เมตตา ๐๔ - ขณะเมตตาเกิด ไม่ตระหนี่

 
chaiyut
วันที่  9 ต.ค. 2550
หมายเลข  5048
อ่าน  1,727

เมตตาไม่เกิด...ถ้าตระหนี่

ผู้เจริญเมตตาจะต้องไม่ตระหนี่ มัจฉริยะ คือความตระหนี่ ๕ อย่าง ได้แก่

๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ ที่อยู่อาศัย

๒. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่ ตระกูล

๓. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ ลาภ

๔. วรรณมัจฉริยะ ตระหนี่ วรรณะ คือคำสรรเสริญ

๕. ธรรมมัจฉริยะ ตระหนี่ ธรรม

ข้อความในอัฏฐสาลินี ทุกนิกเขปกถา แสดงอรรถแห่ง มัจฉริยะตามไวพจน์ (คำที่มีความหมายคล้ายกันหรือเหมือนกัน) มีข้อความว่าที่ชื่อว่าการตระหนี่ เนื่องด้วยความเหนียวแน่น อาการเหนียวแน่น ชื่อว่ากิริยาที่ตระหนี่ ภาวะแห่งจิตที่ถูกความเหนียวแน่นให้เป็นไปแล้ว มีความพร้อมเพรียงอยู่ด้วยความเหนียวแน่น ชื่อว่า ความตระหนี่

บุคคลชื่อว่าผู้หวงแหน ด้วยอรรถว่า ไม่ปรารถนาจะให้สมบัติของตนทั้งหมดซึมซาบไป ปรารถนาว่าขอจงเป็นของเราเท่านั้น อย่าเป็นของคนอื่นเลย ภาวะแห่งบุคคลผู้หวงแหนชื่อว่า "ความหวงแหน" นี้ เป็นชื่อแห่งมัจฉริยะอย่างอ่อน

บุคคลผู้ไม่มีความเอื้อเฟื้อ เรียกว่า "คนเห็นแก่ตัว" ภาวะแห่งคนเห็นแก่ตัวนั้นชื่อว่า "ความเห็นแก่ตัว" นี้เป็นชื่อแห่งมัจฉริยะอย่างกระด้าง จริงอยู่ บุคคลผู้ประกอบด้วยความเห็นแก่ตัวนั้นย่อมห้ามแม้คนอื่นให้ทานแก่คนอื่น

บุคคลใดเห็นยาจกแล้วคับใจ คือ เหี่ยวหดด้วยความขมขื่น เหตุนั้นบุคคลนั้นชื่อว่า กฏุกญฺจุโก แปลว่า คนมีใจคับแคบ ภาวะแห่งคนใจแคบนั้นชื่อว่า ความมีใจคับแคบ อีกนัยหนึ่ง ความเป็นคนใจแคบเหมือนเครื่องคดหรือทัพพี เรียกว่า กฏุกญฺจุกตา จริงอยู่ บุคคลเมื่อจะคดข้าวในหม้อซึ่งเต็มเสมอขอบปาก ย่อมเอาปลายทัพพีซึ่งแคบไปเสียทุกส่วนคดเอา ย่อมไม่สามารถจะคดให้เต็มได้ จิตของบุคคลผู้ตระหนี่ก็เหมือนอย่างนั้น ย่อมคับแคบ เมื่อจิตนั้นคับแคบแม้กายก็คับแคบ ถดถอยไม่คลี่คลายเหมือนเช่นนั้น เพราะฉะนั้นความตระหนี่จึงตรัสเรียกว่า กฏุกญฺจุกตา แปลว่าความเป็นคนใจแคบเหมือนเครื่องคดคือ ทัพพี

คำว่า "ความกันเอาไว้แห่งจิต" ได้แก่ ความที่จิตกันเอาไว้โดยไม่ยอมคลี่คลายตามอาการ มีการให้ทาน เป็นต้น ในการกระทำอุปการะแก่คนเหล่าอื่น ก็เพราะบุคคลตระหนี่ย่อมเป็นผู้ไม่อยากให้ของของตนแก่คนอื่นอยากแต่จะรับเอาของของคนอื่น ฉะนั้น พึงทราบความที่ความตระหนี่นั้นมีการซ่อนสมบัติของตนเป็นลักษณะบ้าง มีการถือเอาเป็นสมบัติของตนเป็นลักษณะบ้าง เกี่ยวกับความเป็นไปว่า "ความอัศจรรย์นี้จงเป็นของเราเท่านั้นอย่าเป็นของคนอื่นเลย" ดังนี้

ข้อความดังกล่าวเป็นการตรวจสอบสภาพจิตใจของปุถุชนผู้ยังไม่ได้ดับมัจฉริยะเป็นสมุจเฉท เพราะพระอริยบุคคลเท่านั้นที่ดับมัจฉริยะเป็นสมุจเฉท ขณะใดที่โทสะ มานะ หรือริษยา หรือมัจฉริยะเกิด ขณะนั้นจิตปราศจากเมตตา บุคคลที่อบรมเจริญเมตตาจึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และรู้สภาพลักษณะของจิตใจขณะที่คิดถึงบุคคลต่างๆ จากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง ไม่ควรจะเป็นผู้ที่ยินดีเพียงสามารถที่จะเมตตาได้ในบุคคลบางพวก แต่จะต้องเป็นผู้ที่ไม่อิ่ม ไม่พอในการเจริญเมตตาให้มากขึ้น

..จากหนังสือ "เมตตา" เปิดอ่าน --> คลิกที่นี่


  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ตุลา
วันที่ 9 ต.ค. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 9 ต.ค. 2550

ผู้ที่ไม่ให้ทาน เพราะความตระหนี่ และความประมาท

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 12 ต.ค. 2550

เมื่อตระหนี่ย่อมให้ไม่ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 28 ก.พ. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ