ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง

 
เมตตา
วันที่  18 ธ.ค. 2566
หมายเลข  47084
อ่าน  352

สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ @มุมไบ วันพุทธที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๖ (ช่วงเช้า)

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 233

ข้อความบางตอนจาก

มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร

ผู้ไม่คำนึงถึงสี่งที่ล่วงแล้ว

[๕๕๕] ท่านพระมหากัจจานะจึงได้กล่าวดังนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุเทศโดยย่อแก่เราทั้งหลายว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคล นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้ มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปยังพระวิหาร นี้แล ข้าพเจ้าทราบเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้

[๕๕๖] ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปว่า จักษุของเราได้เป็นดังนี้ รูปได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่า คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียงว่า โสตของเราได้เป็นดังนี้ เสียงได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่นว่า ฆานะของเราได้ เป็นดังนี้ กลิ่นได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรสว่า ชิวหาของเราได้ เป็นดังนี้ รสได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะว่า กายของเรา ได้เป็นดังนี้ โผฏฐัพพะได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ว่า มโนของเราได้เป็นดังนี้ ธรรมารมณ์ได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินมโมและธรรมารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่า คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว. ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่า คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ผู้ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว

[๕๕๗] ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปว่า จักษุของเราได้เป็นดังนี้ รูปได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะจึงไม่เพลิดเพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่า ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียงว่า โสตของเราได้เป็นดังนี้ เสียงได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่นว่า ฆานะของเราได้เป็นดังนี้ กลิ่นได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรสว่า ชิวหาของเราได้เป็นดังนี้ รสได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะว่า กายของเราได้เป็นดังนี้ โผฏฐัพพะได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในกายและธรรมารมณ์ว่า มโนของเราได้เป็นดังนี้ ธรรมารมณ์ได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะ จึงไม่เพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลายอย่างนี้แล ชื่อว่า ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 47

ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าตถาคต เพราะทรงเห็นแต่ความจริง เป็นอย่างไร

ตอบว่า แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ตถาคตย่อมทรงรู้ ทรงเห็น อารมณ์คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมะ ที่มาปรากฏในทวารคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ ในโลกธาตุที่ไม่มี ประมาณโดยอาการทั้งปวง เหตุนั้น จึงชื่อว่า ตถาคต เพราะทรงเห็นแต่ ความจริงอย่างนั้น. อีกนัยหนึ่ง ทรงแสดงแต่สิ่งที่แท้ในโลก แก่โลก. อย่าง นั้นเท่านั้น แม้เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงชื่อว่า ตถาคต ในที่นี้ พึงทราบความหมายแห่งบทว่า ตถาคต ในอรรถว่าทรงเห็นแต่ความจริงแท้.


ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พระองค์ตรัสว่า ธรรมละเอียด ลึกซึ้ง ยากที่จะรู้ได้ เท่าที่เรากล่าวแล้วเป็นเบื้องต้นของการนำไปสู่การเข้าใจจนกว่าประจักษ์แจ้งความจริงตามลำดับทีละเล็กทีละน้อย

ถ้าเราไม่เข้าใจความจริงเดี๋ยวนี้ จะถึงวิปัสสนาได้ไหม เพราะฉะนั้น วิปัสสนา ไม่ใช่สถานที่ ไม่ใช่นั่ง ไม่ใช่เดิน แต่เป็นการเข้าใจสิ่งที่มีซึ่งเกิดดับ

เริ่มเข้าใจ ความจริง ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏ มีจริงๆ ถ้าไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย ไม่มีใจ จะมีอะไรปรากฏไม่ได้ และสิ่งที่ปรากฏจะเกิดขึ้นเป็น สิ่งหนึ่ง ปรากฏได้ทางทวารหนึ่งเท่านั้น ถ้าขณะนี้มีเห็น แล้วไม่รู้เห็น จะเป็นวิปัสสนาไม่ได้ ถ้ามีได้ยิน ไม่รู้ได้ยินและเสียง ก็เป็นวิปัสสนาไม่ได้ เพราะฉะนั้น เคารพพระพุทธเจ้าสูงสุดเมื่อค่อยๆ มั่นคงในความจริงที่พระองค์ทรงแสดงเห็น ขณะนี้เกิดแล้วดับ ถ้าไม่มั่นคงเป็น ปริยัติ เป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพราะมีจริงๆ ก็จะไม่เข้าใจ พระปัญญาคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ศึกษาด้วยความเคารพที่จะเข้าใจ ความลึกซึ้ง เดี๋ยวนี้ของธรรม

เพราะฉะนั้น เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความเข้าใจ สิ่งที่พระองค์ตรัส เห็นมีจริง เดี๋ยวนี้กำลังเห็น เห็นเดี๋ยวนี้เกิดแล้วดับ ทุกอย่างที่มีเดี๋ยวนี้ เกิด เพราะมีสิ่งที่อาศัยกันและกัน และการเกิดเป็น สังขารธรรม ถูกต้องไหม?

พระคุณเจ้า: อาตมาเองได้มีโอกาสฟังเรื่องเห็น เรื่องได้ยิน แต่ถ้าเป็นคนตาบอด หูหนวก จะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจได้

ท่านอาจารย์: เขามี คิด ไหม?

พระคุณเจ้า: มี

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่เกิด สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งนั้นได้ ที่สำคัญที่สุดต้องเข้าใจจริงๆ มั่นคง ไม่ใช่ไปรู้ไปเข้าใจสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะยังไม่มี เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดับแล้ว ไม่สามารถรู้ความจริงได้ เพราะไม่มีเหลือ สิ่งที่ยังไม่เกิดไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดแล้วเท่านั้นที่สามารถจะรู้ความจริงได้

ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง

แต่ พราะไม่รู้ ทุกคนจึงคิดแล้วๆ เล่าๆ ถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว และคิดถึงแต่สิ่งที่จะทำ จะเกิด จะทำให้มีขึ้น แต่ถ้ารู้ความจริงว่า ไม่มีใครสามารถจะทำให้อะไรเกิดขึ้นได้เลย และไม่มีใครสามารถจะให้สิ่งที่เกิดแล้วไม่ดับได้ เพราะเป็นธรรม

คิด มีจริงไหม? ห้ามคิดไม่ให้เกิดคิดได้ไหม?

พระคุณเจ้า: ไม่ให้คิด เกิดได้

ท่านอาจารย์: ทำอย่างไร เดี๋ยวนี้กำลังคิด

พระคุณเจ้า: ที่เกิดแล้วก็เกิดแล้ว ไม่มีใครห้ามได้ แต่ว่าต่อจากนี้สามารถทำอะไรที่ไม่ให้เกิดได้ ทำความคิดต่างๆ ไม่ให้เกิดได้

ท่านอาจารย์: กรุณาทำซิ

พระคุณเจ้า: ทำไม่ได้

ท่านอาจารย์: นี่คือ ผลของความเพียร การรู้ว่า ความจริง คืออะไร


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุคคลเอก

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 187

ที่ชื่อว่าบุคคลเอก เพราะอรรถว่ากระไร? เพราะอรรถว่า ไม่มีผู้อื่นเหมือน เพราะอรรถว่าพิเศษโดยคุณ เพราะอรรถว่า เสมอกับพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีบุคคลเสมอ. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไม่เหมือนกับมหาชนทั่วไป โดยคุณคือโพธิสมภารนับตั้งแต่ทรงรำพึงถึงบารมี ๑๐ ตามลำดับและโดยพระพุทธคุณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุคคลเอก เพราะอรรถว่า ไม่มีใครเหมือนบ้าง.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงมีคุณพิเศษกว่าคุณของเหล่าสัตว์ผู้มีคุณทั่วไป เพราะเหตุนั้น จึงชื่อบุคคลเอก เพราะอรรถว่า มีความพิเศษโดยคุณ. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนๆ ไม่เสมอด้วยสัตว์ทุกจำพวก แต่พระผู้มีพระภาคเจ้านี้พระองค์เดียวเท่านั้นเป็นผู้เสมอกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น โดยพระคุณคือรูปกาย และพระคุณคือนามกาย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า บุคคลเอก เพราะอรรถว่าเสมอกับพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีผู้เสมอ.


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 103

๒. เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูปอื่นอีก [๒๐๕]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุ ๕๐๐ รูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สพฺเพ สงฺขารา" เป็นต้น.

ภิกษุเรียนกัมมัฏฐาน

ดังได้สดับมา ภิกษุเหล่านั้นเรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดาแล้ว แม้พากเพียรพยายามอยู่ในป่า ก็ไม่บรรลุพระอรหัต จึงคิดว่า "เราจักเรียนกัมมัฏฐานให้วิเศษ" ดังนี้แล้วได้ไปสู่สำนักพระศาสดา.

ทางแห่งความหมดจด

พระศาสดาทรงพิจารณาว่า "กัมมัฏฐานอะไรหนอแล เป็นที่สบายของภิกษุเหล่านี้" จึงทรงดำริว่า "ภิกษุเหล่านี้ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป ตามประกอบแล้วในอนิจจลักษณะสิ้น ๒๐,๐๐๐ ปี, เพราะฉะนั้น การแสดงคาถาด้วยอนิจจลักษณะนั้นแลแก่เธอทั้งหลาย สัก ๑ คาถาย่อมควร ดังนี้แล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย สังขารแม้ทั้งปวงในภพทั้งหลายมีกามภพเป็นต้น เป็นสภาพไม่เที่ยงเลย เพราะอรรถว่ามีแล้วไม่มี" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๒. สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปญฺาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.

"เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์, ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด."


ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

มหากรุณาสมาปัตติญาณนิทเทส

เพราะไม่รู้จึงเป็นเราเห็น

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่ ...

การบูชาสูงสุด

ศึกษาอย่างไรจึงจะถึงตัวจริงของธรรม

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 20 ธ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
swanjariya
วันที่ 20 ธ.ค. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดีในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ธ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ