กรรม (เจตนาเจตสิก) เป็นปัจจัยปรุงแต่งเพียงอย่างเดียวให้เกิดเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบใช่ไหม

 
lokiya
วันที่  27 ก.พ. 2566
หมายเลข  45610
อ่าน  363

กรรม (เจตนาเจตสิก) เป็นปัจจัยปรุงแต่งเพียงอย่างเดียวให้เกิดเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบใช่ไหม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 28 ก.พ. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงแล้ว เจตนา เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกประเภท ไม่มียกเว้น ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตนาเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นเจตนาที่เกิดกับจิตประเภทใด กล่าวคือ ถ้าเกิดร่วมกับกุศลจิตก็เป็นกุศล ถ้าเกิดร่วมกับอกุศลจิต ก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดร่วมกับวิบากจิต ก็เป็นวิบาก ถ้าเกิดร่วมกับกิริยาจิต ก็เป็นกิริยา ความจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ เจตนาเจตสิก เป็นกรรม เป็นสภาพธรรมที่ตั้งใจ จงใจขวนขวายในการปรุงแต่ง จึงเป็นกัมมปัจจัย

กัมมปัจจัย จำแนกออกเป็น ๒ อย่าง คือ สหชาตกัมมปัจจัย กับ นานักขณิกกัมมปัจจัย

สหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยเกิดพร้อมกับปัจจยุปบันนธรรม (ธรรมที่เป็นผลของปัจจัย) คือ เกิดพร้อมกับจิตและเจตสิกอื่นๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น สหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิต ๘๙ ดวง และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น และรูปที่เกิดขึ้นเพราะจิตและเจตสิกในขณะนั้น ซึ่งก็ต้องเกิดเพราะเจตนาที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นด้วย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ที่ทำให้เกิดรูปได้

นานักขณิกกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยทำให้ปัจจยุปบันนธรรม คือ ผลของกัมมปัจจัยนั้นเกิดขึ้นต่างขณะกัน คือ ไม่ใช่เกิดพร้อมกับเจตนาเจตสิกเหมือนอย่างสหชาตกัมมปัจจัย แต่ว่า ทำให้ผลของเจตนาเจตสิก เกิดขึ้นต่างขณะกัน ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน จึงชื่อว่า “นานักขณิกกัมมปัจจัย” เป็นกัมมปัจจัยที่ทำให้ผล คือ วิบากจิต และเจตสิก และกัมมชรูป (รูปที่เกิดจากกรรม) เกิดขึ้นในภายหลังเมื่อเจตนาซึ่งเป็นกรรมนั้นดับแล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับนานักขณิกกัมมปัจจัย ก็ได้แก่ เจตนาในกุศลจิตและในอกุศลจิตเท่านั้น ไม่ใช่เจตนาในจิตซึ่งเป็นวิบาก หรือเจตนาในจิตซึ่งเป็นกิริยา นี้คือ ความละเอียดลึกซึ้งของธรรม

สำหรับเจตนาที่เกิดร่วมกับจิตชาติวิบาก กับ ชาติกิริยา แม้จะเป็นกรรม แต่ก็ไม่ใช่กรรมที่จะให้ผลในภายหน้า เพราะชาติวิบาก เป็นการรับผลของกรรม ส่วนชาติกิริยาเป็นเพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วดับไป ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้าได้เลย

ดังนั้นกล่าวได้ว่า ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น จะมีเจตนาเกิดร่วมกับจิตทุกครั้ง แต่จะบอกว่าทำกรรมอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ เพราะการกระทำกรรม ต้องมุ่งหมายถึงขณะที่เป็นกุศล กับ ขณะที่เป็นอกุศลเท่านั้น เจตนาที่สำเร็จเป็นกุศลกรรม เป็นเจตนาที่ดี เป็นกุศล แต่ถ้าเป็นเจตนาที่ไม่ดี เช่น ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น เป็นต้น ก็เป็นอกุศล ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และเมื่อเหตุมีแล้ว ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดผลในภายหน้าได้ กล่าวคือ กุศลกรรม ให้ผลเป็นสุข ทำให้ได้รับในสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นอกุศลกรรม แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย ครับ

...ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
lokiya
วันที่ 2 มี.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 11 มี.ค. 2566

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ปวีณา
วันที่ 11 มี.ค. 2566

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ