สติระลึกที่ส่วนของกาย เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

 
chatchai.k
วันที่  8 ต.ค. 2565
หมายเลข  44541
อ่าน  116

ถ. ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอยู่ ๒ บรรพที่ยังไม่ชัดแจ้งนัก คือ ปฏิกูลมนสิการบรรพ และ นวสีวถิกาบรรพ

ปฏิกูลมนสิการบรรพ ให้พิจารณาความไม่สะอาดต่างๆ ความไม่สวย ไม่งาม ความเป็นปฏิกูลต่างๆ ซึ่งความไม่สะอาดนี้จะเกี่ยวกับเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ประการใด

อีกบรรพหนึ่งเกี่ยวกับอสุภะ เกี่ยวกับซากศพต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน สติจะระลึกรู้ลักษณะที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวประการใด ขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยชี้แจงให้ชัดด้วย

สุ. เรื่องของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก ถ้าเป็นส่วนที่เคยยึดถือว่าเป็นกายแล้ว สติระลึกได้ในขณะนั้น ก็เป็นเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เช่น ถ้าเห็นหัวใจ ตับ ปอด สะอาดหรือไม่สะอาด

เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่สติระลึกส่วนที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย จะเป็นภายนอกก็ได้ ภายในก็ได้ สิ่งที่ทำให้สติเกิดระลึกได้เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะว่าเป็นส่วนของกายที่เคยยึดถือ เมื่อเป็นเครื่องระลึก แล้วน้อมมาสู่ตน และรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏก็ได้

หรือถ้าจะกระทบสัมผัสปอด เคยยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นส่วนของกาย แต่ในขณะที่กระทบสัมผัส สติระลึกได้ รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

ผม เป็นส่วนที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกส่วนของกายว่าไม่สะอาด ไม่ใช่ระลึกที่อื่นว่าไม่สะอาด แต่ระลึกส่วนของกายว่าไม่สะอาด ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

คือ ส่วนใดก็ตามที่เป็นส่วนของกาย และสติระลึกที่ส่วนนั้น เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้วก็รู้ชัดในสภาพธรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นทางใด เมื่อระลึกแล้ว ธรรมปรากฏ และรู้ชัดในสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ อาจจะเป็นกายที่กำลังกระทบกับผมก็ได้ ถ้าเป็นในลักษณะนั้น เป็นส่วนของกายที่เคยยึดถือในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เย็น ร้อน อ่อน แข็งนั้น แล้วก็รู้ในสภาพนั้น ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าจะระลึกความรู้สึกที่กระทบก็ได้ แต่ตอนที่ระลึกนั้น ระลึกที่ส่วนของกายในเบื้องแรก เป็นการระลึกที่ส่วนของกาย

จะเป็นอะไรก็ตาม แต่เป็นส่วนของกายที่เคยยึดถือ ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้แต่อสุภะ เห็นอสุภะ ก็เคยยึดถืออสุภะนั้นว่าเป็นกาย เพราะฉะนั้น เวลาที่อสุภะนั้นเป็นปัฏฐานให้สติระลึกได้เพราะอาศัยกาย คือ อสุภะนั้นๆ ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานให้สติระลึก

ที่ทรงแสดงมหาสติปัฏฐาน ก็เพื่อที่จะให้ทุกอย่างที่มีจริงเป็นเครื่องให้สติระลึก แต่ถ้าระลึกในส่วนที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม ถ้าส่วนนั้นเคยยึดถือว่าเป็นกาย แล้วระลึก ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

แต่ว่าทุกสิ่งที่มีจริง ควรที่จะให้สติระลึกเพื่อรู้ชัด จะระลึกที่ส่วนที่เป็นกาย ก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ ธรรมใดๆ ก็ได้ แล้วปัญญาก็รู้ชัดในสภาพธรรมนั้น

ซึ่งเวลาที่เป็นปรมัตถ์ ต้องมีลักษณะของรูปและนามปรากฏตามความเป็นจริง


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 146


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ