Thai-Hindi 20 Jan 2024

 
prinwut
วันที่  20 ม.ค. 2567
หมายเลข  47296
อ่าน  183

Thai-Hindi 20 Jan 2024


- (คุณอาช่าได้ยินว่ามี ๒ เจตสิกเกิดพร้อมกันทุกครั้งคือ วิตกและวิจาร ในภาษาฮินดี วิจาร คือพิจารณา ตามคำสอนของพระพุทธองค์จะให้เข้าใจวิจารกับวิตกอย่างไร) นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดมากเราไม่สามารถจะรู้ได้ แต่เราสามารถไตร่ตรอง ค่อยๆ คิดพิจารณาธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

- สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมละเอียดมากแม้สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมก็ละเอียด แต่นามธรรมที่ไม่มีลักษณะปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายแต่เกิดรู้ตั้งแต่ไหนแต่ไรตั้งแต่เริ่มเกิดจนกระทั่งเดี๋ยวนี้เป็นสภาพที่ลึกซึ้ง ฟังแล้วค่อยๆ ไตร่ตรอง

- เพราะฉะนั้นเราจะต้องเข้าใจว่า แม้เดี๋ยวนี้นามธรรมที่คุณอาช่ากล่าวถึงก็กำลังมีแต่ยังไม่รู้เลยทั้งสิ้นแม้ในสภาพที่มีจริงแต่ไม่ใช่เราเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นจะข้ามอะไรไม่ได้เลยต้องเริ่มละเอียดถึงคำว่า “จิตเป็นธาตุรู้” เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่เจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมซึ่งไม่ใช่เป็นใหญ๋ในการรู้แจ้ง เราต้องพิจารณาตั้งแต่ “ผัสสะ”

- เดี๋ยวนี้ผัสสเจตสิกปรากฏไหม (ไม่ปรากฏให้รู้) จิตซึ่งเป็นธาตุรู้เป็นใหญ่ในการรู้ขณะนี้ปรากฏหรือยัง (ไม่เข้าใจจิต) ไม่ปรากฏทั้ง ๒ อย่างใช่ไหม (ไม่ปรากฏ)

- ฟังธรรมต้องละเอียดยิ่งไม่คิดเองเลย “ไม่คิดเอง” หมายความว่าอะไร คิดเองเท่าไหร่ก็ไม่รู้ลักษณะที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งหมายความว่าอะไร ถ้าไม่ละเอียดลึกซึ้งจริงๆ จะไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง

- เพราะฉะนั้นได้ยินคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งคือเข้าใจคำของพระองค์ถูกต้อง ถ้าฟังคำของพระองค์แล้วคิดเอง ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งหมายความว่า ได้ยินคำของพระองค์ ไตร่ตรองให้เข้าใจแต่ละคำของพระองค์ตามที่พระองค์ตรัส

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ธาตุรู้มี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือ จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน แต่ธรรมอื่นที่รู้อารมณ์เดียวกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีลักษณะหลากหลายต่างกัน ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งจะเกิดเองตามลำพังไม่ได้ต้องอาศัยกันเกิดขึ้น จิตเกิดเองไม่ได้ต้องมีสภาพรู้ที่อาศัยกันเกิดขึ้นคือเจตสิก ทำกิจของเจตสิกนั้นๆ พร้อมกับจิต

- คุณอาช่าไม่สงสัยในผัสสเจตสิกใช่ไหม (ไม่สงสัย) ถ้าจิตมีแต่ผัสสเจตสิกเพียงอย่างเดียวจะเกิดขึ้น “รู้แจ้ง” สิ่งที่กำลังปรากฏไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้นต้องมีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย

- ขณะที่เห็นเกิดขึ้นมีผัสสเจตสิกไหม (คุณราจิสตอบว่ามีแต่ไม่เข้าใจ) ขณะนี้เห็นเกิดขึ้นมีผัสสเจตสิกไหม (มี) มีวิตกเจตสิกไหม (คิดว่าไม่มี) คิดเองหรือว่าฟังมา (จำได้ว่าไม่มี) จำได้แต่ไม่เข้าใจใช่ไหม (ใช่) เพราะฉะนั้น เรียนธรรมอย่างนี้จะไม่รู้ความจริง ถ้าคิดเองอย่างนี้จะไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

- เริ่มรู้จักพระพุทธเจ้า เริ่มเคารพพระองค์ว่า เราไม่สามารถที่จะรู้ขณะนี้มีเจตสิกอะไรเกิดกับจิต ถ้าไม่รู้ว่าธรรมทั้งหมดเกิดเพราะเหตุปัจจัยละเอียดขึ้นๆ จะละความเป็นตัวตนความเป็นเราไม่ได้

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า จักขุวิญญาณ ๑ ขณะเกิดขึ้นเห็นเพราะมีการกระทบของรูปกับสภาพที่เป็นธาตุรู้รู้การกระทบนั้น ถ้าผัสสเจตสิกเป็นสภาพรู้อารมณ์ที่กระทบเกิด จิตจะไม่รู้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นแล้วแต่ว่าขณะนั้นผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์อะไร จิตต้องรู้เฉพาะอารมณ์ที่ผัสสะกระทบเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อผัสสเจตสิกกระทบอะไรใครจะยับยั้งไม่ให้จิตรู้อารมณ์นั้นไม่ได้จึงไม่ต้องมีวิตกเจตสิก ขณะที่จิตและผัสสเจตสิกเกิดรู้อารมณ์มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วยที่ไม่ใช่ผัสสเจตสิก

- ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงจากที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ยิ่งทุกประการมากกว่านี้อีก เราจะไม่รู้ได้เลยว่า ขณะเห็นเกิดขึ้น ๑​ ขณะมีเจตสิกเกิดพร้อมจิตอะไรบ้าง เจตสิกอะไรบ้างมที่เกิดพร้อมจิตเห็น พระองค์ทรงแสดงว่า ขณะเห็นเกิดขึ้น ๑​ ขณะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยซึ่งไม่ใช่วิตกเจตสิก

- ใครจะรู้ว่าจิตเห็นเกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะแล้วดับ จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นไม่เห็นไม่ใช่จักขุวิญญาณ แต่อารมณ์ยังไม่ดับไป เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดเพราะจักขุวิญญาณเห็นแล้วดับทำให้จิตนั้นเกิดต่อรู้อารมณ์นั้นโดยมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prinwut
วันที่ 20 ม.ค. 2567

- การที่จิตต่อจากจิตเห็นเกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกับจิตเห็นโดยไม่เห็นต้องอาศัยเจตสิกที่ “จับ” ใช้คำว่าจับหมายความว่า ผัสสะกระทบแล้วดับแล้วพร้อมกับจิตเห็น ขณะต่อไปมีผัสสะกระทบอีกแต่ไม่เห็นจึงต้องจับอารมณ์ที่เห็นเกิดแล้วดับเพื่อที่รู้อารมณ์นั้นต่อไป และขณะนั้นไม่มีใครรู้ว่า วิตกเจตสิกเกิดขึ้น “จับ” อารมณ์นั้นรู้อารมณ์นั้นมีเจตสิกอีก ๑ ประคองวิตกให้รู้ให้จับอารมณ์นั้น

- เพราะฉะนั้นหลังจากจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ๑๐ ดวงนี้ดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อต้องมีวิตกและวิจารเกิดรู้อารมณ์นั้นต่อโดยไม่เห็นแต่ทำหน้าที่ของตนๆ นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราไม่อาศัยคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะคิดเองได้ไหม

- พระองค์ทรงแสดงว่า จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นจิตที่มีกำลังอ่อนมาก นี่เป็นการเริ่มเห็นความลึกซึ้งซึ่งถ้าคิดเองจะไม่มีความเข้าใจความจริงจะไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ทั้งหมดที่ได้ฟังลึกซึ้งอย่างยิ่งที่สามารถจะค่อยๆ ละความเป็นเรา เพราะธรรมไม่ใช่เราเป็นอนัตตา

- จุดประสงค์ของการฟังพระธรรมคำจริงเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ เพื่อรู้ความจริงมั่นคงว่า ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา เป็นอนัตตาทั้งหมด เมื่อยังไม่รู้ว่าไม่ใช่เราก็เป็นเราที่เห็น เราที่ฟัง เราที่คิด เราที่จำ ยังเป็นเราตลอดไปจนกว่าจะเข้าใจความจริงทีละเล็กทีละน้อยจนหมดสิ้นความเป็นเรา เป็นพระมหากรุณาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

- ขณะที่ฟังเรื่องวิตก ฟังเรื่องวิจาร ฟังทุกเรื่องเป็นเราทั้งหมดจนกว่าจะเข้าใจธรรมที่มีจริงซึ่งละเอียดลึกซึ้งเกิดดับเร็วสุดที่จะประมาณ เข้าใจแต่ละ ๑ จนสามารถที่จะรู้ทั่วในขั้นของปริยัติการฟังมั่นคงไม่มีเราแต่เป็นธรรมเพราะถ้าไม่รู้ว่าเป็นธรรมก็ยังเป็นเรา

- ความไม่รู้และการยึดถือธรรมว่าเป็นเรามีมานานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ยากแสนยากที่จะทำให้หมดความเข้าใจผิดและความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นเรา ต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในการที่จะรู้ทีละเล็กทีละน้อยว่า เป็นธรรมแต่ละ ๑ ไม่ใช่เราหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย

- (คุณมานิชถามว่า ฟังว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราแต่ยกตัวอย่าง เช่น พอออกจากห้องสนทนาก็ยังเป็นเรา เราสะสมอวิชชามามากตรงนั้นจะให้เข้าใจว่าอย่างไร เวลาเดียวกันเราพบว่ามีแต่ธรรมแต่เราก็สะสมความไม่รู้มามากสอดคล้องกันอย่างไรและจะเข้าใจอย่างไร) จริงไหม (ถ้าไม่จริงเวลาฟังอะไรก็คงเข้าใจหมดแล้ว) เพราะฉะนั้นคุณมานิชพูดจริงตามที่พูดใช่ไหม (พูดจริง) เปลี่ยนความจริงไม่ได้เปลี่ยนคำพูดไม่ได้ใช่ไหม (เปลี่ยนไม่ได้)

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดงว่า ธรรมลึกซึ้งยากที่จะเห็นได้เพราะว่าพระองค์ขณะที่บำเพ็ญพระบารมียังไม่รู้ความจริงอย่างที่พระองค์ตรัสอย่างที่พระองค์ได้บรรลุแล้ว ยังสงสัยไหมว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีนานเท่าไหร่ ทรงฟังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ กี่พระองค์กว่าจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะฉะนั้นเราฟังความจริงเพื่อรู้ความจริงว่าลึกซึ้ง

- (คุณอาช่าขอฟังวิตกวิจารเพิ่มเติม อยากฟังเพิ่มเติมฟังแค่นี้ไม่พอจิตเห็นมีผัสสะกระทบอารมณ์ส่วนจิตที่เกิดต่อมีวิตกทำหน้าที่จับอารมณ์มีวิจารทำหน้าที่ประคอง) ถูกต้องเพื่อที่จะรู้อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นการรู้อารมณ์แต่ละครั้งต้องมีเจตสิกที่ยากที่จะรู้ได้ (อยากฟังเพิ่มเติมฟังแค่นี้ไม่พอ) เขาต้องการแค่ไหน

- กุศลจิตมีวิตกวิจารเจตสิกไหม (มี) อกุศลจิตมีวิตกวิจารไหม (มี) สติปัฏฐารมีวิตกวิจารไหม (มี) ปฐมฌานมีวิตกวิจารไหม (มี) ฌานที่ ๒ มีวิตกวิจารไหม (คิดว่าคุณอาช่ายังไม่เคยได้ยิน) นั่นสิคะ แแล้วจะรู้ไปทำไม ยังไม่รู้อะไรเลย จะไปถึงตรงโน้นแล้วเข้าใจอะไรนอกจากชื่อ

- (อยากทราบว่าตอนที่วิตก “จับ” อารมณ์หมายถึงอะไร) เคยจับอะไรไหม (ตอนนี้จับโทรศัพท์อยู่) ขณะที่จิตกำลังรู้แข็ง กายวิญญาณมีวิตกเจตสิกไหม (ไม่มี) ทันทีที่กายวิญญาณจิตดับจิตอะไรเกิดต่อ (สัมปฏิจฉันนะ) สัมปฏิจฉันนะเห็นไหม (ไม่เห็น) สัมปฏิจฉันนะรู้สิ่งที่ตาเห็นไหม (รู้) สัมปฏิจฉันนะเห็นไหม (ไม่) เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนะรู้อารมณ์ที่จิตเห็นเห็นแต่ไม่เห็นจึงต้องมีการจับอารมณ์นั้นจึงจะสามารถรู้อารมณ์นั้นด้วย

- (คุณอาช่าสับสน คิดมา ๒ อาทิตย์แล้วว่าวิจารในภาษาฮินดีหมายถึงพิจารณา อยากได้ยินเพิ่มเติม) ไม่ว่าจะคนอินเดีย คนอังกฤษ หรือคนไทยเข้าใจคำนั้นในขณะที่ไม่รู้สภาพธรรม คนไทยบอกว่า “วิจารณ์เขาพูดถึงเขาเยอะๆ ” แต่ไม่ใช่วิจารเจตสิก เพราะฉะนั้นเรามีคำที่ใช้ในภาษาของเราแต่ต้องเข้าใจความหมายว่าไม่ใช่คำที่เราคิดและไม่ใช่คำที่เรารู้จักแต่เป็นคำที่เราเริ่มรู้ว่าคืออะไร วิจาร “อย่าไปวิจารณ์เขาหนังสือพิมพ์พูดอย่างนี้“ คนไทยพูดหมด ธรรมคนไทยก็พูด วิตก “ไปวิตกกังวลทำไม” คนไทยก็พูดแต่ไม่ใช่สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ”ภาวะ” ความเป็นจริงของธรรมซึ่งอาศัยคำนั้นแต่อธิบายให้ละเอียดว่า ไม่ใช่เหมือนที่เราคิดว่ามีคนแต่เป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นที่เราคิดว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ความจริงเป็นเจตสิกอะไร

- ตอนนี้รู้หรือยังว่า ตั้งแต่เกิดมาทุกชาติพูดคำที่ไม่รู้จัก พูดคำว่า “จิต” รู้จักจิตไหม (ไม่รู้จัก) เพราะฉะนั้นเริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือยัง (เริ่มรู้) พระองค์ตรัสรู้ความจริง เพราะฉะนั้น พระองค์ทรงแสดงความจริงโดยคำแต่ต้องอธิบายคำนั้นให้ชัดเจนว่าหมายถึงอะไร ไม่ใช่อย่างที่เราคิด

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prinwut
วันที่ 20 ม.ค. 2567

- เขาได้ยินคำว่า “วิตก” เขาคิดเอง ๒ อาทิตย์ไม่ได้คิดตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะฉะนั้นจะเข้าใจต่อเมื่อฟังคำของพระพุทธเจ้าเท่านั้นแล้วค่อยๆ ไตร่ตรองตามที่พระองค์ทรงแสดงความจริงทีละเล็กทีละน้อยเพราะว่าเดี๋ยวนี้มีวิตกวิจารแต่ไม่สามารถที่จะรู้ได้เพราะยังไม่ใช่ปัญญาที่สามารถที่จะถึงการประจักษ์แจ้ง

- เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ถ้าไม่เข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังใครก็ไม่รู้ว่าเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า แต่ถ้าเข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วฟังใครก็รู้ว่าเขาพูดคำของพระสัมมาสัมพทุธเจ้าและเข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า เพราะฉะนั้นขณะนี้เชิญถามสิ่งที่เขาต้องการจะรู้จะเข้าใจ

- (คุณโซฮานมารู้ตัวว่าเพิ่งเริ่มได้ฟังและเริ่มเข้าใจความจริงจากคำสอนของพระพุทธองค์ ตอนนี้ในชีวิตประจำวันเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราทำสิ่งที่ผิดหรือเราทำสิ่งที่ถูก) มีเราไหม (ไม่มี) ไม่รู้ความจริงใช่ไหม (ไม่รู้) ใครรู้ (บุคคลที่มีความเข้าใจ) ใคร (เช่นท่านอาจารย์) ไม่ได้ค่ะ ดิฉันรู้เองไม่ได้แน่ ดิฉันไม่ใช่ผู้รู้แน่ แต่ใครรู้และรู้ตามใครเพราะศึกษาคำของใคร (พระพุทธองค์) เพราะฉะนั้นฟังคำของใคร (ฟังแต่พระพุทธองค์)

- รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือยัง (แค่รู้อย่างคนส่วนใหญ่ที่รู้ว่าพระองค์รู้ทุกอย่าง) นับถือพระองค์ไหม (นับถือ) นับถืออะไร (นับถือความเข้าใจ) เข้าใจคำของพระองค์แล้วหรือยัง (เพิ่งเริ่มต้น) เพราะฉะนั้นยังไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม (ยัง) เพราะฉะนั้นหนทางเดียวที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อได้เริ่มฟังคำของพระองค์และเข้าใจ

- เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอะไร (ที่เข้าใจคือว่า เห็นคุณของความเข้าใจ) เข้าใจอะไร (เข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์) แต่พระองค์ตรัสว่าอย่างไร (จากที่ฟังท่านอาจารย์ให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตอนนี้ว่าเวลานี้เราทำอะไรอยู่ให้เข้าใจตรงนี้) ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นต้องเริ่มฟังตั้งแต่ต้นอย่างละเอียดอย่างยิ่งตั้งแต่ต้นจึงสามารถเข้าใจคำของพระองค์ทีละคำเพิ่มขึ้นได้

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา (คุณโซฮานยังไม่เข้าใจตรงนี้) แน่นอน เพราะว่าคิดเองไม่ได้ ทุกคำต้องรู้ว่าลึกซึ้ง ความเคารพสูงสุดคือรู้ว่า ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและจริง ถ้าไม่รู้ว่าพระองค์ตรัสว่าอย่างไรและคำนั้นหมายความว่าอย่างไรเขาไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

- ไม่ต้องรีบร้อนที่จะเข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียวมากมายแต่เริ่มฟัง เริ่มไตร่ตรอง เริ่มเข้าใจความจริงที่มั่นคง ต้องไม่ลืมว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” ทุกคนคิดเองว่า ธรรมเป็นอย่างโน้น ธรรมเป็นอย่างนี้ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งที่มีจริงๆ มีจริงแน่นอนเพราะฉะนั้นคำว่า “ธรรม” หมายถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด

- ยังไม่พูดอนัตตาพูดถึงธรรม เพราะฉะนั้นเรายังไม่พูดถึงอนัตตาเราจะพูดถึงเรื่องธรรม เดี๋ยวนี้มีธรรมไหม (มี) อะไรเป็นธรรมเดี๋ยวนี้ (ได้ยินและเห็น) ทำไมเป็นธรรม (คุณโซอานยังไม่มีพื้นฐานว่าธรรมคืออะไรเพราะตอบว่าตอนที่ได้ยินและเข้าใจเป็นธรรม) เพราะฉะนั้นต้องเริ่มต้น เราไม่ให้เขาไปในความไม่รู้เรื่อยๆ แต่ต้องเริ่มมีความเข้าใจถูกทีละคำซึ่งลึกซึ้งจึงจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไม่ใช่ให้คนอื่นฟังแล้วจำแต่ให้เข้าใจความจริงที่ลึกซึ้ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรม ธรรมมีจริงไหม (มีจริง) เพราะฉะนั้นเมื่อตอบว่ามี ต้องรู้ว่าอะไรมีจึงตอบว่ามี เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้มีธรรมไหม (ตอบว่ามีแต่ยังไม่มั่นใจว่าคืออะไร) เดี๋ยวนี้ที่ตอบว่ามี มีอะไร (สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้คือฟังธรรมอยู่)

- ฟังมีจริงไหม (มี) เสียงมีจริงไหม (มี) ฟังเป็นอะไร (เป็นสิ่งที่มีจริงที่รู้เสียง) แล้วคิดด้วยใช่ไหม (มีคิด) เพราะฉะนั้นคิดเป็นเสียงหรือเปล่า (ไม่) อะไรมีจริง (ทั้งสอง) เหมือนกันไหม (ไม่เหมือนกัน) เพราะฉะนั้นอะไรเป็นธรรม (ทั้งสอง) เป็นโซฮานหรือเปล่า (ไม่เป็น) แล้วเป็นอะไร (เป็นสิ่งที่มีจริงเป็นธรรม)

- ก็เริ่ม แต่ยังไม่พอ ก็ต้องมั่นคงว่าธรรมคืออะไรและอนัตตาคืออะไร คราวหน้าจะได้สนทนากันต่อเพื่อที่จะรู้ว่า เขามั่นคงในคำว่า “ธรรม” และ “อนัตตา” บ้างไหม ถามอีกคำเดียวมีโซฮานไหม (มี) อนัตตาคืออะไร (คุณโซอานยังขัดแย้งตรงนี้ก็อยากจะเข้าใจ)

เพราะฉะนั้นหวังว่าสหายธรรมที่ใช้ภาษาฮินดีคงจะช่วยสนทนากับคุณโซฮาน วันนี้ก็ยินดีมากๆ ในกุศลของทุกคนที่จะรู้ว่า ฟังทั้งหมดทุกคำเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงตามที่ได้ฟัง สวัสดีค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 20 ม.ค. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดี
ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่ตู่ ปริญญ์วุฒิ เป็นอย่างยิ่ง ที่ถอดคำสนทนาของท่านอาจารย์ ทุกคำ เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง
และยินดีในกุศลของผู้ช่วยตรวจทาน และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ม.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ