ปัญญามีลักษณะอย่างไร อะไรเป็นเหตุให้ปัญญาเกิดได้

 
chatchai.k
วันที่  5 ก.ย. 2565
หมายเลข  43628
อ่าน  207

เมื่อกี้อาจารย์พูดถึงเรื่องปัญญา ปัญญามีลักษณะอย่างไร กรุณาให้คำจำกัด ความสำหรับปัญญาด้วย อะไรเป็นเหตุให้ปัญญาเกิดได้ แล้วปัญญาเกิดได้เร็วเหมือนดอกไม้บานไหม

เราจะทำเหตุอย่างไร สติจึงจะเจริญ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 13 พ.ย. 2566

ไม่เหมือนเลย

เรื่องจะทำเหตุหรือทำวิธีการต่างๆ เพื่อให้ปัญญาเกิดนั้น ไม่ถูกต้อง แทนที่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใด ควรพิจารณาให้เข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อน อย่างที่ถามว่าปัญญามีลักษณะอย่างไร ปัญญานี้มีจริงแน่นอน และใช้คำนี้กันบ่อยๆ แต่เวลาพูดถึงปัญญานั้นยังกับเข้าใจแล้วว่าปัญญาคืออะไร แต่ความจริงยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจจริงๆ เลย

ภาษาไทยเราใช้คำภาษาบาลีตามใจชอบ ต่อเมื่อได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจึงจะรู้ว่าสภาพธรรมที่เป็นปัญญานั้น คือสภาพที่รู้และเข้าใจธรรมทั้งหลายถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริงของลักษณะสภาพธรรมนั้นๆ เช่นปัญญารู้ว่าไม่ว่าจะมีสภาพธรรมมากสักเท่าไรก็ตาม ทั้งในโลกนอกโลก

ก็เป็นสภาพธรรมที่ต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ ๑ ภาษาบาลีใช้คำว่า รูปะหรือรูป เป็นสภาพที่รู้อะไรไม่ได้เลย เช่น สิ่งที่แข็งไม่ว่าจะถูกกระทบสัมผัสอย่างไร ลักษณะที่แข็งนั้นก็ไม่รู้เลยว่ากำลังถูกกระทบ รส กลิ่นเป็นต้นนั้นก็เป็นรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้

ส่วนสภาพธรรมอีกอย่าง ๑ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เช่นขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็รู้ลักษณะแข็งที่ปรากฏเมื่อกระทบ อาการรู้ลักษณะที่แข็งนั้น เป็นสภาพรู้ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า นามธรรม หรือ นาม ฉะนั้น ธรรมทั้งหลายที่มีจริงนั้น จึงต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ นามธรรม ๑ รูปธรรม ๑ ไม่ยากเกินไปที่จะค่อยๆ ฟัง ศึกษา พิจารณาให้เข้าใจขึ้น

เพราะสภาพธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงและพิสูจน์ได้ทันที ไม่ต้องรอหรือไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย เมื่อเข้าใจแล้วว่ารูปธรรมเป็นสภาพที่มีจริงแต่ไม่รู้อะไรเลย นามธรรมก็มีจริงและเป็นสภาพรู้ ก็พิจารณารู้ได้ด้วยตัวเองว่า อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม เสียง กลิ่น รส แข็ง เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เป็นรูปธรรม ง่วง เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ง่วง เป็นนามธรรม รูปธรรมไม่ง่วง ไม่อิ่ม ไม่หิว ไม่เจ็บ ไม่ปวด สภาพที่จำ เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เป็นนามธรรม

สิ่งใดก็ตาม ที่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น เป็นรูปธรรม สภาพอื่นนอกจากนั้นทั้งหมดเป็นนามธรรม เช่น ความรู้สึกเป็นสุข เป็นนามธรรม ความรู้สึกเป็นทุกข์ เป็นนามธรรม ความจำก็เป็นนามธรรมที่ต่างจากความรู้สึก ความรู้สึกจำอะไรไม่ได้เลยเป็นแต่รู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์เท่านั้น ความจำก็จำเท่านั้น เห็นอะไรก็จำ ได้ยินอะไรก็จำ ได้กลิ่นอะไรก็จำ มีหน้าที่จำอย่างเดียวเท่านั้น

สภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพจำนั้นภาษาบาลีใช้คำว่า สัญญาเจตสิก สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดร่วมกับจิต มีลักษณะและมีกิจหน้าที่เฉพาะตนๆ ต่างๆ กันไปแต่ละประเภท สภาพนั้นเป็นเจตสิกไม่ใช่จิต ฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ที่เข้าใจและรู้ความจริงของสภาพธรรมต่างๆ ได้ถูกต้อง

จิตได้ยินรู้เสียง แต่ปัญญารู้ว่าได้ยินเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้เสียง การรู้สภาพธรรมแต่ละอย่างถูกต้องเป็นปัญญา แต่ปัญญาขั้นฟังและขั้นพิจารณาเข้าใจสภาพธรรมนั้น เป็นปัญญาที่อ่อนมาก ยังดับกิเลสไม่ได้ เพราะเป็นปัญญาขั้นละความไม่รู้ละความสงสัย จากการที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังเท่านั้นเอง

สภาพธรรมแต่ละอย่างมีหลายระดับขั้น ปัญญาก็มีตั้งแต่ขั้นฟัง ขั้นพิจารณาไตร่ตรอง และ ขั้นคมกล้า ประจักษ์ชัด ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้จริงๆ อย่างเวลาที่ฟังและเข้าใจว่า รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ก็พิจารณารู้ว่า สิ่งที่ยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเราก่อนฟังพระธรรมนั้น เมื่อฟังพระธรรมก็รู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริงๆ

และธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นเรานั้นได้แก่อะไรบ้าง ทั้งนามธรรมและรูปธรรมตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แขนเรา ขาเรา เท้าเรา มือเรา หูเรา ตาเรา จมูกเรา ปากเรา ยึดถือรูปที่เกิดขึ้นว่าเป็นของเรา รูปนี้จะเกิดมาได้อย่างไร ก็ไม่สนใจ ไม่คิด ไม่พิจารณา เมื่อเกิดขึ้นมีแล้วก็ยึดถือว่าเป็นของเราเลย

นี่คือการรวบรัดยึดถือโดยความไม่รู้ไม่คิดไม่พิจารณาไตร่ตรองว่า รูปเกิด ขึ้นได้อย่างไร ทำไมวันนี้รูปแข็งแรง รุ่งขึ้นหรือหลายปีต่อมาเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่ารูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้านั้น รูปบางกลุ่มเกิดจากกรรม รูปบางกลุ่มเกิดจากจิต รูปบางกลุ่มเกิดจากอุตุ คือความเย็นหรือความร้อน รูปบางกลุ่มเกิดจากอาหาร

ฉะนั้น รูปจึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เพราะรูปเกิดจากสมุฏฐานคือ กรรมบ้าง จิตบ้าง อุตุบ้าง อาหารบ้าง แล้วก็ดับไปเรื่อยๆ ระหว่างที่ยังไม่ตาย และก็จะถึงวันตายซึ่งกรรมหยุดไม่เป็นปัจจัยให้รูปนี้เกิดอีกต่อไป จิตก็ดับไม่ทำให้รูปนี้เกิดอีกต่อไป อาหารไม่มีการบริโภคอีกต่อไป ฉะนั้น จึงยังเหลืออยู่แต่ซากศพเท่านั้นเอง

ฟังพระธรรมและพิจารณาให้รู้ความจริงว่า ไม่มีอะไรเลยที่เป็นเราหรือของเราจริงๆ ทุกสิ่งเกิดขึ้นชั่วขณะจิต แล้วก็ดับหมด เหมือนกับไฟที่ดับไป ไฟที่ดับไปแล้วนั้น ใครจะไปตามหาว่าไฟที่ดับไปแล้วนั้นอยู่ที่ไหน ก็หาไม่ได้ฉันใด สภาพของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยก็ดับหมดไปอย่างรวดเร็วฉันนั้น แต่เมื่อไม่รู้จึงยึดถือว่าเป็นเรา เมื่อมีเราเป็นตัวตนแล้ว ก็ทำทุกอย่างเพื่อตัวตน เพราะคิดว่าเป็นตัวตนของเรา

ที่โลกยังวุ่นวาย เป็นทุกข์ ก็เพราะอกุศล เพราะอวิชชาคือความไม่รู้ ปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้นเกิดจากการฟัง การพิจารณา การระลึก รู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเป็นการปฏิบัติอบรมเจริญปัญญาให้เกิดขึ้นเป็นลำดับ ไม่ใช่เราทำ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 8

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ