โพธิราชกุมารเห็นว่า ความสุขอันบุคคลจะพึงถึงได้ด้วยความทุกข์

 
chatchai.k
วันที่  1 ต.ค. 2565
หมายเลข  44473
อ่าน  141

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ โพธิราชกุมารก็ได้กราบทูลมีข้อความว่าความสุขอันมนุษย์จะพึงถึงได้ด้วยความสุขไม่มี ความสุขอันบุคคลจะพึงถึงได้ด้วยความทุกข์แล

นี่เป็นความเห็นของโพธิราชกุมาร ซึ่งเป็นต้นเหตุที่พระผู้มีพระภาคจะได้ตรัสเล่าถึงประวัติของพระองค์ตั้งแต่ต้น เพราะเหตุว่าโพธิราชกุมารนั้นมีความเห็นว่า การที่บุคคลจะพึงถึงความสุขได้นั้น พึงถึงด้วยความสุขไม่มี หมายความว่า จะพึงถึงด้วยความสุขไม่ได้ คล้ายๆ กับว่า การที่จะถึงความสุขจะต้องด้วยความทุกข์ คือ การทรมานตัวให้ลำบาก

ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเล่าประวัติของพระองค์ตั้งแต่ต้น ได้ตรัสเล่าถึงการทรมานพระองค์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทรงตรัสรู้

ทรงระลึกถึงครั้งที่ทรงบรรลุปฐมฌาน เมื่องานวัปปมงคลของพระบิดา ก็ทำให้ทรงพระดำริว่า จะกลัวความสุขซึ่งเป็นสุขเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมหรือ แล้วทรงบริโภคอาหารหยาบ ทรงมีกำลังขึ้น แล้วก็ทรงเจริญความสงบบรรลุปฐมฌานเป็นต้นไป จนกระทั่งได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ทรงดำริที่จะทรงแสดงธรรม ในที่สุดก็ทรงเห็นว่า พระปัญจวัคคีย์นั้นควรจะเป็นบุคคลที่จะได้ทรงแสดงธรรม เพื่อทรงอนุเคราะห์

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอมฟังธรรมแล้ว ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสในพระสูตรนี้มีว่า

วันหนึ่งอาตมาภาพกล่าวสอนภิกษุแต่ ๒ รูป ภิกษุ ๓ รูปไปเที่ยวบิณฑบาต ภิกษุ ๓ รูปไปเที่ยวบิณฑบาตได้สิ่งใดมา ภิกษุทั้ง ๖ รูปก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้น อาตมาภาพกล่าวสอนภิกษุแต่ ๓ รูป ภิกษุ ๒ รูปไปเที่ยวบิณฑบาต ได้สิ่งใดมา ภิกษุทั้ง ๖ ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้น

ครั้งนั้นภิกษุปัญจวัคคีย์ที่อาตมาภาพกล่าวสอน พร่ำสอนอยู่เช่นนี้ ไม่นานเลย ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันแล้ว เข้าถึงอยู่

นี่เป็นข้อความในโพธิราชกุมารสูตร ซึ่งใคร่ที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาว่าเมื่อท่านได้ฟังพระสูตรนี้แล้ว ท่านคิดอย่างไร เป็นชีวิตปกติหรือเปล่า ที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็จะต้องมีกิจการงานที่จะต้องกระทำตามควรแก่เพศนั้น เป็นบรรพชิตไม่บิณฑบาตได้ไหม เป็นฆราวาสไม่ทำงานได้ไหม เพื่อการเลี้ยงชีพ เพื่อการมีชีวิตอยู่ ก็ต้องมีกิจการงานที่จะต้องกระทำ แม้บรรพชิตก็ต้องบิณฑบาต ซึ่งถ้าท่านไม่ติดเรื่องของการบิณฑบาต ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะให้เห็นว่า การฟังธรรมมีประโยชน์เกื้อกูล ทำให้บุคคลนั้นขณะที่กำลังเจริญสติ ก็สามารถที่จะน้อมจิตไปพิจารณา เพื่อการละคลาย และเพื่อการรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แต่ไม่ใช่หมายความว่าบิณฑบาตไม่ได้ เพราะอะไร ทรงโอวาทตลอด พร่ำสอนตลอด จนกว่าจะบรรลุความเป็นพระอรหันต์ ในระหว่างนั้นผลัดกันไปบิณฑบาตกี่ครั้ง ท่านต้องเป็นผู้ที่เจริญสติแม้ขณะที่บิณฑบาต เพราะเหตุว่าในพระไตรปิฎกมีข้อความว่า ให้เป็นผู้มีปกติเจริญสติ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 143


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ