ต้องการเรื่องแต่ไม่รู้ความจริง_สนทนาธรรม ณ บ้านรักศรีรักงาม จ.นครสวรรค์

 
เมตตา
วันที่  26 ต.ค. 2567
หมายเลข  48780
อ่าน  336

ท่านผู้ถาม: คำว่า ธาตุรู้ คือจิตใช่ไหม?

อ.อรรณพ: เป็นสภาพที่รู้

ท่านผู้ถาม: สภาพรู้นี่ใช่จิตไหม?

อ.อรรณพ: จิต ก็เป็นสภาพรู้ ที่รู้แจ้ง ในสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่กระทบตาเป็นอย่างไร เห็นเป็นจิตที่เห็นไม่ใช่เรา เรานึกว่าเป็นเราใช่ไหมครับ แต่จริงๆ แล้วเป็นเพียง เห็น ที่ไม่ใช่เรา

วันๆ ต้องทำเห็นไหม?

ท่านผู้ถาม: ก็ยังไม่เข้าใจ

อ.อรรณพ: ก็วันๆ ที่เห็น เราจะต้องคิดว่า เราจะต้องเห็น

ท่านผู้ถาม: เรามีเป้าหมายบ้างไหมคะ?

อ.อรรณพ: เป้าหมายเพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง

ท่านผู้ถาม: เพื่อรู้ความจริง

ท่านอาจารย์: เราก็ข้ามไปเยอะ ไม่มีทางเข้าใจ แต่เมื่อกี๊ที่ถามว่า สภาพรู้นี่เป็นจิตใช่ไหม หมายความว่าอะไร?

ท่านผู้ถาม: ที่ฟัง youtube ของท่านอาจารย์ เขาบอกว่า ธาตุรู้ คือจิต เมื่อก่อนนี้ดิฉันเข้าใจว่า จิต คือใจ เคยไปปฏิบัติธรรม ป้อมนี่แหละพาไป ไปกับป้อมตลอด ไปปฏิธรรมสำนักนั้น สำนักนี้ ตามไปตลอด ก็คือไปนั่งๆ เดินๆ สวดมนต์ ก็คือให้สงบค่ะ

ท่านอาจารย์: หมายความว่า เราขาดการไตร่ตรอง พอได้ยินว่าไปปฏิบัติ ก็ไปสำนักต่างๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ไม่สามารถจะเข้าใจความลึกซึ้งได้ เพราะฉะนั้น ต้องละเอียด จนกระทั่งว่า ที่ว่า ธาตุรู้เป็นจิตใช่ไหม? แค่นี้ก็ต้องคิดแล้ว หมายความว่าอะไร?

ท่านผู้ถาม: ต้องสารภาพตรงๆ ว่า ไม่ทราบจริงๆ ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เราจะศึกษาแบบ ชื่อนี้ เป็นอันนั้นใช่ไหม? อันนี้ ชื่อนี้ใช่ไหม? อันนี้ ชื่อนั้นใช่ไหม? โกรธนี่ ชื่อเจตสิกใช่ไหม? เอาชื่อขึ้นมาเป็นใหญ่ แล้วก็คิดว่า อันนี้เป็นตัวธรรม แต่ไม่ต้องมีชื่อธรรม ก็เป็นธรรม อันนี้ค่ะ นิดเดียวพลาดไม่ได้ ความละเอียด กว่าจะไปถึงความลึกซึ้งจริงๆ ต้องตรง

ถ้าได้ยินคำถามว่า ธาตุรู้เป็นจิตใช่ไหม เอ๊! รู้จักจิตหรือ ถึงได้ถามอย่างนี้

ท่านผู้ถาม: ก็ฟังมาค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น โดยมากจะฟัง แต่ไม่ไตร่ตรองที่จะละเอียดขึ้นๆ ๆ ๆ จึงสามารถจะรู้ความจริงได้

ท่านผู้ถาม: ก็มากราบเรียนถามท่านอาจารย์วันนี้ค่ะ

ท่านอาจารย์: ดิฉันก็ถามต่อ เมื่อกี๊บอกว่า พอมาถาม ก็ทำไมถามกลับ ทำไมไม่ตอบ ก็จะได้รู้ไงล่ะว่า เข้าใจว่าอะไรที่ถาม หรือไม่เข้าใจเลยก็ถาม ที่ถามเพราะเข้าใจผิด

เพราะฉะนั้น จะได้รู้ว่า จะตอบอย่างไรก็ต่อเมื่อรู้ว่า คำถามหมายถึงอะไร เช่นถามว่า ธาตุรู้เป็นจิตใช่ไหม หมายความว่ารู้จักจิต แล้วสงสัยธาตุรู้

ท่านผู้ถาม: ก็เมื่อกี๊ อาจารย์พูดว่า คำว่า ธาตุรู้ ก็ฟังมาว่า มันคือจิต ที่อาจารย์บอกว่า นี่คือจิต

ท่านอาจารย์: อันนี้แปลว่า เราจะเอาเรื่อง แต่ไม่รู้ความจริงว่า คืออะไร แต่ต้องการเรื่อง

เพราะฉะนั้น หนทางนี้ไม่ใช่หนทางเข้าใจธรรม หนทางเข้าใจธรรม คือคำเดียวนี่ กำลังมีจริงๆ แต่ความต่างที่เราไม่รู้ ขณะนี้มีธาตุรู้หรือเปล่า? นี่ค่ะ ทำไมถามกลับ? ก็จะได้คิดไง เราไตร่ตรองแล้ว นี่เป็นความคิดของเรา คนอื่นคิดอย่างไรเป็นเรื่องของเขา แต่ธาตุรู้เป็นจิตใช่ไหม? ฟังแล้วหมายความว่าอะไร?

ท่านผู้ถาม: ก็ฟังมาอย่างนั้น ฟังศัพย์แสงเกี่ยวกับธรรมค่ะ ก็สงสัยอยู่หลายคำเลยค่ะ แต่ก็ ...

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสให้เราจำคำ แต่ให้เราเข้าใจสิ่งที่มีจริง ซึ่งถ้าไม่มีคำ ไม่รู้ว่า ความต่างนั้นเราจะใช้คำอะไรให้รู้ว่า ต่างกัน ร้อนกับเย็น ก็ต้องมี ๒ คำ สำหรับคำว่า ร้อน ก็ร้อน หมายความว่าอะไร? เย็น คือเย็น หมายความว่าอะไร?

เพราะฉะนั้น ธาตุรู้เป็นจิตใช่ไหม เหมือนเราเข้าใจจิต แต่เราไม่รู้จักธาตุรู้ จึงถามว่า ธาตุรู้เป็นจิตใช่ไหม แต่เราก็ไม่ได้เข้าใจจิต เพียงแต่เราคิดว่า เรารู้จิต

ท่านผู้ถาม: ไม่เข้าใจจริงๆ ค่ะ

ท่านอาจารย์: ถูกต้อง

ท่านผู้ถาม: แต่ดั้งแต่เดิมคิดว่า จิต คือใจ

ท่านอาจารย์: จะใช้คำไหนก็ได้ ดิฉันจะใช้คำว่า ใจ หทัย มโน มนัส ได้หมด

ท่านผู้ถาม: ก็คือเหมือนกัน

ท่านอาจารย์: ธาตุรู้เปลี่ยนไม่ได้ ธาตุรู้เกิดขึ้นรู้ เป็นธาตุเดียวที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ไม่โกรธ ไม่รัก ไม่ชัง ไม่ริษยา ไม่ขุ่นเคืองอะไรหมด แต่เกิดเมื่อไหร่ ทำหน้าที่เดียว รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ นี่คือ จิตรู้ (ชี้ไปที่ถ้วยแก้ว) นี่จิตรู้ (ชี้ไปที่ขวดน้ำ) เพราะฉะนั้น จิตมีตั้งแต่เกิดจนตายไม่เคยขาดเลย แต่ความสนใจของทุกคน ไปสนใจสิ่งที่จิตรู้ จึงไม่รู้จิต ไม่รู้จักจิต ได้ยินแต่ว่า จิต ได้ยินแต่ว่า ใจ ได้ยินแต่ว่า มโน แล้วเราก็มีธาตุรู้ แต่พอเขาบอกว่าเป็นจิต เราก็ว่า อ้อ ธาตุรู้เป็นจิต แต่ไม่ใช่ค่ะ ยังไม่รู้จักธาตุรู้ ได้ยินว่า มีธาตุรู้ และกำลังมีว่า ธาตุรู้

กว่าจะรู้จักธาตุรู้ ต้องไม่ใช่รู้สิ่งที่ถูกจิตรู้ ต้องปรากฏทีละอย่าง

ท่านผู้ถาม: คำที่ได้ฟังมาจากอาจารย์ ที่ไปปฏิบัติไปปฏิบัติมา ก็จะบอกแต่ว่า ให้รักษาจิต ก็เลยไม่เข้าใจว่า เรารักษาทำไม ทำไมรักษา

ท่านอาจารย์: แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องจิตว่าอย่างไร? จะได้ไปรักษาได้

ท่านผู้ถาม: นั่นซิ รักษาจิต รักษาจิต เราก็ยังงงว่าทำไม

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ทุกคำ ต้องศึกษาอย่างละเอียดยิ่งด้วยความเคารพยิ่ง เพื่อเข้าใจถูกใน อริยสัจจ์ รอบที่ ๑ ตื้นแค่ไหน กว่าจะลงลึกไปถึงปฏิเวธะ ประจักษ์แจ้งเดี๋ยวนี้เกิดดับ เห็นเกิด ถ้าเห็นไม่เกิด ไม่มีเห็น แล้วเห็นก็ดับ ขณะที่ได้ยินจะเห็นไม่ได้ แค่นี้ก็ลวงเราแล้วด้วยความไม่รู้เพราะความรวดเร็ว

ท่านผู้ถาม: ไม่ทราบจริงๆ ค่ะว่า เห็นก็ตาเห็น ก็เห็น เห็นแล้วยังไง เห็นแล้วก็เห็นอย่างอื่น อะไรอย่างนี้ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เราไม่คิดยาว คิดสั้นๆ ตาเห็นได้ไหม?

ท่านผู้ถาม: ตาเห็นค่ะ

ท่านอาจารย์: เห็นได้ไหม ตา?

ท่านผู้ถาม: ก็ ตา มีหน้าที่เห็นค่ะ

ท่านอาจารย์: ไม่ใช่ ตา เห็นไม่ได้เลย ตาเป็นตา หลับตาก็มีตา ก็ไม่เห็นอะไร กำลังได้ยินเสียงก็มีตา แต่ได้ยินไม่ใช่เห็น ต้องตรงกับหนึ่ง คือหนึ่ง จิตจะเป็นสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้ สิ่งที่ถูกรู้ปรากฏเป็นสีสันวรรณะ จะเป็นจิตไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ อะไรก็ปรากฏว่ามีไม่ได้ ไม่มีโลก ไม่มีทุกอย่างในโลกนี้ถ้าไม่มีธาตุรู้

ท่านผู้ถาม: ต้องยอมรับว่า จะต้องฟัง และศึกษาอีกนานเหมือนกัน

ท่านอาจารย์: ค่ะ แล้วก็เริ่มรู้ว่า นี่เป็น คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า? จริงไหม? ถ้าจริง ก็คือ คำ ของพระองค์

ท่านผู้ถาม: อีกอย่างหนึ่ง ก็คือที่สงสัยอยู่ในใจ ก็คือว่า ที่เรามาเรียนรู้จากท่านอาจารย์นี่ เป้าหมาย ก็คือไม่ให้เราติดข้อง ไม่ให้เรายึด ...

ท่านอาจารย์: ไม่ใช่ ไม่ใช่ เป้าหมาย เราฟังทำไม?

ท่านผู้ถาม: ก็นั่นซิค่ะ ก็สงสัยอยู่ท่านอาจารย์ให้เป้าหมายของเราคืออะไร?

ท่านอาจารย์: ของแต่ละคน เพราะฉะนั้น ใครฟังธรรม ไตร่ตรองซิว่า ฟังธรรมทำไม? ถ้าไม่รู้จุดประสงค์ ไม่รู้จะไปฟังทำไม

เพราะฉะนั้น แม้แต่คำถามว่า ฟังทำไม ก็ต้องไตร่ตรอง

ท่านผู้ถาม: ก็ที่ถามว่า เพื่อปัญญาใช่ไหม ก็บอกว่า ไม่ใช่

ท่านอาจารย์: แต่ยังไม่รู้จักปัญญา แล้วปัญญาจะเกิดได้ไหม? นี่ค่ะ คือความละเอียดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความลึกซึ้งของธรรม ประมาทไม่ได้เลย พระองค์ไม่ได้ตรัสง่ายๆ ให้เราไปทำ แล้วบำเพ็ญพระบารมีมาอะไร ง่าย ให้คนโน้นไปทำ ไม่ใช่เลย ต้องเข้าใจ ธรรมคืออะไร? เดี๋ยวนี้เป็นธรรมหรือเปล่า? ธรรม คือสิ่งที่มีจริง อะไรบ้าง? จริงทั้งนั้นเลย แต่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

ท่านผู้ถาม: กราบขอบพระคุณค่ะ

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

การรู้ชื่อของวัตถุ เป็นของจริงหรือเปล่า

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่ ...

นึกถึงธรรมขณะใดก็เป็นชื่อหมด

ต้องเป็นปัญญาของตนเอง

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ และกราบยินดีในความดีของท่านพลโทชัชพัชร์ - คุณกนกรัตน์ แย้มงามเรียบ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ