ศึกษาหรือสิกขา

 
คุณย่า
วันที่  23 ต.ค. 2550
หมายเลข  5220
อ่าน  2,634

สนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ
วันที่ 17 มิถุนายน 2550
ถอดเทป โดย
คุณย่าสงวน สุจริตกุล

คุณประเชิญ ขอเรียนเสริมเรื่องศึกษาหรือสิกขา ภาษาไทยเราเข้าใจคำว่าศึกษาหรือสิกขานี้แคบไป เข้าใจว่า ศึกษาคือการเรียน การอ่านในตำราเท่านั้น ที่เรารับรู้มาอย่างนั้น แต่จริงแล้ว คำว่า “ศึกษา” ที่มาจากภาษาบาลีว่า“สิกขา” “สิกขติ” ย่อมศึกษาอยู่ ซึ่งมีความหมายกว้างขวางมากเลย ในคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้ารวมไปถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แทงตลอดขณะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อริยมัคคเกิดขึ้น ท่านใช้คำว่า ขณะที่แทงตลอดชื่อว่า ศึกษาอยู่ ขณะที่รู้แจ้งด้วยวิปัสสนา ก็ชื่อว่าศึกษาอยู่ในปฏิสัมภิทามรรคท่านพระสารีบุตรท่านได้ให้ความหมายขยายความคำว่า ศึกษา หรือสิกขานี้ตั้งร่วม ๑๐ บท อย่างที่เรียนแล้วว่า ขั้นสูงสุด แม้ขณะที่อริยมัคคเกิดขึ้น อันนั้นก็ย่อมชื่อว่า ย่อมศึกษาอยู่ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น สัมมัปปธานเกิดขึ้น อินทรีย, พละ, โพชฌงค์เกิดขึ้น ขณะนั้นก็ชื่อว่า ศึกษาอยู่ ในความว่า “สิกขติ”

รวมไปถึงขณะที่พิจารณาใส่ใจขณะที่เพียรอยู่ รู้อยู่ เป็นต้นนี้ ชื่อว่าย่อมศึกษาอยู่ในความของศีลสิกขา, จิตสิกขา, ปัญญาสิกขา หรือ อธิศีล, อธิจิต, อธิปัญญา

เพราะฉะนั้น ความหมายของศึกษา ในคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงกว้างขวาง คือ ตลอดเวลาที่ยังอบรม ยังต้องทำกิจในการที่จะละกิเลส จนถึงอรหัตตมัคคเกิดขึ้น นั่นชื่อว่าศึกษาอยู่ ขณะอรหัตตมัคคเกิดขึ้น, อนาคามีมัคค, สกทาคามิมัคค, โสตาปัตติมัคคเกิดขึ้น ขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณก่อนที่อริยมัคคจะเกิดขึ้น นั่นก็ชื่อว่าศึกษา สิกขาทั้งนั้น ชื่อว่ากำลังศึกษาสภาพธรรมเพื่อรู้เพื่อเข้าใจ เพื่อรู้แจ้ง แม้แต่ขณะที่ฟังเข้าใจ ด้วยการพิจารณา ขณะนั้นก็ชื่อว่าศึกษาด้วย

คำว่า “ปฏิบัติ” มาจากภาษาบาลี ปฏิ + ปตฺติ ปฏิ = เฉพาะ ปตฺติ = ถึง (ภาษาไทย เป็น บ. จึงเป็น ปฏิบัติ) ปฏิปตฺติ = ถึงเฉพาะในลักษณะของสภาพธรรม คือ นามธรรมและรูปธรรม

นั่นชื่อว่า ปฏิบัติ คือ เป็นกิจของปัญญา สติสัมปชัญญะ นั่นเอง ไม่ใช่ตัวเราไปปฏิบัติ กล่าวถึง ปริยัติ, ปฏิบัติ, ปฏิเวธ โดยไม่ศึกษาโดยละเอียด ก็จะเข้าใจว่า ขณะที่เรียนเป็นปริยัติและไปทำตามนั้นเป็นการปฏิบัติ อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง การที่ทำอะไรช้าๆ ไปนั่งนานๆ เดินแบบช้าๆ หรือจะไปอยู่ตามป่าอันนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะเราไปเอารูปแบบหรือเอาอิริยาบถ ซึ่งไม่เป็นไปในชีวิตประจำวันมาแทนคำว่า ปฏิบัติ

การปฏิบัติจริงๆ ก็คือในขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น ขณะที่เข้าใจธรรม รู้ธรรม เรียกว่าปฏิปัตติ อันนี้ก็คือ ความหมายของการปฏิบัติ ตรงกันข้ามกับที่เราทราบว่า ก็คือจะเอาอิริยาบถ ท่าทางที่เป็นรูปแบบ อันนี้ไม่ถูกต้อง

คุณอร คำว่า ปฏิปัตติ ซึ่งหมายว่าเข้าถึงเฉพาะนี้ หมายถึง เข้าถึงเฉพาะ ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฎอยู่ในปกติชีวิตประจำวัน

คุณประเชิญ ถึงเฉพาะสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฎ ชื่อว่าการปฏิบัติธรรม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 24 ต.ค. 2550

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - ....

ในความสำรวม ความไม่ฟุ้งซ่านและทัสนะนั้น ความสำรวมเป็นอธิศีลสิกขา ความไม่ฟุ้งซ่านเป็นอธิจิตสิกขา ความเห็นแจ้ง เป็นอธิปัญญาสิกขา พระโยคาวจรเมื่อนึกถึงสิกขา ๓ นี้ ชื่อว่า ย่อมศึกษาเมื่อรู้ เมื่อเห็น เมื่อพิจารณา เมื่ออธิษฐานจิต เมื่อน้อมใจไปด้วยศรัทธา เมื่อประคองความเพียรไว้ เมื่อตั้งสติมั่น เมื่อตั้งจิตไว้ เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อละธรรมที่ควรละ เมื่อเจริญธรรมที่ควรเจริญ เมื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่า ย่อมศึกษา ทุกอย่าง...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 24 ต.ค. 2550

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ -

[๙๑] ศีล ๕ คือ การละปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌาพยาบาท มิจฉาทิฏฐิ

การละกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ การละความพยาบาทด้วยความไม่พยาบาท การละถีนมิทธะด้วยอาโลกสัญญา การละอุทธัจจะด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน การละวิจิกิจฉาด้วยการกำหนดธรรม การละอวิชชาด้วยญาณ การละอรติด้วยความปราโมทย์ การละนิวรณ์ด้วยปฐมฌาน การละวิตกวิจารด้วยทุติยฌาน การละปีติด้วยตติยฌาน การละสุขและทุกข์ด้วยจตุตถฌาน

การละรูปสัญญา, ปฏิฆสัญญา, นานัตตสัญญาด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ การละอากาสานัญยายตนสัญญาด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ การละวิญญาณัญจายตนสัญญา ด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ การละอากิญจัญจญยตนสัญญาด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ

การละนิจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสนา การละสุขสัญญาด้วยทุกขานุปัสนา การละอัตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสนา การละนันทิด้วยนิพพิทานุปัสนา การละราคะด้วยวิราคานุปัสนา การละสมุทัยด้วยนิโรธานุปัสนา การละอาทานะด้วยปฏินิสสัคคานุปัสนา การละฆนสัญญาด้วยขยานุปัสนา การละอายุหนะด้วยวยานุปัสนา การละธุวสัญญาด้วยวิปริณาตานุปัสนา

การละนิมิตด้วยอนิมิตตานุปัสนา การละปณิธิด้วยอัปปณิหิตานุปัสนา การละอภินิเวสด้วยสุญญตานุปัสนา การละสาราทานาภินิเวสด้วยอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา การละสัมโมหาภินิเวสด้วยยถาภูตญาณทัสนะ การละอาลยาภินิเวสด้วยอาทีนวานุปัสนา การละอัปปฏิสังขาดัวยปฏิสังขานุปัสสนา การละสังโยคาภินิเวสด้วยวิวัฏฏนานุปัสนา การละกิเลสที่ตั้งอยู่ร่วมกันกับทิฏฐิด้วยโสดาปัตติมรรค การละกิเลสที่หยาบๆ ด้วยสกทาคามิมรรค การละกิเลสที่ละเอียดด้วยอนาคามิมรรค การละกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตมรรค การละนั้นๆ เป็นศีล เวรมณีเป็นศีล . . .เมื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่า ย่อมศึกษา.....

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nopwong
วันที่ 21 ธ.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 7 พ.ย. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ