Thai-Hindi 06 May 2023

 
prinwut
วันที่  6 พ.ค. 2566
หมายเลข  45857
อ่าน  507

Thai-Hindi 06 May 2023


- มีใครคิดบ้างว่า สิ่งที่เป็นธรรมดาที่สุดอย่างนี้ลึกซึ้งอย่างยิ่ง กว่าจะรู้ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงเพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ไม่ง่ายเลย แต่ต้องเข้าใจความจริงว่า ถ้าไม่สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ จะไม่มีการเข้าใจอะไรได้เลยตามความเป็นจริง

- ทุกคำที่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีแต่ละ ๑ ขณะที่มีจริงๆ

- ทุกครั้งที่จะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องรู้ว่า พูดถึงสิ่งที่กำลังมีแน่นอนแต่ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นๆ จนสามารถที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมีตามลำดับ

- ถ้ามีความรู้เรื่องต่างๆ มากมายแต่ไม่รู้ความจริงของขณะเดี๋ยวนี้มีประโยชน์ไหม เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องตั้งต้นว่า เดี๋ยวนี้มีอะไร หรือเป็นอะไรทุกครั้ง

- เพราะฉะนั้น เริ่มต้นด้วยคำว่า เดี๋ยวนี้มีอะไรซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ (เห็น)

- เห็นเกิดหรือเปล่า (เกิด) “เห็น” เกิดเองได้ไหม (เกิดเองไม่ได้) นี่แสดงว่า กำลังเริ่มที่จะเข้าใจ “เห็น” ที่กำลังเห็น

- ถ้าไม่มีสิ่งที่ทำให้เห็นเกิดขึ้น เห็นเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้สิ่งที่อาศัยปรุงแต่งให้เห็นเกิดขึ้นคือ “ปัจจัย” แต่ละอย่างที่ทำให้เห็นเกิดขึ้นได้

- เพื่อให้เข้าใจถูกต้อง ทุกครั้งที่เราพูดเรื่องอะไรต้องไม่ลืมว่า ต้องมี “ปัจจัย” สิ่งที่อาศัยที่ทำให้สิ่งนั้นเกิด สิ่งนั้นจึงเกิดได้เดี๋ยวนี้

- เพราะฉะนั้น ปัจจัย ๑ ที่ทำให้เห็นเกิดขึ้นคืออะไร (อารัมมณปัจจัย) ไม่ได้บอกให้พูดถึงชื่อเท่านั้น ถ้าบอกว่า “อารัมมณปัจจัย” อะไรเป็นอารัมมณปัจจัยให้เห็นเกิดขึ้นได้ (สี)

- สิ่งที่กระทบตา ถ้าไม่กระทบตา เห็นเกิดได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น นอกจากสิ่งที่กระทบตาเป็นสีสันวรรณะที่เป็นอารัมมณปัจจัยมีปัจจัยอะไรอีก (วิปากปัจจัย)

- ไม่ได้ถามอย่างนั้นเลย ทำไมไปคิดถึงวิบาก เดี๋ยวนี้เองสำหรับเฉพาะเห็น ไม่ได้ถามว่า เห็นเป็นอะไร แต่ถามว่า เห็นเกิดได้เพราะต้องมีปัจจัยอาศัยทำให้เห็นเกิด สิ่งหนึ่งคือ “สิ่งที่กระทบตา” ทำให้เห็นสิ่งนั้นเป็น “อารัมมณปัจจัย” เพราะเห็นสิ่งนั้นและนอกจากนั้นมีอะไรอีกที่เป็นปัจจัย ไม่ได้ถามถึงวิบากเลย เพราะฉะนั้น ฟังธรรมต้องละเอียดมากๆ มิฉะนั้น จะไม่เข้าใจ เพราะกำลังจำ ให้เขาค่อยๆ นำมาสู่การเข้าใจเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เพียงพูดเรื่องเห็น

- (ถ้าไม่มีตาก็ไม่มีเห็น) เพราะฉะนั้น มี ๒ ปัจจัยที่เรากล่าวถึง (๒ปัจจัย) ยังไม่ต้องเอ่ยถึง “ชื่อ” ของปัจจัยก็ได้แต่รู้ว่า เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็นต้องมีตาแน่นอน ถ้าไม่มี “ตา” เห็นจะเกิดไม่ได้

- (คุณมานิชมีคำถามว่า แสง มีส่วนอะไรในการเห็น) ถ้าไม่มีเห็นจะมีแสงปรากฏไหม (ไม่ปรากฏ) เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นแสง จะเป็นสีต่างเป็น “สิ่งที่กระทบตา” ใช่ไหม (ใช่) ไม่ต้องไปมากเรื่องคิดอะไร แต่ให้เข้าใจตรงๆ อะไรก็ตามที่ปรากฏให้เห็น “จิต” ต้องเห็นสิ่งนั้นแล้วแต่จะเรียกชื่อหรือไม่เรียกชื่อก็ต้องเห็นสิ่งนั้น

- ขณะที่สีหรือแสงหรืออะไรก็ตามกำลังปรากฏให้เห็น ขณะนั้น มีปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น “รู้” สิ่งนั้นหรือเปล่า (มี)

- ถ้าไม่มีอะไร “กระทบตา” จะเห็นสิ่งนั้นได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ปัจจัยหนึ่งคืออะไร (สิ่งที่ปรากฏทางตา) เพราะฉะนั้น เป็น “อารัมมณปัจจัย” เพราะว่า เป็นสิ่งที่ทำให้จิตเกิดขึ้นรู้เฉพาะสิ่งนั้น

- ขณะเกิดมีอารัมมณปัจจัยไหม (มี) อะไรเป็นอารัมมณปัจจัยขณะที่เกิด (อารมณ์ของจิตที่เกิดก่อนจุติจิตของชาติก่อน) เขารู้ไหม (ไม่รู้)

- เพราะฉะนั้น เก่งมากที่เข้าใจตรงและไม่ลืม จิตเป็นสภาพรู้ที่อารมณ์ปรากฏและไม่ปรากฏแล้วแต่ปัจจัย

- ตั้งแต่เกิดมามีขณะไหนบ้างที่ไม่มีจิต (ไม่มี) เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตายรู้จิตทางไหนบ้าง (ทางปัญจทวารกับทางมโนทวาร)

- เพราะฉะนั้น แสดงว่า จิตเกิดขึ้นตั้งแต่เกิดต้องรู้อารมณ์แต่ขณะนั้น “อารมณ์ไม่ปรากฏ” จนกว่าจะมีสิ่งที่กระทบตา กระทบหู กระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบกาย กระทบใจเกิดขึ้น จึงรู้สิ่งที่มากระทบเหล่านั้นได้

- เพราะฉะนั้น จึงมีคำถามว่า ก่อนเห็นมีจิตไหม (มีจิต) จิตอะไร (อาวัชชนะ) ก่อนอาวัชชนะมีจิตไหม (มีเป็นภวังค์) ไม่ได้ถามชื่อ แต่ถามว่ามีไหม เพราะฉะนั้น ทุกคนติด “คำ” ถามอะไรก็ตอบเป็น “คำ” แต่เขาไม่สามารถที่จะเข้าใจหนทางที่จะรู้จักจิต

- ใครๆ ก็เรียนชื่อได้ จำชื่อได้ ถามใครๆ ก็ตอบชื่อได้ แต่เดี๋ยวนี้มีจิตที่ “อารมณ์ไม่ปรากฏ” ไหม (มี) มีเมื่อไหร่ (ตอนนี้) ตอนนี้คือตอนไหน (หลังเห็น) ต้องถามเขาก่อนเห็นมีจิตที่ “ไม่เห็น” และมีจิตที่ไม่เห็นจะมีอีกเมื่อไหร่ที่เขาตอบคือหลังเห็นใช่ไหม (ใช่) นั่นคือถูกต้อง แสดงให้เขาเข้าใจถูกต้องว่า“เห็น” สั้นมาก เพราะว่า เห็นนิดเดียวก็มีจิต ที่เสียงดับไปแล้วได้ยินเกิดไม่ได้ รู้เสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะนั้นเป็นขณะที่จิตไม่ได้มีอารมณ์ที่ปรากฏ จุดนี้เป็นจุดที่เขาจะต้องเข้าใจว่า อารมณ์ไม่ปรากฏเมื่อไหร่ เมื่อไม่มีจิตเห็น ก่อนเห็น และเมื่อจิตเห็นดับไปแล้วแสดงให้เห็นความสั้นที่สุดที่เขาจะเริ่มรู้ว่า ชีวิตคือแค่นี้

- ก่อนได้ยินมีเสียง “ปรากฏ” ไหม ก่อนจิตได้ยินเกิดมีจิตไหม (อาช่าตอบว่าก่อนได้ยินไม่มีได้ยินแต่มีจิต) แปลว่าเขาเข้าใจถูกต้องแล้ว แล้วหลังได้ยินมีจิตไหม (ก็มีจิต) มีจิตอะไรที่ไม่ใช่ชื่อ (มานิชตอบว่า จิตที่อารมณ์ไม่ปรากฏ)

- นี่เป็นสิ่งที่เขาจะต้องเข้าใจขึ้นว่า ชีวิตเป็นอย่างนี้เดี๋ยวนี้แต่ไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง นี่เป็นการแสดงให้เข้าใจถูกต้องว่า จิตไม่เคยขาดเลยตั้งแต่เกิด

- มีจิตเห็นตลอดเวลาได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น มั่นคง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา ไม่มีเราเพราะไม่เหลือ

- จิตทุกขณะเป็น “สุญญตา” หรือเปล่า (คิดว่าส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคำว่า สุญญตา) เคยได้ยินไหม (เคยได้ยินแต่ไม่เคยสนทนา) นี่เป็นสิ่งที่จะต้องระลึกอยู่เสมอว่า ได้ยินคำไหนไม่ใช่ได้ยินเฉยๆ แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

- เดี๋ยวนี้มีอะไรเกิดไหม (มี) สิ่งที่เกิด ดับไหม (ดับ) สิ่งที่เกิดดับไปแล้วจะกลับมาเกิดอีกได้ไหม (ไม่ได้) การดับไปไม่เกิดอีกคือ “สุญญตา”

- เพราะฉะนั้นเราไม่ตอบอะไร ไม่บอกอะไร ให้เขาคิดเองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่มั่นคงเพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดแล้วดับไม่กลับมาได้เลยเป็น “สุญญตา”

- ใครทำอะไรให้เกิดขึ้นได้บ้าง (ไม่มีใครทำได้) แล้วสิ่งที่เกิดแล้วไม่ดับได้ไหม (เป็นไปไม่ได้) แล้วสิ่งที่เกิดแล้วเปลี่ยนสิ่งนั้นให้เป็นสิ่งอื่นได้ไหม (ไม่ได้) นี่คือความหมายของ “อนัตตา” (คุณราเยสไม่เข้าใจไม่เคยได้ยินคำนี้) ต้องอธิบายเป็นภาษาฮินดี ใช่ไหม (คุณอาช่าอธิบายแล้วแต่ยังไม่เข้าใจ)

- เดี๋ยวนี้มีอะไร (มีเห็น) เขาทำให้เห็นเกิดขึ้นหรือเห็นเกิดเพราะมีปัจจัยจึงเกิด (เกิดเพราะเหตุปัจจัย) ใครเปลี่ยนให้เห็นเป็นได้ยินได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น เห็นไม่ใช่คน ไม่ใช่นก ไม่ใช่งู ไม่ใช่มด เห็นเป็นเห็นนั่นคือ ไม่ใช่ใครหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งจึงเป็น “อนัตตา” ไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเป็นใครเลยทั้งสิ้น

- โดยมากคนคิดว่า เขา “เข้าใจ” ธรรม ได้ยินคำแล้วเข้าใจแต่เขา “ไม่รู้จัก” ธรรมเลย เขาคิดว่า ธรรมเป็นนก ธรรมเป็นคน ธรรมเป็นโต๊ะ ธรรมเป็นพระอาทิตย์ ธรรมเป็นภูเขา เป็น “อัตตา”​ แต่ธรรมแต่ละ ๑ เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดแล้วดับไปแล้วไม่กลับมาอีก จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยนี่คือ “อนัตตา” ไม่ได้เป็นอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างที่เคยเข้าใจว่า เป็นนก เป็นคน ฯลฯ

- มีคุณสุคินไหม (ไม่มี) แล้วมีอะไร (ธรรมอย่างหนึ่ง) อย่างเดียวหรือ (หลายอย่าง) แต่ละอย่างเกิดแล้วดับใช่ไหม (ใช่) กลับมาเกิดอีกได้ไหม (ไม่ได้) นั่นคือความหมายของ “สุญญตา” เพราะฉะนั้น ทั้งหมดเป็นธรรมที่มีปัจจัยเกิดบังคับบัญชาไม่ได้ เกิดแล้วดับไปไม่กลับมาอีกเป็น “อนัตตา” และ“สุญญตา” สงสัยอะไรไหม (ไม่มีคำถาม)

- เดี๋ยวนี้มีปัจจัยอะไร (คุณมานิชจำชื่อไม่ได้แต่บอกว่ามีสีปรากฏ) สิ่งที่จิตรู้เป็น “อารมฺมณ” เพราะฉะนั้น สิ่งนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดจิตโดยเป็นสิ่งที่จิตรู้คือ “อารมฺมณปจฺจย”

- ขณะไหนไม่มีอารัมมณปัจจัย (ก่อนเห็นกับหลังเห็นไม่มีอารัมมณปัจจัย) ผิด ก่อนเห็นมีจิตไหม (มี) เมื่อมีจิตต้องมีอารัมมณปัจจัย ใช่ไหม มิฉะนั้น จิตก็ไม่รู้อะไรไม่เกิดขึ้น (เข้าใจแล้ว) ถามอีก ขณะไหนไม่มีอารัมมณปัจจัย (ไม่มี) ถามอีกที ขณะไหนไม่มีอารัมมณปัจจัย (ตอนที่สุญญตา) ไม่ใช่ คำถามว่าขณะไหนไม่มีอารัมมณปัจจัย (ไม่มี) ถามอีกที (คุณมานิชตอบว่า ไม่มีขณะไหนที่ไม่มีอารัมมณปัจจัย) เพราะฉะนั้น ก็ถามอีกที ขณะไหน ไม่มีอารัมมณปัจจัย (ไม่ทราบ) ขณะที่ไม่มีจิต

- ธรรมเปลี่ยนได้ไหม (ไม่ได้) ไม่มีจิตแต่มีอารัมณปัจจัยได้ไหม (ไม่ได้) ไม่มีอารัมมณปัจจัยแต่มีจิตได้ไหม (ไม่มีอารัมมณปัจจัยไม่มีจิต)

- เดี๋ยวนี้อะไรเห็น (จิต) ถ้ามีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่ไม่มีเห็น ไม่มีจิตได้ไหม (ไม่ได้) นี่คือสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพราะพระองค์ “รู้แจ้ง” จิต

- เดี๋ยวนี้อาคิ่ลเห็น อาช่าเห็น มานิชเห็น หรืออะไรเห็น (จิตเห็น) รู้จักจิตเห็นหรือยัง (ยัง) ถูกต้อง เพราะฉะนั้น คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีระดับต้น ระดับกลาง ระดับประจักษ์แจ้ง

- เพิ่งเข้าใจว่า ไม่ใช่อาช่าเห็น แต่เป็นจิตเห็น นี่เป็นขั้นต้นแต่ยังไม่รู้จักจิต ถ้าไม่ฟังก็ลืมว่า กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เราแต่เป็น “ธาตุรู้” เกิดขึ้นเห็น

- เดี๋ยวนี้มีจิตแน่นอนแต่ถ้าไม่รู้ว่า จิตคืออะไรไม่มีทางที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นจิต

- เห็นเป็นจิตหรือเป็นเจตสิก (เป็นจิต) ทำไมว่าเป็นจิตไม่ใช่เจตสิก (เพราะว่า เห็นแค่รู้แจ้งอารมณ์) เพราะว่า ธรรมแต่ละ ๑ ปะปนกันไม่ได้ จิตไม่ใช่เจตสิก เจตสิกไม่ใช่จิต


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prinwut
วันที่ 6 พ.ค. 2566

- เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดถึงจิตที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะเกิดร่วมด้วยทั้งหมดมีเท่าไหร่ (๑๘) มีอะไรบ้างประเภทใหญ่ๆ (จำได้ ๔-๕ คือ ปัญจทวาราวัชชนะ ผลของกุศลคือ…) แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ก่อนโดยชาติ อเหตุกะทั้งหมดมี ๑๘ ต่างกันมีกี่พวก (วิบาก) วิบากอย่างเดียวหรือ (กุศลหรืออกุศล) กุศลวิบาก ไม่ใช่กุศลเท่านั้น (จำได้เฉพาะวิบาก) เพราะฉะนั้น เหลือจิตอีกกี่ดวงที่ไม่ใช่วิบาก ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ (ไม่ทราบที่เหลือว่าคือจิตประเภทไหน)

- รู้จักปัญจทวาราวัชชนจิตไหม (รู้จักแต่ไม่ได้ตอบเพราะเข้าใจว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตมี ๕) เดี๋ยวก่อนทั้งหมดมี ๑๘ ใช่ไหม เป็นกุศลวิบากเท่าไหร่ เป็นอกุศลวิบากเท่าไหร่ (อกุศลวิบาก ๗ กุศลวิบาก ๘) ทั้งหมดเป็นวิบากจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ (๑๕) ทั้งหมดอเหตุกะที่ไม่ประกอบด้วยเหตุมีเท่าไหร่ (๑๘) เพราะฉะนั้นเป็นวิบาก ๑๕ ใช่ไหม (ใช่) เหลือเท่าไหร่ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ (๓) เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล (ไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศล) เพราะฉะนั้นเป็นอะไรถ้าไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก เพราะฉะนั้นเป็นอะไร (กิริยา) เพราะฉะนั้นรู้แล้วใช่ไหม อเหตุกะ ๑๘ เป็นกุศลอกุศล ๑๕ เป็นกิริยา ๓ ถูกต้องไหม

- เพราะฉะนั้น เขารู้จักกิริยาจิตที่เป็นอเหตุกะแล้วหรือยังว่ามีอะไรบ้าง (รู้ ๑ คือ ปัญจทวาราวัชชนะ) ทำไมไม่ใช่วิบาก (ไม่สามารถอธิบายได้ ไม่เข้าใจ) เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นกุศลวิบากจะรู้อารมณ์ที่ดีเท่านั้น รู้อารมณ์ที่ไม่ดีไม่ได้เพราะเป็นผลของกุศล และถ้าเป็นอกุศลวิบากจะรู้อารมณ์ที่ดีไม่ได้ ต้องรู้อารมณ์ที่ไม่ดีเพราะเป็นผลของอกุศล แต่ปัญจทวาราวัชชนะเป็นวิถีจิตแรก เริ่มต้นปัญจทวาราวัชชนะคืออะไร ปัญจทวาราวัชชนะเป็นวิถีจิตแรก

- คำว่า “เป็นวิถีจิตแรก” ขณะแรกหมายความว่าอะไร (หมายความว่า หลังจากภวังค์สุดท้าย)

- หมายความว่า ก่อนจะรู้อารมณ์อื่น จิตรู้อารมณ์อะไร ถามว่าก่อนวิถีแรกจะเกิดจิตรู้อารมณ์อะไร กำลังพูดถึงเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นจะเข้าใจธรรมต้องเดี๋ยวนี้ (จิตนั้นรู้อารมณ์ที่ไม่ปรากฏ) นี่แหละจะเริ่มเข้าใจชีวิตจริงๆ กำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ ก่อนเห็นไม่มีเห็นแล้วจิตรู้อารมณ์อะไร

- เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เรียกชื่อ เดี๋ยวนี้เองจิตกำลังมีอารมณ์ที่ไม่ปรากฏแล้วก็มีเห็น เพราะฉะนั้น ในขณะที่รู้อารมณ์ที่ไม่ปรากฏ ไม่เห็นแต่ต้องรู้อารมณ์ที่ไม่ปรากฏ

- ถ้าถามคำถามหนึ่งจะรู้ว่า ที่ฟังมาแล้วทั้งหมดเขาเข้าใจและไม่ลืมหรือเปล่า นี่เป็นเหตุที่จะทำให้เห็นประโยชน์สูงสุดของความเข้าใจ เพราะว่าถ้าเราไม่ย้อนกลับไปให้เขาพิจารณาว่าเขาเข้าใจแค่ไหน “ฟังไปก็ลืม”

- นี่เป็นเหตุที่เราพูดซ้ำๆ บ่อยๆ พูดแล้วพูดอีก เดี๋ยวพูดโน่น เดี๋ยวพูดนี่เพื่อจะให้รู้ว่า ที่เขาได้ฟังทั้งหมดเขาเข้าใจหรือแค่จำ เพราะฉะนั้นเตรียมฟังคำถามเพื่อที่จะรู้ว่า ต้องฟังคำถามแล้วรู้ว่าถามอะไร แล้วตอบให้ตรงตามที่ได้เข้าใจ อย่าลืม “เท่าที่เข้าใจ” ตามที่ได้เข้าใจแล้ว

- เพราะฉะนั้น ฟังดีๆ ไตร่ตรองแล้วตอบ ก่อนเห็นมีจิตไหม (มี) จิตรู้อารมณ์อะไรก่อนเห็น (รู้อารมณ์ที่เห็นจะเห็น) ยัง ฟังดีๆ ก่อนเห็น ก่อนเลยยังไม่มีเห็นเลย จิตรู้อารมณ์อะไร (คำตอบคือเป็นภวังค์และอารมณ์คืออารมณ์ของ…)

- นี่แหละทำไมไม่ถามสั้นๆ เขาตอบมาเราจะได้รู้ว่า ตรงไหนที่เขาจะต้องเข้าใจชัดเจน เราพูดยาวมากเลยไม่รู้ว่าอะไร เพราะฉะนั้น ตอบสั้นๆ ตามคำถามเท่านั้น เราจะได้ค่อยๆ ไปค่อยๆ ไปให้ลึกซึ้งว่าเขาจำได้หรือเปล่า (ขอเริ่มใหม่)

- เริ่มถามว่า ก่อนเห็นมีจิตไหม ตอนนี้เราจะพูดเรื่องจิตกับอารมณ์เท่านั้น (มี) อารมณ์อะไร (อารมณ์ชาติก่อน) เรากำลังพูดถึงว่า ปรากฏหรือไม่ปรากฏ เขาไปรู้ได้อย่างไรว่าชาติก่อน ขณะก่อนเห็นมีอารมณ์ไหม? มีอารมณ์อะไร เราไปคิดถึงชาติก่อนทำไม เราไม่ได้ถามถึงชาติก่อน เราถามถึงอารมณ์ก่อนเห็น ต้องฟังคำถามไม่อย่างนั้นปัญญาไปลึกซึ้งไม่ได้

- (คำตอบแรกว่าอารมณ์ของชาติก่อน) รู้หรือว่าเป็นอารมณ์ของชาติก่อน ไม่ได้ถามว่าเป็นอารมณ์มาจากไหน ฟังดีๆ ไม่ได้ถามว่าอารมณ์นั้นมาจากไหน ถามว่าก่อนเห็นจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ไหม (มีอารมณ์) อารมณ์อะไร (อารมณ์เดียวกับที่เห็นเห็น) ถามสั้นๆ อารมณ์อะไร (อารมณ์นี้ไม่ปรากฏ) ถูกต้องแค่นี้ แสดงให้เขามั่นใจจริงๆ ว่า จิตเกิดต้องรู้แต่อารมณ์ที่ไม่ปรากฏก็มีและอารมณ์ที่ปรากฏก็มีเพื่อที่จะได้เข้าใจคำว่า “วิถีจิต” แต่เรายังไม่พูดแต่ให้เขาเข้าใจจริงๆ ว่าอารมณ์มี ๒ อย่างแต่จิตไม่เคยขาดหายไปเลย จิตต้องเกิดและต้องรู้อารมณ์แต่อารมณ์มี ๒ อย่างเพราะจริงๆ เป็นอย่างนั้น คือ อย่างหนึ่งไม่รู้ว่าอารมณ์อะไร เพราะอารมณ์ไม่ปรากฏ อีกอย่างหนึ่งเช่น เสียง เสียงปรากฏ สีปรากฏ กลิ่นปรากฏ เพราะฉะนั้น เป็นจิตต่างๆ กัน

- พูดถึงชื่อจิตไม่ยากแต่พูดถึงจิตเดี๋ยวนี้ยากที่จะให้รู้ว่าเป็นจิต เริ่มมีความเข้าใจที่มั่นคงถึงแม้ไม่มีสีไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีคิดนึก ไม่มีอะไรก็มีจิต

- ถ้ามีความเข้าใจรอบรู้ในแต่ละคำ ถามอะไรก็จะเข้าใจและจะตอบได้ เพราะเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้น ความต่างกันของเพียง “ฟังรู้เรื่อง” กับ “เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง” ต่างกันมาก

- กำลังเห็นไม่ว่าจะเข้าใจว่า คุณอาช่าคุณอาคิ่ลเห็นหรือนกเห็นแต่เห็นเป็นเห็น เพราะฉะนั้น จิตก่อนเห็นเป็นจิตที่มีอารมณ์ที่ไม่ปรากฏ จิตที่เกิดก่อนเห็นแต่ละคนเหมือนกันไหม (มี ๒ คำตอบเหมือนตรงที่ทำกิจภวังค์ ที่ไม่เหมือนตรงอารมณ์ไม่เหมือน)

- เอาชื่อเข้ามาอีก ภวังค์ เพราะฉะนั้น นกก็เห็น ก่อนเห็นจิตของนก ที่ว่าคนเห็น ก่อนเห็นจิตของคน เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดก่อนเห็นไม่ได้รู้อารมณ์อะไรที่ปรากฏเพราะอารมณ์ไม่ปรากฏ แต่จิตที่อารมณ์ไม่ปรากฏนั้นของคนกับของนกเหมือนกันไหม (เหมือนกัน)

- จิตของนกก่อนเห็นกับจิตของคนก่อนเห็นเหมือนกันหรือ จิตก่อนเห็นของนกกับจิตก่อนเห็นของคนเหมือนกันไหม (ไม่เหมือน) เห็นไหม เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจคำถาม ตอบให้ตรงคำถาม มีคำถามที่จะถามอีกต่อไปแต่เราพูดเรื่องอื่นหมด ไม่ถึงคำถามนั้นต้องเก็บไว้คราวหน้า

- วันนี้เขาเข้าใจธรรมละเอียดขึ้นอีกนิดหน่อยไหม นี่เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันให้เขาเข้าใจให้ถูกต้องมิฉะนั้นจะ “ไร้ประโยชน์มาก” ถ้าเข้าใจแต่ชื่อ เดี๋ยวนี้มีจิตได้ยิน มีจิตก่อนได้ยิน เริ่มเข้าใจถูกต้องขึ้นทีละน้อยว่าไม่ใช่เราอย่างไร

- ยินดีในกุศลความอดทนของแต่ละคนที่จะฟังอีกเพราะรู้ว่าเพียงเท่านี้ไม่พอ ยังไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงความละเอียดอย่างยิ่งของธรรม ต้องอดทนต่อไปอีกมากเพราะเป็นประโยชน์สูงสุด ก็ยินดีในกุศลของทุกคนและของคุณสุคินด้วยนะคะ สวัสดีค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prinwut
วันที่ 6 พ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลของคุณสุคินและผู้ร่วมสนทนาชาวอินเดียทุกท่าน

ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณอันชิสา (คุณสา) และ คุณจิรัชพรรณ์ (คุณซี) ในความกรุณาที่ช่วยตรวจทานความถูกต้อง

ยินดีในส่วนกุศลของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 6 พ.ค. 2566

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดี
ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่ตู่ ปริญญ์วุฒิ เป็นอย่างยิ่ง ที่ถอดคำสนทนาของท่านอาจารย์ ทุกคำ เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง
และยินดีในกุศลของผู้ช่วยตรวจทาน และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
siraya
วันที่ 7 พ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณตู่ ปริญญ์วุฒิ เป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ