ขณะไหนเป็นกรรม ขณะไหนเป็นผลของกรรม

 
เมตตา
วันที่  31 ธ.ค. 2566
หมายเลข  47203
อ่าน  340

สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ @มุมไบ วันพุทธที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๖ (ช่วงบ่าย)

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้าที่ ๒๙๓

“ท่านอย่าได้ทำบาปนะ บาปใดอันท่านทำไว้ บาปนั้นจะเผาผลาญท่านในภายหลัง,
บุรุษทํากรรมเหล่าใดไว้ทางกายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร เมื่อเขากลับได้ผลของกรรมนั้น ย่อมพบกรรมเหล่านั้นเองในตน ผู้ทำกรรมดีย่อมเสวยผลดี แต่ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมเสวยผลชั่วช้าลามก ไม่น่าปรารถนา, แท้จริง แม้ในทางโลก บุคคลหว่านพืชเช่นใดไว้ ย่อมนำไปซึ่งพืชนั้น คือ ย่อมเก็บผล ได้รับผล เสวยผลอันสมควรแก่พืชนั้นเอง”


[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๔๕ หน้าที่ ๓๘๖

ปุญญกิริยาวัตถุสูตร

ว่าด้วยเรื่องทำบุญ ๓ ประการ

[๒๓๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้

๓ ประการเป็นไฉน คือ

ทานมัยบุญกิริยาวัตถุ ๑

ศีลมัยบุญกิริยาวัตถุ ๑

ภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้แล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้วในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ ดังนี้ว่า กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ พึงศึกษาบุญนั่นแล อันให้ผลเลิศต่อไป ซึ่งมีสุขเป็นกำไร คือ

พึงเจริญทาน ๑

ความประพฤติเสมอ ๑

เมตตาจิต ๑

บัณฑิตครั้นเจริญธรรม ๓ ประการ อันเป็นเหตุให้เกิดความสุขเหล่านี้แล้วย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน

จบ ปุญญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๑


[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 462

ข้อความบางตอนจาก อรรถกถา ปัญจราชสูตร

ก็แต่ว่า สิ่งที่น่าปรารถนาและสิ่งที่ไม่น่าปรารถนานั้น ก็ไม่อาจกำหนดชวนจิตในอารมณ์ได้. จริงอยู่ ชวนจิต ย่อมยินดีในสิ่งที่น่าปรารถนาก็มี ในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาก็มี ยินร้ายในสิ่งที่น่าปรารถนาก็มี ในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาก็มี.

ด้วยว่า วิบากจิต ย่อมกำหนดอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา โดย อารมณ์อันเดียวกัน. จริงอยู่ พวกมิจฉาทิฏฐิเห็นพระพุทธเจ้าก็ดี พระสงฆ์ก็ดี อารมณ์อันโอฬาร มีมหาเจดีย์เป็นต้นก็ดี ย่อมปิดตา ประสบความเสียใจ ได้ยินเสียงแสดงธรรม ก็ปิดหูทั้งสอง แต่จักขุวิญญาณและโสตวิญญาณ ก็เป็นกุศลวิบากของพวกเขา.

สุกรกินคูถเป็นต้น ได้กลิ่นคูถก็เกิดความดีใจว่า เราจักกินคูถ ดังนี้ ก็จริงอยู่ ถึงกระนั้นจักขุวิญญาณของมันในการเห็นคูถ ฆานวิญญาณในการดมกลิ่นคูถนั้น และชิวหาวิญญาณในการลิ้มรส ย่อมเป็นอกุศลวิบากโดยแท้.


ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความละเอียดของจิตแต่ละขันธ์ บางครั้งจิตเห็นสิ่งที่น่าดูสวยงาม บางครั้งจิตเห็นสิ่งที่ไม่น่าดูน่ากลัวมากกว่า ใครสามารถบังคับให้จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่น่าพอใจได้?

ชาวอินเดีย: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: แต่จิตเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเพราะเป็นผลของกรรมที่เป็นอกุศล ทุกคนได้ยินเรื่องกรรม และผลของกรรม แต่ไม่รู้ว่า ขณะไหรเป็นกรรม ขณะไหนเป็นผลของกรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริง จึงทรงแสดง ความจริง ของจิตแต่ละขณะว่า จิตใดเป็นเหตุ และจิตใดเป็นผล

ทุกคนเกิดมาต่างกัน แม้แต่นกก็ต่างกัน ปลาก็ต่างกัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดต่างกัน ตามกรรมที่ต่างกัน ไม่มีใครเลือกเกิดได้ เพราะเกิดแล้วตามปัจจัย เพราะฉะนั้น กรรมทำให้เกิดต่างกันเท่านั้นไม่พอ

ชาวอินเดีย: ไม่พอ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เกิดแล้วเห็นต่างกัน ได้ยินต่างกัน ได้กลิ่นต่างกัน ลิ้มรสต่างกัน รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่างกัน ขณะนั้นเป็นสุขเป็นทุกข์ เจ็บป่วย อาหารรสอร่อยไม่อร่อยทั้งหมดเป็นผลของกรรม

เพราะฉะนั้น กรรมทำให้เกิดตา เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่มีชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยละเอียดยิ่งให้เข้าใจว่า เป็นธรรม ไม่มีใครเลย นอกจากธรรมต่างๆ เป็นนามธรรม และรูปธรรม

ยุงกัดเจ็บ อะไรเป็นผลของกรรม?

ชาวอินเดีย: ความรู้สึก

ท่านอาจารย์: ความรู้สึกเป็นผลของกรรม พอเจ็บแล้วรู้สึกไม่พอใจ ความรู้สึกไม่พอใจเป็นผลของกรรมหรือเปล่า?

ชาวอินเดีย: การที่ไม่ชอบคัน ไม่ใช่เป็นผล เป็นการกระทำอย่างหนึ่ง โกรธเป็นการกระทำอย่างหนึ่ง

ท่านอาจารย์: ยังไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่ไม่ชอบ

ชาวอินเดีย: เข้าใจว่า ความโกรธมี ไม่ใช่อย่างเดียวกันกับความคัน สองอย่างนี้ต่างกัน

ท่านอาจารย์: ต่างกันอย่างไร?

ชาวอินเดีย: ต่างกันตรงที่ รู้สึกคัน กับโกรธ ไม่เหมือนกัน ตอนที่โกรธจะเป็นนิสัยดี หรือไม่ดี

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ถ้าโกรธไม่ชอบเป็นธรรมหรือเปล่า?

ชาวอินเดีย: เป็น

ท่านอาจารย์: ไม่ชอบเป็นธรรมอะไร นามธรรมหรือรูปธรรม

ชาวอินเดีย: นามธรรม

ท่านอาจารย์: เป็นนามธรรมที่เป็นจิต หรือเจตสิก

ชาวอินเดีย: เจตสิก

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เจตสิกมีเท่าไหร่?

ชาวอินเดีย: มี ๕๒

ท่านอาจารย์: มี ๕๒ รู้จักหมดแล้วหรือยัง?

ชาวอินเดีย: ยัง

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น วันนี้ก็รู้ธรรม จิต เจตสิก รูป

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

กรรมนิยาม คือความแน่นอนของกรรม [ธรรมสังคณี]

ทุกข์กาย เกิดจากเหตุที่ไม่ดี

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

ทุกข์กายเป็นผลของกรรม

ประสบทั้งอิฏฐารมณ์และอนิษฐารมณ์

มั่นคงในกรรมและผลของกรรม

ราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 31 ธ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ