้

ขอเชิญคลิกอ่านตอนต่อไป ...

แด่ผู้มีทุกข์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 12 ก.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
opanayigo
วันที่ 13 ก.ค. 2553

ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 15 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Nataya
วันที่ 19 พ.ย. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 8 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ