ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๔๔

 
khampan.a
วันที่  24 ธ.ค. 2566
หมายเลข  47098
อ่าน  1,671

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจาก
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษา และพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้


ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๔๔






~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมคือเหตุและผลตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ให้ผู้ฟังเกิดปัญญาเป็นของตัวเอง ประโยชน์สูงสุดคือปัญญาของเราเองที่เกิดจากการไตร่ตรองพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ได้บังคับให้ใครเชื่อ ใครก็บังคับไม่ได้

~ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยละเอียดเพื่อใคร? เป็นพระมหากรุณา เป็นมรดกสำหรับชาวพุทธ ถ้าจะรับมรดกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ด้วยวัตถุ แต่รับมรดกคำสอนซึ่งได้บำเพ็ญพระบารมีแล้วก็ตรัสรู้ แล้วก็ทรงแสดง ๔๕ พรรษา เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจเลย เราไม่ใช่ผู้รับมรดก เพราะไม่ได้รู้อย่างที่ทรงแสดงไว้

~ ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา แล้วก็จะไปทำอย่างอื่นให้ปัญญาเกิดก็ไม่ได้ นอกจากฟังแล้วเข้าใจขึ้น ทุกคนเป็นสาวก คือผู้ฟัง ฟังพระธรรม ไม่ใช่ไปคิดเอง หรือว่าไปตั้งกฎระเบียบทางลัดขึ้นมาเองว่าทำอย่างนี้แล้วจะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น เพราะว่าปัญญาคือความเข้าใจ จะมีวิธีไหน ถ้าไม่ฟัง ไม่อ่าน ไม่ไตร่ตรอง ไม่พิจารณา ไม่มีหนทางเลย

~ ถ้าเราเห็นประโยชน์ของเมตตา เราก็คงจะเมตตาเพิ่มขึ้น คนที่เราเคยไม่ชอบ ลองคิดถึงเขาเดี๋ยวนี้ ความรู้สึกเปลี่ยนหรือเปล่า หรือว่าเหมือนเดิม ยังไม่ชอบอย่างเก่า หรือไม่ชอบมากขึ้น? นั่นก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนที่จะได้พิจารณาว่าการศึกษาธรรมประโยชน์อยู่ที่ค่อยๆ น้อมประพฤติปฏิบัติตาม เพราะเห็นคุณค่าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ แล้วสอนละเอียดมากทุกอย่างที่จะชี้โทษให้เห็นว่า โทษเป็นโทษ อกุศลเป็นอกุศล แล้วก็ควรจะอบรมทางฝ่ายกุศลเพิ่มขึ้น

~ พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะตรัสรู้ เป็นสิ่งที่สามารถจะอบรมได้จริงๆ เข้าใจได้จริงๆ แต่ต้องเป็นผู้ที่อดทน ไม่ใช่เป็นผู้ที่ใจร้อน อยากจะรู้ในชาตินี้ หรือว่า ไม่กี่วัน กี่เดือน ก็สามารถที่จะหลงไป คิดว่าเข้าใจได้แล้ว นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ตรง

~ ประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม ก็คือสามารถที่จะเข้าใจได้ถูกต้องว่าธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ แล้วก็เป็นอภิธรรม เป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่ แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น โดยที่ไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้เลย

~ มีจิตอ่อนโยน ไม่คิดถึงความไม่ดีของคนอื่น หรือว่าถ้าคิด ก็คิดด้วยความเมตตา แล้วก็คิดที่ว่าจะเกื้อกูลเขาอย่างไรที่จะทำให้เขาดีขึ้น ถ้าใครที่ไม่ดี แล้วเรามีโอกาสที่จะทำให้เขาดี น่าปลาบปลื้มใจได้ช่วยชีวิตเขา

~ เมื่อเข้าใจตามความเป็นจริงก็จะเข้าใจได้ว่าธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่เวลาที่เรายังไม่เข้าใจ ก็จะเห็นว่าธรรมเป็นเรา เข้าใจผิดว่าธรรมที่เกิดขึ้นเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมที่พระผู้มีภาคเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง เพื่อให้หยั่งถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหมด

~ ทุกขณะที่เกิดขึ้นมีปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น แต่ละขณะจิต ย่อมเป็นไปตามปัจจัย แต่พระธรรมก็ได้ทรงแสดงให้พิจารณาให้เข้าใจถูกต้อง ตามความเป็นจริงว่า แม้ยังมีอกุศล แต่ก็ควรถึงการกระทำ คือ กุศลกรรมด้วย มิฉะนั้นแล้ว เราก็จะมีแต่อกุศลมากมาย

~ ปัญญานำไปในกุศลทั้งปวง ไม่ต้องห่วงเลย เพราะปัญญารู้ว่า ถ้าอกุศลเกิด ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความโลภ การแข่งดี มายา หรืออะไรก็ตามแต่ ขณะนั้นก็พอกพูนความไม่รู้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ระลึกได้แล้วก็เป็นกุศล สิ่งที่ไม่เคยทำ ก็ทำ เพราะกุศลจิตเกิด สามารถที่จะช่วยเหลือ อนุเคราะห์ สงเคราะห์หรือพูดหรือทำอะไรก็ได้ ในทางกุศลเพิ่มขึ้น

~ เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ที่จะละคลายกิเลสเป็นเรื่องที่ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปจริงๆ แม้แต่ในขั้นของความเข้าใจ ถ้าจะติดตามฟังพระธรรมอยู่เรื่อยๆ พิจารณาพระธรรมอยู่เรื่อยๆ ก็จะเห็นได้ว่า ความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากตอนต้นนี้มาก แต่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย โดยที่ไม่มีกำหนดรู้ได้ว่าเพิ่มขึ้นมากในตอนไหน แต่จะต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปเรื่อยๆ

~ ต้นเหตุของทุกปัญหา ก็คือ ความไม่รู้ จะแก้ได้ ก็ต่อเมื่อเป็นความรู้จริงๆ เพราะถ้าเราเข้าใจธรรม เรารู้ว่าอะไรดี อะไรชั่วจริงๆ อะไรถูกอะไรผิดจริงๆ ความรู้นั้นต่างหากที่จะนำชีวิตไปในทางที่ถูกต้องในทางที่เป็นกุศล ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ยืนหยัดในความถูกต้องในทางที่เป็นกุศลที่ดีงาม จะไม่ทำชั่ว

~ ถ้าท่านถูกใครหลอกลวงสักคนหนึ่ง และท่านก็โกรธแค้นผู้ที่มาหลอกลวงท่าน นั่นเป็นการเพิ่มอกุศลของตนเอง เพราะว่าไม่ได้รู้ความจริงว่าเป็นเพราะกรรมของท่านเองที่ทำให้คนนั้นมาหลอกลวงท่าน ทำไมเขาไม่หลอกลวงคนอื่น ถ้าเขาเป็นนักหลอกลวง เขาก็หลอกลวงไปเรื่อยๆ แต่ทำไมจึงต้องเป็นท่าน ถ้าท่านไม่ได้กระทำเหตุไว้ในอดีต เขาก็คงจะหลอกลวงคนอื่น คงไม่ถึงคราวของท่าน แต่เมื่อท่านได้ประสบกับเหตุการณ์อย่างนั้น ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงกรรมของท่านเองที่ได้กระทำแล้วว่าท่านเองก็คงได้กระทำกรรมลักษณะอย่างนั้นมาแล้วในอดีต

~ เรื่องของการได้รับความเสียหายจากการกระทำของคนอื่น เป็นสิ่งที่จะเตือนให้ระลึกถึงกรรมในอดีตของตนเองได้ว่าท่านคงได้เคยกระทำกรรมอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิด ท่านผู้ฟังที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น จะเห็นคุณของสติจริงๆ ว่า ถ้าสติไม่เกิด ก็เป็นโอกาสของอกุศลจิตที่ยืดยาว และจะเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นอกุศลกรรม แต่เวลาที่สติเกิดขึ้น มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะทำให้ท่านเบาจากอกุศลจิตในขณะนั้นและมีความเห็นถูกตามความเป็นจริงเกิดขึ้นตามกำลังของปัญญาในขณะนั้น

~ ผู้ที่เห็นว่าขณะใดจิตไม่เป็นกุศลก็ย่อมจะเป็นอกุศลแต่ละประเภทซึ่งละเอียดมาก แม้บางครั้งไม่เป็นเหตุให้กระทำทางกาย ทางวาจา แต่จิตใจในขณะนั้นก็เป็นอกุศล เมื่อเห็นความละเอียดของอกุศลอย่างนี้ จึงไม่รั้งรอที่จะบำเพ็ญความดีเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ซึ่งแม้ว่าจะกระทำความดีสักเท่าไรๆ ก็ยังไม่พออยู่นั่นเอง เพราะว่าตราบใดที่ไม่กระทำความดี จิตก็ต้องเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ควรเจริญกุศลทุกประการ ด้วยการอบรมตนเองให้เป็นผู้ที่มีความอดทน คิดถึงคนอื่น แทนที่จะคิดถึงตนเองเสมอๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ก็มีโอกาสที่กุศลจิตจะเกิดมากกว่าอกุศล

~ ถ้าเป็นอกุศลธรรม ก็ไม่ควรจะสั่งสมให้มากขึ้น ควรที่จะระลึกรู้ในสภาพความเป็นจริงของอกุศลว่า เป็นอกุศล เพื่อที่จะได้ละคลายให้เบาบางจนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท (ละได้อย่างเด็ดขาด)

~ ถ้าท่านเริ่มเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลทั้งหลาย และเจริญธรรมที่เป็นกุศลธรรม ก็จะเป็นผู้ที่อ่อนโยน เป็นผู้ที่ง่ายขึ้นในการที่จะทำให้กุศลจิตเกิดแทนอกุศล

~ ชีวิตของเราที่เป็นทุกข์ ได้สิ่งที่ไม่พอใจบ้าง หรือว่าต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจหรือต้องสูญเสียสิ่งที่พอใจ ซึ่งไม่มีใครบังคับบัญชาได้ ต้องเศร้าโศก เกิดมาแล้วไม่มีใครสักคนหนึ่งที่จะไม่เศร้าโศกด้วยประการใดๆ ก็ตาม จะมากจะน้อยก็ตาม แต่ผู้ที่มีปัญญาสามารถที่จะดับความเศร้าโศกได้ ไม่เกิดอีกเลย

~ ผู้ละอาย คือ ผู้ที่รู้ว่าถ้าตราบใดที่ไม่ได้ฟังคำที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ ก็จะไม่รู้อย่างนี้ อีกกี่ภพกี่ชาติ ก็จะเป็นอย่างนี้แหละ ละอายหรือยัง? เพราะเหตุว่ามีคำที่จะทำให้เข้าใจได้ ถ้าจะเห็นประโยชน์ของการที่เกิดมาแล้วสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มีตามความเป็นจริงได้ ขณะนั้นก็เริ่มเป็นผู้ละอายต่อความไม่รู้



ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๔๓


... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
jaturong
วันที่ 24 ธ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Jans
วันที่ 24 ธ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
j.jim
วันที่ 24 ธ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ธ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
swanjariya
วันที่ 24 ธ.ค. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
mon-pat
วันที่ 24 ธ.ค. 2566


~ เรื่องของการได้รับความเสียหายจากการกระทำของคนอื่น เป็นสิ่งที่จะเตือนให้ระลึกถึงกรรมในอดีตของตนเองได้ว่าท่านคงได้เคยกระทำกรรมอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิด ท่านผู้ฟังที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น จะเห็นคุณของสติจริงๆ ว่า ถ้าสติไม่เกิด ก็เป็นโอกาสของอกุศลจิตที่ยืดยาว และจะเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นอกุศลกรรม แต่เวลาที่สติเกิดขึ้น มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะทำให้ท่านเบาจากอกุศลจิตในขณะนั้นและมีความเห็นถูกตามความเป็นจริงเกิดขึ้นตามกำลังของปัญญาในขณะนั้น..กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
มังกรทอง
วันที่ 24 ธ.ค. 2566

ขอน้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 25 ธ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในความดีของทุกท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ