การเจริญสติปัฏฐานหมวดกาย

 
Anatta00
วันที่  3 ต.ค. 2565
หมายเลข  44510
อ่าน  306

ขอความกรุณาท่านผู้รู้ช่วยชี้แนะครับ ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน บรรพที่ว่าด้วยเรื่องศพหรือร่างกระดูกชนิดต่างๆ นั้น ผู้เจริญสติต้องระลึกรู้ที่รูปใดนามใดหรือครับ เพราะอ่านหมวดนี้แล้ว เหมือนว่าต้องใช้การตริตรึก จินตนาการไปถึงสภาพของศพแบบต่างๆ ซึ่งไม่ใช่สภาวะธรรมที่มีจริง หรือให้ระลึกรู้จิตที่คิดนั้นเอง ว่าเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง แต่หากระลึกรู้ได้เฉพาะจิตที่คิด เหตุใดจึงเรียกว่าเป็นกายานุปัสสนาครับ ขอความกรุณาท่านผู้รู้ให้ความกระจ่างครับ ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 3 ต.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง กายานุปัสสนาสติปัฏฏฐาน ทั้งหมด เป็นการระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย หรือ สภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นกายของเรา ไม่พ้นจากรูปต่างๆ โดยมีมหาภูตรูป เป็นประธาน ซึ่งเป็นเพียงสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่กายของเรา เป็นเพียงรูปธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏเท่านั้น

ดังนั้น แม้ในประเด็นคำถาม สติปัฏฐาน หมวดท้ายๆ ก็เป็นการกล่าวถึง การระลึกรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม ที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นข้างนอกหรือที่ตนเอง ก็ย่อมเป็นอย่างนั้น คือ สภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

สำหรับใน มหาสติปัฏฐาน นวสีวถิกบรรพ นั้น เป็นลักษณะของซากศพที่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา คือ ตั้งแต่ขึ้นพอง เมื่อสิ้นชีวิตได้วันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง มีสีเขียวคล้ำ มีน้ำเหลืองไหล มีสัตว์กัดกิน ทำให้กระจัดกระจาย ต่อจากนั้นก็เป็นซากศพที่เป็นร่างกระดูก แล้วก็เปื้อนเลือด

ต่อไปเป็นร่างกระดูกที่ปราศจากเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด และยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่

จากนั้นเป็นร่างกระดูกที่ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว แต่ก็ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ก็เป็นร่างกระดูกที่ปราศจากเส้นเอ็นผูกรัด แล้วก็เรี่ยรายไปในทิศใหญ่ทิศน้อย ไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึด ก็จะต้องกระจัดกระจายไปตามกาลเวลาด้วย

ต่อไปเป็นกระดูกที่มีสีขาวเปรียบด้วยสีสังข์ เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไปก็จะเป็นกองกระดูกที่เรี่ยรายอยู่ เกินปีหนึ่งไปแล้ว ในที่สุดก็จะเป็นกระดูกผุเป็นจุล

นี่โดยนัยของมหาสติปัฏฐาน ก็เป็นเครื่องระลึก ไม่ว่าจะเป็นกายในลักษณะที่เป็นซากศพวันหนึ่ง ขึ้นพองไปจนกระทั่งถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปเป็นกระดูกผุ ก็เป็นเครื่องที่ให้สติระลึกรู้ได้


...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Anatta00
วันที่ 4 ต.ค. 2565

อนุโมทนาในความกรุณาของท่านผู้รู้ครับ

แต่กระผมก็ยังคงไม่กระจ่างครับ ขอรบกวนท่านผู้รู้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในบรรพนี้ มีรูปใด ปรมัตถธรรมใด ที่สามารถระลึกรู้ได้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย บ้างครับ (ขอตัวอย่างการเจริญสติปัฏฐานในบรรพนี้สักหน่อยครับ) ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 4 ต.ค. 2565

เรียน ความคิดเห็นที่ ๒ ครับ

ถ้าเห็น ก็เป็นเพียงสีที่ปรากฏ ตลอดจนถึง เมื่อกระทบสัมผัสกาย ก็เป็นเพียงเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เท่านั้น เมื่อสภาพธรรมใดปรากฏ ก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ ที่สำคัญคือความเข้าใจถูกตั้งแต่ขั้นฟัง และไม่ลืมความเป็นอนัตตา สติปัฏฐาน ก็เป็นอนัตตาเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ต.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ต.ค. 2565

คำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ (เพิ่มเติม) จากแนวทางการเจริญวิปัสสนา มีดังนี้

บรรพต่อไป ก็เป็นเรื่องของอสุภะเช่นเดียวกัน สำหรับอสุภะทั้งหมดมีด้วยกัน ๙ บรรพ ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า อันฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขจิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ตัวเล็กๆ ต่างๆ กัดกินอยู่บ้าง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในและภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

สติสามารถที่จะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ จึงควรระลึกเนืองๆ ถึงความเป็นอสุภะ ความเป็นซากศพ เพราะเหตุว่าบางทีเวลาที่เห็นอสุภะ ซากศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า ฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หรือหมู่สัตว์ตัวเล็กๆ ต่างกัดกินอยู่บ้าง คิดว่าเป็นคนอื่น แต่อย่างไรก็ตามก็อาจจะเป็นท่านวันหนึ่งก็ได้ในลักษณะนั้น ซึ่งถ้าระลึกได้อย่างนี้ ก็ทำให้สติเกิดพิจารณาเห็นกายในกาย เห็นธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไปตามความเป็นจริงได้

ประการต่อไปมีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าเป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

ข้อนี้ก็โดยนัยเดียวกัน เวลาที่เห็นร่างกระดูกยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา เมื่อเห็นแล้วก็ไม่เพียงแต่คิดว่าเป็นอสุภะ เป็นซากศพข้างนอกเท่านั้น แม้ที่กายก็เป็นอย่างนี้

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูกปราศจากเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

ตามพยัญชนะที่ว่า สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงแต่สักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เพราะเหตุว่าสภาพของนามรูปนั้นเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก เมื่อกายเป็นเพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น ก็แล้วแต่ว่าปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของนามอะไร ของรูปอะไร

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูกปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เธอย่อมน้อมมาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่ายกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจาณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกปราศจากเส้นเอ็นผูกรัดแล้ว เรี่ยรายไปในทิศใหญ่ ทิศน้อย คือ กระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกขาไปทางหนึ่ง กระดูกสะเอวไปทางหนึ่ง กระดูกหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสันหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสีข้างไปทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกไปทางหนึ่ง กระดูกไหล่ไปทางหนึ่ง กระดูกแขนไปทางหนึ่ง กระดูกคอไปทางหนึ่ง กระดูกคางไปทางหนึ่ง กระดูกฟันไปทางหนึ่ง กะโหลกศีรษะไปทางหนึ่ง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจาณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นอสุภะ ซากศพ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป แล้วก็รู้ชัดด้วยปัญญาว่า สภาพธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ตัวตน ก็จะได้เห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง แล้วก็เห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือเป็นกระดูกมีสีขาวเปรียบด้วยสีสังข์ เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

เคยเห็นกระดูกที่มีสีขาวเหมือนสีสังข์ไหม กระดูกใคร วันหนึ่งทุกคนก็ต้องเป็นอย่างนั้น

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นกระดูกกองเรี่ยรายอยู่แล้วเกิน ๑ ปีขึ้นไป เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

ถึงกระดูกที่เกิน ๑ ปี ก็ยังเป็นเครื่องให้สติระลึกได้ ทุกอย่างที่เป็นของจริง ไม่ควรที่จะให้ผ่านไปด้วยโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยให้โลภะเกิด โทสะเกิด โมหะเกิด แต่ก็ให้อบรมสติให้เกิดขึ้น รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้นด้วย มิฉะนั้นแล้ววันหนึ่งๆ ก็จะมีแต่โลภะ โทสะ โมหะ ประการสุดท้ายมีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกผุเป็นจุลแล้ว เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีเป็นอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

จบนวสีวถิกาบรรพ

จบกายานุปัสสนา

ถึงที่สุดของกาย โดยเป็นกระดูกที่ผุจนเป็นผง ส่วนที่เคยยึดถือตั้งแต่เกิดมา ไม่ว่าจะเป็นขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ร่างกายส่วนต่างๆ แต่ว่าถึงที่สุดก็โดยการที่เป็นกระดูกผุจนป่น อีกสัก ๕๐๐ ปี หรือ ๑,๐๐๐ ปี ๒,๐๐๐ปี ก็คงจะมีกระดูกผุมากมาย ส่วนของแต่ละท่านที่อยู่ที่นี่ก็ต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอน


ที่มา ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 98

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Anatta00
วันที่ 4 ต.ค. 2565

อนุโมทนา และขอขอบพระคุณท่านผู้รู้ทุกท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ