เมตตา ๓๑ - การเจริญเมตตา เป็นมงคล - มหามังคลชาดก

 
chaiyut
วันที่  18 ต.ค. 2550
หมายเลข  5160
อ่าน  1,607

เมตตาเกิดขึ้นขณะใด...มงคลมีแล้วในขณะนั้น

ท. เรื่องเมตตานี้ฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่ดีมาก ใครๆ ก็ปรารถนา ขอเรียนถามว่าอย่างผมบางครั้งมีเหตุการณ์เฉพาะหน้าก็ปรารถนาที่จะให้เมตตาเกิด แต่ก็ไม่เกิด ทำอย่างไรในขณะนั้น ที่จะทำให้เมตตาเกิด

ส. ผู้ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็น "ตัวตน" ย่อมมีความโน้มเอียงที่จะเข้าใจว่าขณะนั้นมีวิธีที่สามารถจะระงับความโกรธ มีตัวตนที่จะทำสติ เจริญสติ เจริญเมตตาได้ แต่ความจริงนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะทำสติหรือมีเมตตาได้ ถ้าสภาพธรรมนั้นๆ ไม่เกิด แต่การฟังพระธรรมแล้วพิจารณาโดยถูกต้องย่อมเป็นปัจจัยคือเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้กุศลจิตเกิด สติระลึกได้ เห็นโทษของโทสะและเห็นประโยชน์ของเมตตา แต่ถ้าขณะนั้นสติยังไม่เกิด แต่มีปัจจัยให้โทสะเกิด ความโกรธนั้นก็เกิดขึ้นต่อไป ฉะนั้นจึงไม่ใช่ผู้ใดจะทำให้มีสติเกิดเมตตาได้ แต่เพราะสติเกิดขึ้นระลึกได้ถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้เป็นอันมาก เป็นปัจจัยให้ความโกรธบรรเทาลง

ถ้าเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมน้อยก็มีปัจจัยที่จะระลึกได้น้อย ความโกรธก็บรรเทาได้ยาก แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้ฟังมากและไม่หลงลืม ก็มีปัจจัยทำให้ระลึกถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้เป็นอันมาก เช่น ระลึกถึงกัมมัสกตญาณ ทุกคนมีกรรมเป็นของของตน ระลึกได้ว่าอกุศลกรรมที่เกิดจากความโกรธนั้นไม่ทำให้บรรลุโพธิญาณ และระลึกถึงการอบรมขันติธรรมของพระผู้มีพระภาคในสีลวชาดก ขันติวาทีชาดก จูฬธรรมปาลชาดก ฉัททันตชาดก เป็นต้น เมื่อระลึกถึงพระโอวาทของพระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาคุณแสดงพระธรรมไว้เป็นอันมาก แล้วก็ไตร่ตรองพิจารณาจนกว่าจะประพฤติปฏิบัติตามได้

ขอกล่าวถึงข้อความใน ขุททกนิกาย ทสกนิบาต มหามังคลชาดก เพื่อท่านจะได้ทราบว่าอะไรเป็นมงคล เพราะทุกท่านต้องการมงคล ไม่ต้องการสิ่งที่ไม่ใช่มงคล จนกระทั่งบางครั้งแสวงหา เพราะคิดว่าอยู่ที่วัตถุ จึงพยายามหาวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเข้าใจว่า มงคลจะเกิดจากการมีวัตถุสิ่งนั้นหรือเข้าใจว่ามงคลคือการท่องคาถาต่างๆ ฉะนั้นก็ควรจะได้ทราบว่ามงคลที่แท้จริงนั้นคืออะไร ซึ่งข้อความในทสกนิบาตชาดก มหามังคลชาดก แสดงว่า เมตตาเป็นมงคล ฉะนั้น เมื่อรู้อย่างนี้ ผู้ที่ต้องการมงคลก็คงไม่แสวงหาอย่างอื่น เมตตาเกิดขึ้นขณะใด มงคลมีแล้วในขณะนั้น ในวันหนึ่งๆ จะต้องการมงคลมากเท่าไรก็ตาม มงคลจะมีได้ก็ในขณะที่จิตประกอบด้วย"เมตตา"ทางกาย ทางวาจา ทางใจ และในขณะที่เป็นกุศล เป็นจิตที่ดีงามเท่านั้น

ข้อความใน มหามังคลชาดก ข้อ ๑๔๗๓-๑๔๘๒ มีว่า

(๑๔๗๓) นรชนรู้วิชาอะไรก็ดี รู้สุตตะทั้งหลายอะไรก็ดี กระซิบถามกันว่า อะไรเป็นมงคล ในเวลาปรารถนา มงคล นรชนนั้นจะทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้อันความสวัสดีคุ้มครองแล้วทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ฯ

[๑๔๗๔] เทวดาและพรหมทั้งปวง ทีฆชาติ และสรรพสัตว์ทั้งหลายบุคคลใดอ่อนน้อมอยู่เป็นนิตย์ด้วยเมตตา บัณฑิตทั้งหลายกล่าวเมตตาของบุคคลนั้นแลว่าเป็น สวัสดิมงคลในสัตว์ทั้งหลาย ฯ

[๑๔๗๕] ผู้ใดประพฤติถ่อมตนแก่สัตว์โลกทั้งปวง แก่หญิงและชายพร้อมทั้งเด็ก เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำชั่วร้าย ไม่กล่าวลำเลิกถึงเรื่องเก่าๆ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวความอดกลั้นของผู้นั้นว่า เป็นสวัสดิมงคล ฯ

[๑๔๗๖] ผู้ใดเป็นผู้มีปัญญาดี มีความรู้ปรุโปร่ง ในเมื่อเหตุเกิดขึ้นไม่ดูหมิ่นมิตรสหายทั้งหลายด้วยศิลป สกุล ทรัพย์และด้วยชาติ บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวการไม่ดูหมิ่นสหายของผู้นั้น ว่าเป็นสวัสดิมงคลในสหายทั้งหลายฯ

[๑๔๗๗] สัตบุรุษทั้งหลายเป็นผู้ชอบพอคุ้นเคยกัน เป็นมิตรแท้ของผู้ใด ผู้มีคำพูดมั่นคง อนึ่ง ผู้ใดเป็นผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร แบ่งปันทรัพย์ของตนให้แก่มิตร บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการได้ประโยชน์เพราะอาศัยมิตรและการแบ่งปันของผู้นั้นว่าเป็นสวัสดิมงคลในมิตรทั้งหลาย ฯ

[๑๔๗๘] ภรรยาของผู้ใดมีวัยเสมอกัน อยู่ร่วมกันด้วยความปรองดอง ประพฤติตามใจกัน เป็นคนใคร่ธรรม ไม่เป็นหญิงหมัน มีศีลโดยสมควรแก่สกุล รู้จักปรนนิบัติสามี บัณฑิตทั้งหลายกล่าวคุณความดีในภรรยาของผู้นั้นว่าเป็นสวัสดิมงคลในภรรยาทั้งหลาย ฯ

[๑๔๗๙] พระราชาเป็นเจ้าแผ่นดิน ทรงพระอิสริยยศใหญ่ ทรงทราบความสะอาดและความขยันหมั่นเพียรของราชเสวกคนใด และทรงทราบราชเสวกคนใดด้วยความเป็นผู้ไม่ร้าวรานกับพระองค์ และทรงทราบราชเสวกคนใดว่ามีใจจงรักภักดีต่อพระองค์ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวคุณความดีของราชเสวกนั้นๆ ว่าเป็น สวัสดิมงคงในพระราชาทั้งหลาย ฯ

[๑๔๘๐] บุคคลใดมีศรัทธาให้ข้าว น้ำ ดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ มีจิตเลื่อมใสอนุโมทนา บัณฑิตทั้งหลายกล่าวคุณข้อนั้นของบุคคลนั้นแลว่าเป็นความสวัสดีในสวรรค์ทั้งหลาย ฯ

[๑๔๘๑] สัตบุรุษทั้งหลายผู้รู้แจ้งด้วยญาณ ผู้ยินดีแล้วในสัมมา-ปฏิบัติ เป็นพหูสูตร แสวงหาคุณ เป็นผู้มีศีล ยังบุคคลใดให้บริสุทธิ์ด้วยอริยธรรม บัณฑิตทั้งหลายยกย่องคุณความดีของสัตบุรุษนั้นว่าเป็นความสวัสดีในท่ามกลางพระอรหันต์ ฯ

[๑๔๘๒] ความสวัสดีเหล่านี้แล ผู้รู้สรรเสริญแล้ว มีสุขเป็นผลกำไรในโลก นรชนผู้มีปัญญาพึงเสพความสวัสดีเหล่านั้นไว้ในโลกนี้ ก็ในมงคลมีประเภทคือ ทิฏฐมงคล สุตมงคล และมุตมงคล มงคลสักนิดหนึ่งที่จะเป็นมงคลจริงๆ ไม่มีเลย

จบมหามังคลชาดกที่ ๑๕



ส่วนมากที่บางท่านเข้าใจว่า มงคลได้แก่ทิฏฐมงคล คือเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วถือว่าสิ่งนั้นเป็นมงคล เช่น ข้อความในมังคลัตทีปนีอธิบายว่า บางคนถือว่าเห็น โคแดงเป็นต้นเป็นทิฏฐมงคล บางคนถือว่าได้ยินเสียงหรือคำต้อนรับอวยชัยให้พรเป็นต้นเป็นสุตมงคล บางคนถือว่าเมื่อได้สัมผัส เช่น นุ่งผ้าขาวหรือโพกผ้าขาว หรือลูบไล้ด้วยดินสอพองโดยถูกต้องตามวิธี เป็นต้นหรือได้กลิ่นดอกบัว เป็นต้น หรือได้ลิ้มรสบางรส เป็นต้นเหล่านี้เป็นมุตมงคล

ข้อความในมหามังคลชาดกมีว่า ก็ในมงคลมีประเภท คือ ทิฏฐมงคลสุตมงคล และมุตมงคล มงคลสักนิดหนึ่งที่จะเป็นมงคลจริงๆ ไม่มีเลยเพราะมงคลจริงๆ คือ เมตตา

..จากหนังสือ "เมตตา" เปิดอ่าน --> คลิกที่นี่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
อิสระ
วันที่ 8 ก.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pamali
วันที่ 26 ก.ย. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 5 ม.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ