Thai-Hindi 22 April 2023

 
prinwut
วันที่  22 เม.ย. 2566
หมายเลข  45812
อ่าน  483

Thai-Hindi 22 April 2023


- ตอนนี้เรากำลังพูดถึง “อกุศลวิบาก” มีเท่าไหร่ (๗) ไม่ลืม ต้องไม่ลืมแน่นอน เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แล้วเป็นเราหรือเปล่า (ไม่ได้เป็นเรา)

- ไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร (เป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดด้วยเหตุปัจจัยและดับตามเหตุปัจจัย)

- เพราะฉะนั้นฟังคำถามดีๆ อกุศลวิบากไม่ใช่เราแต่เป็นอะไร (เป็นจิต) แล้วเป็นเจตสิกด้วยหรือเปล่า เจตสิกเป็นวิบากด้วยหรือเปล่า (เจตสิกที่เกิดพร้อมกันเป็นวิบากด้วย)

- เพราะฉะนั้นเจตสิกกับจิตที่เกิดพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เกิดขึ้นพร้อม “กรรม” ที่จะเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ไม่น่าพอใจ จิตเป็นผลของกรรมดีหรือกรรมไม่ดี ใช่ไหม (ใช่)

- กรรมทำให้เกิดวิบากจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกันและทำให้เกิดอะไรด้วย (ทำให้เกิดรูปด้วย)

- เก่งมากที่จะไม่ใช่เพียงจำชื่อแต่ต้องรู้ว่าเดี๋ยวนี้มีอกุศลวิบากจิต อกุศลวิบากเจตสิก และมีรูปด้วยหรือเปล่า (มี)

- รูปเป็นวิบากด้วยหรือเปล่า (ไม่ได้เป็นวิบากแต่เป็นผลของกรรม)

- เก่งมาก นี่เป็นสิ่งซึ่งถ้าเข้าใจแล้วจะไม่ลืมเพราะความต่างกันของจิตเจตสิกและรูป

- รูปเป็นวิบากไม่ได้เพราะอะไร (รูปไม่ใช่จิตเจตสิกเฉพาะจิตเจตสิกเป็นวิบาก) เพราะอะไร (ถ้าพูดถึงวิบากต้องเป็นนามธรรม) เพราะรูปไม่รู้อะไรใช่ไหม ใครจะตีรูป ใครจะแทงรูปใครจะตัดรูป รูปไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้นรูปจึงไม่ใช่สภาพรู้เป็นวิบากไม่ได้

- รูปที่ไม่ใช่ผลของกรรมมีไหม (มี) ถ้าไม่ใช่ผลของกรรม รูปนั้นเกิดจากอะไร (นึกได้ ๒ ปัจจัยที่ทำให้เกิดรูปนอกจากกรรม คือ อาหารกับอุตุ) มีรูปที่เกิดจากจิตไหม (เป็นไปได้ ไม่แน่ใจ)

- กำลังพูดมีเสียงไหม (มี) ผลที่ได้ยินทุกคำเกิดจากอะไร (อยากให้เริ่มต้นใหม่ ยังสับสน ไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจเรื่องรูปที่เกิดจากกรรมคืออะไรบ้าง)

- รูปที่เกิดจากกรรมมี “จักขุปสาท” ใครก็ทำไม่ได้นอกจาก “กรรม” ที่จะทำให้จักขุปสาทเกิดหรือไม่เกิด เพราะฉะนั้น “จักขุปสาท” “โสตปสาท” “ฆานปสาท” “ชิวหาปสาท” “กายปสาท” เป็นรูปที่เกิดจากกรรม ต้นไม้ไม่มีจักขุปสาท ไม่มีโสตปสาท เพราะต้นไม้ไม่ได้เกิดจากกรรมแต่เกิดจากอุตุ

- เราพูดถึงสิ่งที่มีจริงเพื่อเข้าใจความจริงที่กำลังมีให้เข้าใจ สิ่งที่มีขณะนี้ถ้าไม่รู้เลย ละความเป็นเราไม่ได้

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ ใครก็ไม่สามารถจะรู้ความจริงได้เลย เพราะฉะนั้นทุกคำของพระองค์แสดงให้เข้าใจ “ความจริง” ของสิ่งที่กำลังมีขณะนี้

- ใครจะรู้บ้างว่า ขณะนี้ “รูป” ต่างกันเป็นรูปที่เกิดจาก “กรรม” เป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากจิตเดินไปเดินมา ทำอาหารเกิดจาก “จิต” เป็นสมุฏฐาน รูปที่เกิดจาก “อุตุ” ทำให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นต้น รูปที่เกิดจาก “อาหาร” ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต

- ขณะเกิดมีรูปเกิดด้วยจากกรรมหรือเปล่า เพราะฉะนั้นพระธรรมต้องเริ่มเป็นคนที่ไตร่ตรองคิดพิจารณาละเอียดเพราะพระธรรมลึกซึ้ง ถ้าเพียงแต่ “รู้จักชื่อ” จำได้จะไม่เข้าใจความลึกซึ้งของธรรมตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ได้ (ตอนที่เกิดไม่มีรูปที่เกิดจากกรรม) มีแต่จิตเจตสิกหรือ (เข้าใจว่าต้องมีรูปแต่ไม่ได้คิดว่าเป็นรูปที่เกิดจากกรรม)

- เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ต้องรู้ว่า รูปที่เกิดพร้อมจิตเจตสิกต้องเป็นรูปที่เกิดจากกรรม

- กรรมที่ทำให้จิตที่เป็นวิบาก เจตสิกที่เป็นวิบากเกิดพร้อมกันกับรูปที่เกิดจากกรรม นี่เป็นเหตุที่เราย้อนกลับไปให้เข้าใจมั่นคงขึ้นเพราะเขาตอบว่า รูปที่เกิดจากกรรมก็มีแต่เราถามถึงขณะเกิดว่าขณะนั้นมีรูปที่เกิดจากกรรมหรือเปล่าเพื่อให้มั่นคง

- รูปที่เกิดพร้อมกับวิบากจิตและเจตสิกในขณะที่เกิดเป็นผลของกรรมเดียวที่ทำให้จิตและเจตสิกที่เป็นวิบากเกิดหรือเปล่า (เป็นกรรมเดียวกัน) นี่เป็นเหตุที่แต่ละคนมีตาต่างกัน มีผิวต่างกัน มีรูปร่างลักษณะต่างๆ กันเป็นสัตว์ เป็นบุคคล รูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกันเลยเพราะกรรมต่างกันมาก

- ผิวหนังของลิง ของงู ของคน ของนกต่างกันไหม (ต่างกัน) คุณอาช่า คุณมธุ ดิฉัน คุณซาร่าคุณโจนาธานต่างกันเพราะกรรมใช่ไหม รูปต่างกันเพราะกรรมด้วย เริ่มเข้าใจกรรมและผลของกรรมตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด

- เราไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่าจิตขณะนี้เกิดดับเร็วเท่าไหร่ จำนวนเท่าไหร่ แต่ก็ปรากฏเป็นสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ซึ่งถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของอะไรได้เลย

- ถ้าไม่เข้าใจความลึกซึ้งอย่างยิ่งของสิ่งที่กำลังมี ไม่สามารถที่จะดับความเป็นว่าเป็นเราและเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เลยนี่เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ถ้าไม่ฟังด้วยความเข้าใจจริงๆ จะไร้ประโยชน์

- ทบทวนอีกครั้งขณะเกิดมีอะไรบ้าง (มีจิตเจตสิกรูป) ดีมาก เพราะฉะนั้นแต่ละคนชีวิตเริ่มต่างกันตั้งแต่เกิด

- ไม่ว่าต่อไปจะต่างกันอย่างไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “ภาวะ” ความเป็นจริงของสิ่งที่มี

- ขณะเกิดเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมยังไม่ปรากฏเป็นรูปร่างคน สัตว์ งู นก ฯลฯ

- เพราะฉะนั้นเราจะพูดถึงธรรมอย่างละเอียดเพื่อให้รู้ความจริงจนกระทั่งสามารถเข้าใจความจริงได้ตามลำดับ

- ขณะเกิดมีรูปอะไร (จำไม่ได้แต่เข้าใจว่ามีมหาภูตรูปและรูปที่เกิด…) ขอโทษ ไม่ได้ถามว่ามีรูปอะไรบ้างแต่ถามว่า ขณะเกิดมีจิตที่เป็นวิบาก เจตสิกที่เป็นวิบากกับรูปที่เกิดจากกรรมเท่านั้นใช่ไหม

- ขณะเกิดมีตาไหม (ไม่มี) หู จมูก ลิ้น กาย มีไหม (ไม่มี) กายมีไหม (ไม่มี) ไม่มีแล้วมีรูปอะไร (หทยวัตถุ) ใครเป็นคนบอก ยังไม่ได้พูดถึง (เคยได้ยิน)

-เพราะฉะนั้นต้องไตร่ตรอง “หทยวัตถุ” คืออะไร ไม่ใช่ได้ยินเฉยๆ แต่ต้อง “คืออะไร” จะได้เข้าใจด้วย (เท่าที่เข้าใจ ยกตัวอย่าง จิตคิดต้องเกิดจากรูป รูปนี้เป็นสมุฏฐานคิดแล้วเรียกว่า หทยวัตถุ)

- แสดงว่า การศึกษาไม่ละเอียด ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นต้องเรียนให้ลึกซึ้งและเข้าใจถูกต้องธรรมที่ลึกซึ้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตามความเป็นจริง

- เพราะฉะนั้นขณะเกิดมีรูปเกิดหรือเปล่าถามอีกครั้ง (มี) เพราะฉะนั้นรูปนั้นเป็นรูป “ที่ตั้ง” ของจิตเจตสิกที่เกิดเพราะจิตเกิดนอกรูปไม่ได้เลยในภูมิที่มีรูป

- ถ้าไม่รู้จักรูปนี้ก็เพียงจำว่า จิตไหนเกิดที่ไหนเท่านั้น เพราะฉะนั้นขณะที่จิตเกิดครั้งแรกเป็น“ปฏิสนธิจิต” ต้องมีรูปที่เกิดจากกรรมเป็น “ที่ตั้ง” ให้จิตนั้นเกิดขึ้นได้ด้วย

- เพราะฉะนั้นกรรมนั้นทำให้รูป ๑ เกิดขึ้นซึ่งต้องมีรูป ๘ รูปเกิดด้วยตามที่เคยฟังมาแล้วมหาภูตรูป ๔ สี กลิ่น รส โอชา รวมเป็น ๘ และต้องมีรูปอื่นมิฉะนั้นแล้ว ๘ รูปก็เหมือนรูปทั่วๆ ไป

- เพราะฉะนั้นรูปนั้นเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน รูปทุกรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานต้องมีอีกรูป ๑ รักษารูปนั้นให้เป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่นคือ “ชีวิตินทริยรูป”

- เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดกรรมทุกรูปไม่เว้นเลยต้องมีรูป ๑ ซึ่งเกิดขึ้นให้รูปนั้นเป็นสิ่งที่ “มีชีวิต” ต่างกับรูปอื่น เพราะฉะนั้นรูปที่ทำให้สิ่งนั้นเป็น “รูปที่มีชีวิต” ต่างกับรูปอื่นเป็น “ชีวิตินทริยรูป” ต้องเกิดจากรูปที่เกิดจากกรรมทุกขณะทั้งหมด นี่เป็นเหตุที่รูปอื่นทั้งหมดไม่ใช่รูปที่เกิดจากกรรมเพราะไม่มีชีวิต

- เพราะฉะนั้นนี่เป็นเหตุที่รูปปั้นหรือรูปวาดของคนของสัตว์ เรารู้ได้ว่าไม่ใช่สัตว์เพราะรูปนั้นไม่มีชีวิตินทริยรูป รูปของคนเป็น สัตว์เป็น นกเป็น งูเป็นต่างกับรูปของงูตาย นกตาย คนตายเพราะไม่มีชีวิตินทริยรูป นี่คือความเป็นไปที่ลึกซึ้งอย่างยิ่งของธรรมที่ละเอียดอย่างยิ่งเพราะเกิดดับเร็วอย่างยิ่ง

- ถ้าไม่ได้ยินคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ไม่รู้ความลึกซึ้งของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้จะไม่สามารถเข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีใครเลยนอกจากธรรมที่เกิดขึ้นดับไปตามเหตุตามปัจจัย

- ที่ได้ฟังมาแล้วทั้งหมด คิดเองได้ไหม (ถ้าไม่เคยได้ยินไม่มีวันคิดได้) เพราะฉะนั้นที่กำลังได้ยินไม่ใช่ปราศจากเหตุ แต่มีเหตุที่ทำให้เกิดการได้ยินคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

- ทุกคนได้ยินคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกันแต่ควมเข้าใจต่างกันความละเอียดลึกซึ้งต่างกันตามเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา

- การฟังธรรมของแต่ละคนในชาตินี้กับการฟังธรรมของบุคคลในครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพานต่างกันตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นแต่ละคนสำนึกรู้ตัวเองว่า กำลังเริ่มต้นที่จะเข้าใจความลึกซึ้งเพื่อจะถึงความลึกซึ้งเหมือนผู้ที่ได้เฝ้าและฟังธรรมจากพระโอษฐ์ในครั้งนั้น

- เพราะฉะนั้นการได้ฟังคำการได้เข้าใจความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สมบัติใดๆ ในโลกทุกชาติ ความรู้แค่นี้ยังไม่พอเพราะฉะนั้นชีวิตที่มีต่อไป “เพื่อเข้าใจพระธรรม” และให้คนอื่นๆ ได้เข้าใจพระธรรมด้วยเป็นสิ่งที่มีค่าและมีประโยชน์สูงสุดในสังสารวัฏฏ์ที่สามารถจะมีชีวิตเพื่อจะได้เข้าใจพระธรรมและทำสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือ ให้คนอื่นได้เข้าใจด้วย

- แต่ต้องไม่ลืมว่า พระธรรมละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ยากที่จะรู้ได้จึงต้องฟังแล้วฟังอีก ไตร่ตรองแล้วไตร่ตรองอีกในสิ่งเดียวที่กำลังคิดไตร่ตรองในขณะนั้นแล้วๆ เล่าๆ จนกว่าจะมีความเข้าใจละเอียดเพิ่มขึ้นมากขึ้นจึงจะละความไม่รู้ในสิ่งนั้นได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องพูดถึงจิตแม้ขณะเดียวคือขณะเกิด

- ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนั้นจะสามารถเข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ได้ไหม เพราะฉะนั้นเราพูดถึงจิตขณะแรกที่เกิด พูดถึงรูปขณะแรกที่เกิดกลับไปเพื่อให้เข้าใจความจริงว่า ผลของอกุศลกรรมทั้งหมดมีเท่าไหร่

- งู นก มีอกุศลวิบากไหม (มี) เกิดเป็นคนมีอกุศลวิบากไหม (มี) นรกมีอกุศลวิบากไหม (มี) อกุศลวิบากในนรกมีเท่าไหร่ (มี ๗) อกุศลวิบากของมนุษย์มีเท่าไหร่ (๗) อกุศลวิบากของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเท่าไหร่ (๗)

- เกิดในนรก เกิดในมนุษย์ ต่างกันอย่างไรในอกุศลวิบาก (มี ๗ เท่ากันแต่ต่างกันที่ความรุนแรงมากขึ้นหรือน้อยกว่า)

- ถูกต้อง เพราะฉะนั้นทีนี้เรื่องรูปในขณะที่เกิดมีรูปอะไรบ้าง เกิดจากอะไรบ้างในขณะที่เกิด (เกิดจากกรรม)

- มีรูปที่เกิดจากจิต มีรูปที่เกิดจากอุตุหรือยัง (เฉพาะรูปที่เกิดจากกรรม) มีรูปที่เกิดจากอาหารหรือยัง (กำลังคิดอยู่แต่ไม่แน่ใจ) คิดเองได้ไหม (รู้ด้วยตัวเองไม่ได้)

- เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมขณะเกิด “กรรม” เป็นปัจจัยให้เกิดจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้นมี “รูปที่เกิดจากกรรม” เท่านั้น

- ลืมหรือยังว่า ขณะเกิดเราได้กล่าวถึงรูปที่เกิดจากกรรมว่ารูปอะไรบ้าง (เท่าที่จำได้คือมหาภูตรูป ๔ และ ๔ รูปที่เกิดกับมหาภูตรูปและชีวิตินทริยรูป) และรูปที่เป็นที่เกิดของจิตด้วยใช่ไหมอีก ๑ รูป (ต้องมี) แล้วก็มี “ภาวรูป” คนละ ๑ เป็น “อิตถีภาวรูป๑” “ปุริสภาวรูป๑” (เข้าใจ) เข้าใจว่า (เข้าใจว่าต้องมี ๑ ใน ๒ รูปนี้เกิดด้วย) แยกกันใช่ไหม ไม่ใช่เกิดพร้อมกัน ๒ รูป (ต้องแยกกัน)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prinwut
วันที่ 22 เม.ย. 2566

- เพราะฉะนั้นวันนี้เราคงจะไม่เรียนเรื่องรูป แต่ต่อไปจะค่อยๆ กล่าวถึง ถ้าเรียนก็ห่างไกลไปอีก แต่ละเรื่องลึกซึ้งมากเพราะฉะนั้นวันนี้เราจะเรียนเรื่องอกุศลวิบาก ๗ ดวงต่อจากคราวก่อน

- เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากมีเท่าไหร่ (๗ ดวง) อะไรบ้าง (จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ชิวหาวิญญาณฆานวิญญาณ สายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะที่เป็นอกุศลวิบาก)

- สัมปฏิจฉันนจิตคืออะไร (เป็นจิต) ทำกิจอะไร จักขุวิญญาณเห็น โสตวิญญาณได้ยิน สัมปฏิจฉันนะทำกิจอะไร (ถึงตอนนี้ตอบได้แค่สัมปฏิจฉันนะคือรับต่อ) หมายความว่า ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคง จิตใดๆ ที่ไม่ใช่จักขุวิญญาณ “ไม่เห็น” แต่รู้อารมณ์นั้นได้โดยกิจต่างๆ

- เห็นความน่าอัศจรรย์ไหม จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น ๑ ขณะเท่านั้นแต่เดี๋ยวนี้ปรากฏว่าเห็นไม่ได้ดับไปเลยเหมือนเห็นตลอดวันแต่จริงๆ แล้วดับ

- น่าอัศจรรย์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สิ่งที่เป็นจริงโดยการแสดงขณะจิตทุกขณะให้เข้าใจว่าความจริงไม่ใช่อย่างที่กำลังปรากฏว่า เห็นไม่เคยดับเลย

- เรากำลังเรียนให้เข้าใจสิ่งที่มีตั้งแต่เกิดจนตายทุกวันว่าเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจิตก่อนเห็น “เห็น” ไหม (ไม่เห็น)

- จิตเห็นดับ จักขุวิญญาณดับ จิตที่เกิดต่อ “เห็น” ไหม (ไม่เห็น) ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ไม่มีอะไรที่จะทำให้สามารถที่จะละคลายความไม่รู้และกิเลสทั้งหลายได้

- รู้เพียงเท่านี้ยังละกิเลสอะไรไม่ได้เลย เป็นสิ่งที่นานที่สุดในสังสารวัฏฏ์ น่าปีติอย่างยิ่งที่มีโอกาสเริ่มเข้าใจความจริงทีละเล็กทีละน้อย มิฉะนั้นก็จะอยู่ในโลกของความมืดสนิทที่จะออกจากความมืดสนิทไม่ได้เลย มีแต่สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเกิดดับๆ แต่ละชาติไม่จบสิ้นโดยที่ไม่มีอะไรเหลือเลยสักอย่าง

- เพราะฉะนั้นเราเรียนให้เข้าใจรู้จักความจริงว่า แต่ละวันมีจิตหลายประเภทมากที่เกิดดับตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น

- จิตเกิดดับมากมายนับไม่ถ้วนแต่เราก็สามารถเข้าใจความต่างของประเภทนั้นๆ ของจิต

- เพราะฉะนั้นเราจะเริ่มเข้าใจว่า ไม่ว่าเกิดดับกี่ชาติ จิตต่างกันเป็นประเภทใหญ่ๆ หลายนัย นัย ๑ คือมีจิตที่เกิดกับโลภะ โทสะ โมหะ หรืออโลภะ อโทสะ อโมหะ กับมีจิตซึ่งไม่มีเหตุ ๖ นี้เกิดร่วมด้วยเลย

- วันหนึ่งๆ ขณะใดที่จิตเห็นเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลงหรืออโลภะ อโทสะเกิดร่วมด้วยเพราะจิตนั้นเกิดขึ้นเพียงเห็นทำกิจเห็นเท่านั้น

- บังคับไม่ได้บางครั้งเห็นสิ่งที่น่าพอใจบางครั้งเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แต่ขณะนี้เรากำลังเริ่มด้วยอกุศลวิบากจิต ๗ ที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะเกิดร่วมด้วยเพื่อที่จะดูว่า จิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยทั้งหมดมีเท่าไหร่

- เพราะฉะนั้นมีอเหตุกจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเป็นอกุศลวิบากเท่าไหร่แล้วที่เราเรียน (มี ๗) ที่เราพูดถึงเดี๋ยวนี้เท่าไหร่ (๗) ๖ ไม่ใช่หรือพูดถึงสัมปฏิจฉันนะ

- สัมปฏิจฉันนะ “รู้” อะไรไหม (รู้) รู้อะไร (รู้อารมณ์ต่อจากเห็น) รู้แค่ไหน (พูดถึงจิตก็รู้ทั่วเพราะเป็นลักษณะของจิต) แต่รู้แจ้ง ลักษณะของจิตรู้แจ้งอารมณ์แต่จิตต่างกันตามกิจหน้าที่ใช่ไหม

- เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณ “จิตเห็น” เกิดขึ้นเห็นอย่างเดียวเท่านั้นแล้วดับ เพราะฉะนั้นสัมปฏิจฉันนะเกิดรู้แจ้งอารมณ์เพียงแค่ “รับ” เท่านั้นเอง รู้แจ้งจึงรับ ทำกิจรับ

- สัมปฏิจฉันนะไม่ทำอย่างอื่นนอกจาก “รู้และรับ” เพียงรับในสิ่งที่ปรากฏให้รู้ใช่ไหม (ใช่) สัมปฏิจฉันนะ “เห็น” ไหม (ไม่) รู้อะไรมากๆ ไหม (ไม่) ถ้าไม่รับไว้จิตที่เกิดต่อจะรู้อะไรไหม (ไม่ได้) สัมปฏิจฉันนะดับไหม (ดับ)

- เมื่อสัมปฏิจฉันนะรับอารมณ์ต่อดับไป จิตที่เกิดต่อรู้อะไร (รู้อารมณ์เดียวกัน) แต่ไม่ได้รับใช่ไหม (ไม่ได้รับ) เพราะสัมปฏิจฉันนะ “รับ” แล้ว จิตที่เกิดต่อก็ “รู้” ในสิ่งนั้นที่สัมปฏิจฉันนะรับไว้

- อกุศลวิบากจิต ๗ ดวงต่างกันไหม (ต่างกันตรงกิจ) เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากจิตทั้งหมดมีเท่าไหร่ (๗)

- ถึงเวลาที่จะพิจารณาว่า กรรมทำให้อกุศลวิบากจิตดวงไหนเกิดทำกิจปฏิสนธิ คิดออกไหม ๗ ดวงๆ ไหนจะทำปฏิสนธิ (สันตีรณะ) เพราะอะไร (เข้าใจว่าสันตีรณะทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ว่าใช่อารมณ์นี้มีแต่จิตดวงนี้ใน ๗ ดวงที่ทำกิจปฏิสนธิได้)

- เพราะเหตุว่า ระหว่างสัมปฏิจฉันนะกับสันตีรณะ สัมปฏิจฉันนะ “เพียงรับไว้เท่านั้น” แต่ไม่สามารถที่จะรู้สิ่งที่รับไว้มากกว่านั้น แต่สันตีรณะสามารถที่จะไม่ได้ทำกิจ “รับไว้” แต่ “รู้” ในสิ่งที่สัมปฏิจฉันนะรับไว้

- ต่อไปนี้จะรู้ว่า อกุศลวิบากมี ๗ หกดวงทำอะไรไม่ได้เกินกว่านั้น แต่สันตีรณะ เป็นจิตที่เป็นวิบากที่รู้ จากนั้นจะไม่มีอกุศลวิบากเลยด้วยเหตุนี้อกุศลวิบากจะทำกิจมากกว่า ๑ กิจ

- เท่าที่เขารู้เดี๋ยวนี้สันตีรณะทำกิจอะไรบ้างกี่กิจ (๒ คือสันตีรณะและปฏิสนธิ) ลองคิดอีกหน่อย คิดเองมีกิจอื่นอีกไหมนอกจากปฏิสนธิ (๔ เท่าที่นึกได้ สันตีรณะ ปฏิสนธิ ภวังค์และจุติ) รวม ๔ กิจแล้วใช่ไหม (ใช่)

- เพราะฉะนั้นเราศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจไปทีละน้อย ไม่ใช่รู้มากแล้วก็ลืม เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจะเรียนว่าเพราะเหตุใดจิตเหล่านี้จึงเป็นอเหตุกจิต (ขอทวนตอนท้ายใหม่ท่านอาจารย์พูดว่าอย่างไร)

- พูดว่า เราต้องเรียนให้เข้าใจทีละน้อยๆ เพื่อไม่ลืม ไม่ใช่ไปเรียนมากๆ กี่กิจครบถ้วนแต่จำไม่ได้ไม่รู้เหตุผล เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้มีความมั่นคงว่า เรากำลังเรียนเรื่องจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ “อเหตุกจิต” จนกว่าจะเข้าใจดีและจะไม่ลืมเลย

- ชีวิตแบ่งเป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเหตุคือกรรม ส่วนหนึ่งเป็นผลของกรรม ไม่ใช่เพื่อจำชื่อ จำเรื่อง แต่เพื่อเข้าใจความจริงตั้งแต่เกิดจนถึงก่อนถึงจะตายทั้งหมด

- เพราะฉะนั้นชื่อว่า “อเหตุกจิต” หมายความว่า จิตนั้นไม่มีโลภะเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีอโลภะ ไม่มีอโทสะหรือปัญญาเจตสิกคือ อโมหะเกิดร่วมด้วยเพราะอะไร เพื่อให้เข้าใจความจริงไม่ใช่ชื่อที่จำว่า เดี๋ยวนี้ขณะนี้เป็นอะไร เป็นผลของกรรมหรือเป็นกรรม

- เพียงแค่รู้ว่าเป็นผลของกรรมไม่พอ ต้องรู้ว่า กรรมดีให้ผลอย่างไร กรรมชั่วให้ผลอะไรบ้าง และเมื่อไหร่กรรมให้ผลทางไหน

- เกิดมาขณะแรกปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรม เราไม่ได้พูดถึงว่าเป็นผลของกรรมแต่ให้รู้ว่า ขณะไหนจิตอะไรเท่านั้นที่เป็นผลของกรรมขณะนั้น

- เกิดมาต่างกันต้องเป็นผลของเหตุที่ต่างกัน ถ้าไม่บอก ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงจะรู้ไหมว่า อกุศลกรรม อกุศลกรรมอะไรให้ผลมากกว่ากัน มีคำถามอะไรไหม

- (เท่าที่รู้มา ผลของอกุศลกรรมมี ๗ ส่วนผลของกุศลกรรมไม่รู้ว่ามากกว่าหรือน้อยกว่าหรืออย่างไร) ลองคิดถึงเหตุผล กรรมไหนจะเกิดยากกว่ากัน (อกุศลเกิดง่ายกว่า)

- เพราะฉะนั้นกว่าจะเกิดกุศลได้ต้องมีกุศลหลายๆ อย่างอาศัยกันเกิดขึ้นจึงเป็นกุศลได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นสิ่งที่เกิดยากและต้องอาศัยสิ่งที่ดีหลายๆ อย่างอาศัยกันและกันเกิดขึ้นย่อมต้องให้ผลมากกว่า เพราะฉะนั้นกุศลมีหลายระดับตามกำลังของกุศลจึงให้ผลมากหลายระดับตามกำลัง

- เกิดมาจนตายไม่พ้นจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสสิ่งที่ดีกับสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นเริ่มเข้าใจว่า เกิดแล้วเห็นเมื่อไหร่ ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นผลของกรรมแน่นอนเพราะเลือกไม่ได้ว่าจะเห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดีหรือไม่ดี

- เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามชีวิตจริงๆ ที่เจ็บและเห็นสิ่งที่ดี ได้กลิ่นที่ไม่ดี ขณะนั้นเป็นผลของกรรมเพราะไม่มีใครทำแต่เกิดแล้วตามกรรมที่ได้ทำแล้ว ต้องเห็น ต้องได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ไม่ดี

- เริ่มเข้าใจความจริงว่า ชีวิตมีส่วนหนึ่งเป็นผลของกรรมที่ต้องเกิดและอีกส่วนหนึ่งเป็นกรรมที่กระทำที่จะให้เกิดผลต่อไปซึ่งเรายังไม่กล่าวถึงเพราะต้องเป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prinwut
วันที่ 22 เม.ย. 2566

- เกิดมาแล้วต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทุกคนใช่ไหม ถ้ารู้สิ่งที่ปรากฏ ๕ ทาง ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะเกิดร่วมด้วยเพราะเป็นขณะจิตที่สั้นที่กรรมทำให้เกิดอกุศลวิบาก ๗ ดวง

- หมายความว่า เราเกิดมามีการเห็น การได้ยินแล้วก็ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเพราะเพียงเห็น เพียงได้ยินได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเท่านั้น แต่หลังจากนั้นจิตประเภทอื่นเกิดไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยินไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

- เริ่มเข้าใจความต่างของเหตุ กรรม และความต่างของผลคือ วิบาก เริ่มเข้าใจความหมายของ อเหตุก เกิดขึ้นเพียงทำหน้าที่ที่เป็นอกุศลวิบาก ๗ สงสัยอะไรไหม

- (ได้ยินว่าในวันหนึ่งๆ มีจิต ๒ ประเภทโดยนัยใหญ่ๆ คือ ผลของกรรมกับเหตุ อยากจะฟังเรื่องนี้) เพราะว่านี่เป็นการที่ต้องเข้าใจเหตุกับผลที่ว่า สำหรับจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเป็นอกุศลวิบาก ๗ แต่เป็นกุศลวิบาก ๘

- สำหรับกุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเหมือนโสตะวิญญาณ จักขุวิญญาณแต่มี ๘ เพราะเหตุว่ากุศลเกิดยาก

- เพราะฉะนั้นต่อไปเราจะพูดถึงอเหตุกที่เป็นกุศลวิบาก ๘ เพราะแสดงความต่างกันของผลที่ประกอบด้วยเหตุและไม่ประกอบด้วยเหตุ

- จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุทั้งหมดมีเท่าไหร่ (ไม่ทราบ) จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุทั้งหมด ๑๘ ชนิดมี ๒ชาติเป็นวิบาก ๑๕ ประเภทและกิริยา ๓ แสดงให้เห็นว่า จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุทั้งหมดมี ๑๘ เท่านั้น

- จิตมีมากมายมากๆ แต่ที่ปรากฏในชีวิตจริงๆ ก็แค่ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสและคิดนึก ๖ ทาง

- เราจะพูดถึงจิตที่ปรากฏให้รู้ มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันเพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมีจริงเดี๋ยวนี้ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจทุกอย่างตั้งแต่เกิดจนตาย

- เราพูดถึงอเหตุกคือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุที่ผ่านมาคือ อกุศลวิบาก ๗ ต่อไปนี้เราจะพูดถึงกุศลวิบาก ๘ ที่เป็นอเหตุกเป็นจิตที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมดี เพราะฉะนั้นเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ได้ยิน ได้กลิ่นลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบกายที่น่าพอใจ และสัมปฏิจฉันนะที่เป็นกุศลวิบาก ๑ ที่เป็นอกุศลวิบาก ๑ สันตีรณกุศลวิบาก ๑ แต่สันตีรณกุศลวิบาก ๒ เพราะฉะนั้นอเหตุกวิบากทั้งหมดจึงมี ๑๕

- เพราะฉะนั้นสำหรับสันตีรณกุศลวิบากที่เกิดกับความรู้สึกเฉยๆ “อทุกขมสุข” ๑ และที่เกิดกับโสมนัส ๑ เพราะฉะนั้นที่รู้ได้คือจิต ๑๐ ดวง แต่ที่รู้ไม่ได้แม้สัมปฏิจฉันนะและสันตีรณะแม้มีก็รู้ไม่ได้แต่สามารถเริ่มเข้าใจได้ว่ามี

- กรรมที่ละเอียดที่ปราณีตก็ให้ผลเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายต่างกัน กุศลวิบากต้องรู้สิ่งที่ดีอารมณ์ที่ดีแต่กรรมที่เป็นกุศลปราณีตขึ้นๆ ก็ทำให้กุศลวิบากเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่น่าพอใจมากขึ้นๆ

- กลิ่นหอมมีหลายกลิ่นมาก เป็นกลิ่นหอมนิดหน่อย เป็นกลิ่นหอมมาก เป็นกลิ่นหอมที่ไม่เหมือนกลิ่นหอมใดๆ ก็มีเพราะฉะนั้นสัมปฏิจฉันนะไม่ใช่สันตีรณะเพียงรับไว้ แต่สันตีรณะรู้สิ่งที่สัมปฏิจฉันนะรับไว้จึงมีความรู้สึกเป็นสุขหรือเฉยๆ นิดหน่อยในสิ่งที่น่าพอใจ

- เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันก็แสดงว่า บางครั้งเราได้รับสิ่งที่น่าพอใจมากมีความรู้สึกเป็นสุขแม้สันตีรณะก็รับอารมณ์นั้นด้วยความรู้สึกเป็นสุข

- เดี๋ยวนี้มีโสมนัสสันตีรณะไหม (มี) แน่ใจหรือ (ตอบเพราะรู้สึกว่ามีโสมนัสอยู่) แต่เขาจะรู้ไหมว่าเป็นโสมนัสสันตีรณะหรือไม่ใช่สันตีรณะที่เป็นโสมนัส (จริงๆ แล้วไม่สามารถรู้ได้) นี่เป็นเหตุให้ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ ละความไม่รู้จนกระทั่งรู้ว่า ไม่ใช่เราแน่นอน เป็นธรรมแต่ละ ๑

- นี่เป็นความละเอียดอย่างยิ่งที่เราเริ่มจะรู้ขณะเห็นขณะได้ยินต่างๆ ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมไม่ใช่เรา

- ขณะนี้เริ่มเข้าใจขึ้นของอกุศลวิบาก ๗ แล้วใช่ไหม อกุศลวิบาก ๗ ทำกิจอะไรบ้างก็เริ่มรู้แล้วใช่ไหมเพราะฉะนั้นคราวหน้าเราจะพูดถึงอเหตุกกุศลวิบากสันตีรณะ

- วันนี้ก็ยินดีอย่างยิ่งในกุศลของทุกท่านที่เริ่มมั่นคงในการเห็นประโยชน์ของทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สวัสดีค่ะ นมัสเต

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prinwut
วันที่ 22 เม.ย. 2566

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ยินดีในกุศลคุณสุคินและผู้ร่วมสนทนาชาวอินเดียทุกท่าน

ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณอัญชิสา (คุณสา) ที่กรุณาช่วยตรวจสอบความถูกต้องครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 22 เม.ย. 2566

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพยิ่ง
ยินดีในกุศลคุณสุคินและผู้ร่วมสนทนาชาวอินเดียทุกท่าน
ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่ตู่ ปริญญ์วุฒิ เป็นอย่างยิ่ง
ที่ถอดคำสนทนาอย่างครบถ้วน เป็นประโยชน์ที่สุด
และยินดีในกุศลของคุณอัญชิสา (คุณสา) ที่ได้ช่วยตรวจทานด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
siraya
วันที่ 23 เม.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณตู่ ปริญญ์วุฒิ ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ