ณ กาลครั้งหนึ่ง ของการสนทนาธรรม ไทย-ฮินดี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  29 ส.ค. 2565
หมายเลข  43559
อ่าน  2,328

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และ คุณสุขิน เดอร์ ปาล ซิงห์ นฤหล้า กรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.) ได้รับเชิญจากคณะผู้จัดงาน "เปิดเส้นทางสังเวชนียสถาน ตามรอยพระพุทธบาท ดินแดนพุทธภูมิ" (โดยการประสานงานจาก ดร.วุฒิชัย วรสิงห์ และ คุณกิติมา พ่วงศิริ) เพื่อไป สนทนาธรรม ไทย-ฮินดี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ในหัวข้อ "การฟื้นคืนของพระพุทธศาสนาในอินเดีย ท่ามกลางบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง" ในเวลา ๑๔.๐๐ น.- ๑๕.๐๐ น. ณ คิว สเตเดียม ชั้น M (เอ็ม) ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งงานนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ ชมรมไตรรัตนภูมิ มูลนิธิกากัน มาลิค สถานฑูตอินเดีย และองค์กรภาคีเครือข่าย

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ชมรมไตรรัตนภูมิ ร่วมกับสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย และ ศิลปินคณะอารยะ นารายัน โดยคุณแอน มิตรชัย ได้ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศไทย – อินเดีย เนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๕ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย – อินเดีย และเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ แหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานของศาสนาพุทธ จากรัฐต่างๆ ในประเทศอินเดีย

ทันทีที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เดินทางถึงสถานที่จัดงาน คุณกากัน มาลิค (Gagan Malik) ดาราบอลลีวู้ด ชาวอินเดีย ผู้รับบท เจ้าชายสิทธัตถะ ในเรื่อง Sri Siddhartha Gautama ได้มาต้อนรับท่านอาจารย์ ด้วยความนอบน้อมอย่างยิ่ง พร้อมทั้งกล่าวถึงความซาบซึ้ง ขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ถึงการเดินทางมาของท่านอาจารย์ในครั้งนี้ ที่นับเป็นเกียรติอย่างใหญ่ยิ่งต่อตัวของเขาเอง และแก่คณะกรรมการจัดงาน และต่อชาวพุทธทุกคนที่จะมีโอกาสได้พบและฟังการสนทนาธรรม ไทย-ฮินดี ในโอกาสนี้ (ซึ่งได้ดำเนินการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ในทุกๆ ช่องทาง โดยมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา)

พร้อมกันนี้ คุณกากัน มาลิค ได้กล่าวยกย่องท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความจริงใจ ถึงบทบาท และภาระหน้าที่อันสำคัญอย่างมากต่อชาวพุทธ ในการเผยแพร่และดำรงพระพุทธศาสนา ในคำสอนที่ยิ่งใหญ่ของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กระทำการเผยแพร่มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นคุณูปการอย่างใหญ่ยิ่ง ต่อพระพุทธศาสนาและชาวพุทธทั้งมวล

อนึ่ง ดร.กากัน มาลิค และคณะทำงาน ได้เคยเข้าพบและสนทนาธรรมเป็นการส่วนตัวกับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่บ้านในซอยปรีดีพนมยงค์ มาสองครั้งแล้ว ซึ่งท่านอาจารย์เคยปรารภกับผู้ใกล้ชิดว่า ดร.กากัน มาลิค เป็นผู้ที่มีความน่ารัก มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ทั้งมีมารยาทที่งดงาม และประการที่สำคัญที่สุด คือ จากการที่ได้สนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ คุณกากัน มีความสนใจ จริงใจ ใคร่รู้ ใคร่ที่จะศึกษาและเข้าใจพระธรรม เป็นอย่างมาก โดยได้กราบเรียนท่านอาจารย์ว่า สิ่งที่ได้รับฟัง (อภิธรรม) จากท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่ยาก และใหม่ ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนในชีวิต แต่รู้ว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่สูงค่ายิ่งที่สุดในชีวิต จึงจะขอความเมตตา และขอเวลาเพื่อเข้าพบและสนทนากับท่านอาจารย์อีก ในโอกาสต่อๆ ไป

(ดร.วุฒิชัย วรสิงห์ มอบของที่ระลึกแด่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์)

คุณกากัน มาลิค ได้นำท่านอาจารย์ เดินชมและอธิบายถึงการจัดนิทรรศการของรัฐต่างๆ ของประเทศอินเดีย ที่มีรัฐต่างๆ จำนวน ๘ รัฐ มาจัดบูธแสดงถึงสังเวชนียสถาน และสถานที่สำคัญๆ ตามพุทธประวัติที่มีบันทึกเกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในรัฐของตนๆ

"..สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากจะมีการจัดแสดงนิทรรศการพุทธสถานจาก ๘ รัฐในประเทศอินเดีย นอกเหนือจากเส้นทางสังเวชนียสถาน ๔ สังเวชนียสถาน อันประกอบด้วย ๑. วิหารมายาเทวี เมืองลุมพินี (ประเทศเนปาล) ๒. วิหารมหาโพธิ เมืองคยา รัฐพิหาร ๓. ธัมเมกขสถูป เมืองสารนาถ รัฐอุตตรประเทศ ๔. วิหารมหาปรินิพพาน เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ ที่ในแต่ละปีมีคนไทยจำนวนไม่น้อยเดินทางไปแสวงบุญในประเทศอินเดีย – เนปาล

สำหรับงานครั้งนี้ จะเป็นการเปิดตัวสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดี และเป็นมรดกโลกอีกจำนวนมาก ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศอินเดีย ที่ผู้แสวงบุญส่วนใหญ่ไม่เคยได้สัมผัส หรือรับทราบข้อมูลมาก่อน เป็นการเปิดเผยข้อมูลแหล่งโบราณคดีพุทธสถาน ร่วมถึงการให้ความรู้ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาล ใน ๘ รัฐ ได้แก่ รัฐพิหาร รัฐอุตตรประเทศ รัฐมัธยประเทศ รัฐคุชราด รัฐโอฑิสา รัฐอานธรประเทศ รัฐเตลังคานา และรัฐมหาราษฎร์

โดยเฉพาะรัฐมหาราษฎร์ ซึ่งเป็นรัฐที่มีชาวพุทธมากกว่า ๖.๕ ล้านคน มีเมืองที่มีความสำคัญกับชาวพุทธทั้งในประเทศอินเดีย และชาวพุทธจากทั่วโลกมากมาย เช่น เมืองออรังกาบัด ที่มีถ้ำอชันตา และเอลโลร่า ซึ่งเป็นมรดกโลกที่สำคัญ, เมืองนาคปุระ เป็นสถานที่ตั้งของ ทีกษาภูมิ (ดีคชาภูมิ) ที่ ดร.อัมเบ็ดการ์ นำคนกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ เป็นต้น.."

"..ในส่วนของนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ จะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านศิลปะ โบราณคดี มาถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ ในด้านศิลปะ มีนิทรรศการแสดงภาพวาดภายในถ้ำอชันตา เมืองออรังกาบัด รัฐมหาราษฎร์ ที่ถูกถ่ายทอดเป็นภาพวาดใหม่และเพิ่มเติมจากที่ชำรุดเสียหาย โดยศิลปินและนักโบราณคดี เพียงท่านเดียวที่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าไปศึกษาและบูรณะภาพวาดภายในโบราณสถานมรดกโลกแห่งนี้ การนำศิลปะอักษรประดิษฐ์ ที่นำพระสูตรอักษรทิเบตมาผสมผสานกับศิลปะการวาดภาพพุทธศิลป์แบบทิเบต และนิทรรศการภาพถ่ายชุด อารามโบราณบนเทือกเขาหิมาลัย เพื่อนำเสนอภาพในมุมมองใหม่ที่พุทธศาสนิกชนไทยไม่ได้พบเห็นบ่อยนัก นอกจากนี้ยังมีศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรมของทั้ง 2 ประเทศ ฯลฯ (ขอขอบคุณ ข้อมูลจากข่าว นสพ.มติชนออนไลน์)

“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ต้องถือว่า เป็นครั้งยิ่งใหญ่ที่คนไทยจะได้รับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแหล่งโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนาและ ยังเป็นการน้อมถวายกตัญญุตานุสรณ์ถึงองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ให้ปัญญา ความรู้ ให้ธรรมะกับชาวพุทธและผู้คนทั้งโลกในรูปแบบเส้นทางการดำเนินชีวิตตราบถึงทุกวันนี้ด้วย” พระเอกบอลลีวู้ด กล่าว

(ฯพณฯ สุจิตรา ทุไร เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย และ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา)

ก่อนที่การสนทนาธรรม ไทย-ฮินดี ครั้งประวัติศาสตร์จะเริ่มขึ้น พิธีกรในงานได้กราบเรียนเชิญท่าน พลตรี ดร.วีระ พลวัฒน์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เพื่อกล่าวถึงการสนทนาธรรม ไทย-ฮินดี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ดังมีใจความดังต่อไปนี้

พลตรี ดร.วีระ พลวัฒน์ : กราบอนุโมทนาทุกท่านในการจัดงานที่มีเกียรติครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการเดินทางไปสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าเรามีความเข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนาแล้ว นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะลืมไม่ได้

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา คือ เรื่องความเข้าใจ (พระธรรม) ถ้าเรามีความเข้าใจ (พระธรรม) จะทำให้พระพุทธศาสนาดำรงยืนยงอยู่ตลอดไป

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา จะได้นำให้ท่านได้มีความเข้าใจลึกซึ้ง ถึงความยากยิ่ง ในการที่จะเข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่พวกเราชาวพุทธควรจะต้องติดตามและใฝ่หาที่จะเข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์อย่างจริงจัง เพื่อจะได้ดำรงพระพุทธศาสนา สืบไป

ณ โอกาสนี้ เป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่ง ขออนุญาตกราบเรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และท่านสุขิน เดอร์ ปาล ซิงห์ นฤหล้า ซึ่งจะถ่ายทอดเป็นภาษาฮินดี ให้ชาวภารตะทุกท่าน สามารถจะเข้าใจได้ ซึ่งจะพูดว่า ประเทศไทย เจริญในเรื่องของความเข้าใจพระธรรมแล้ว

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ : วันนี้ ก็เป็นอีกวันหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสจะระลึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าการระลึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ขณะใด ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะทำให้ระลึกถึงพระองค์ ขณะนั้นก็เป็นการบูชาสูงสุด

วันนี้ก็มีโอกาสได้เห็นสถานที่ต่างๆ ที่เป็นดินแดนที่พระองค์ประทับ และทรงแสดงพระธรรม ที่สำคัญที่สุด "อยู่ไกลพระองค์ แต่จะอยู่ใกล้ เมื่อได้มีการเข้าใจทุกคำ" ที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงแสดงให้เราได้เข้าใจความจริงด้วย ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ดับขันธปรินิพพาน คนที่เดินทางไปเฝ้าพระองค์ "เพื่อฟังพระธรรมให้เข้าใจ"

สถานที่ทุกสถานที่ จะไร้ความสำคัญ ถ้าไม่มีความเข้าใจความจริงว่า เพราะเหตุใด สถานที่นั้น จึงเป็นสถานที่สักการะบูชาของผู้คนมากมาย ถ้าเป็นสถานที่ ที่พระองค์ไม่ได้ประทับ ไม่ได้ทรงแสดงพระธรรม ก็จะไม่มีใครระลึกถึงสถานที่นั้นได้

ขณะใดก็ตามที่ได้ฟังพระธรรม แม้คำเดียว ก็ทำให้ระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ว่าจะอยู่ไกล แม้ว่าสถานที่นี้จะไกลจากที่ที่พระองค์ประทับ แต่เมื่อได้ฟังคำของพระองค์ ก็เหมือนกำลังเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ และฟังคำนั้นๆ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ด้วยคำ และ ภาษา ที่คนในครั้งนั้น เข้าใจได้ แม้ว่าเป็นคำธรรมดา อย่างที่เคยได้ยิน ได้ฟัง แต่ความหมาย ลึกซึ้งอย่างยิ่ง คำว่า ธรรมะ หมายความถึง สิ่งที่มีจริง แต่ถ้าไม่รู้ว่า ธรรมะ คือ อะไร ได้ยินคำนี้ ก็ผ่านหูไป เป็นคำที่ "เพียงชินหู" แต่ถ้าสามารถที่จะรู้ความหมาย ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ และใช้คำนี้ เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ถูกต้องว่า แม้เป็นคำธรรมดาเพียงว่า ธรรมะ แต่ความลึกซึ้ง เป็นการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ต้องทรงบำเพ็ญพระบารมี นานแสนนาน กว่าจะรู้ความจริงได้

เพราะฉะนั้น เราจะ "เริ่มฟังคำชินหู" แต่ว่า ความหมายของคำ ลึกซึ้งอย่างยิ่ง!! แม้ว่าคำที่พระองค์ตรัส ไม่ใช่ภาษาไทยที่เราใช้อยู่เป็นประจำ แต่ก็สามารถที่จะ "เข้าถึงความจริง" ของ "สิ่งที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้และทรงแสดง"

เริ่มจากคำเดียว ตั้งแต่ต้น คือ คำว่า "ธรรมะ" ถ้าไม่เข้าใจธรรมะ ในภาษาของตน ก็จะไม่รู้ว่า ธรรมะคืออะไร แต่ ธรรมะ หมายถึง สิ่งที่มีจริงๆ เรากำลังจะพูดถึง ในภาษาของเรา คือ พูดถึงสิ่งที่มีจริง ซึ่งพระองค์ตรัสเรียกว่า "ธรรมะ"

ถ้าไม่ไตร่ตรอง มีใครจะสนใจในคำว่า "สิ่งที่มีจริง" บ้าง? ถ้าไม่ฟังคำของพระองค์ ด้วยความเคารพสูงสุด แต่ละคำ จะไม่รู้จักเลยว่า แม้แต่คำว่า "สิ่งที่มีจริง" เดี๋ยวนี้ อะไรจริง? อะไรมีจริง?

ถ้าไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่รู้ว่า อะไรมีจริงๆ มีใครจะตอบไหม? ว่า ขณะนี้ อะไรมีจริงๆ จะได้รู้ว่า รู้จักพระพุทธเจ้า แล้วหรือยัง?

" ... คำว่า "แดนพุทธภูมิ หมายความว่าอะไร? ต้องเป็นที่ๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ทรงแสดงพระธรรม และ ดับขันธปรินิพพาน ถ้าไม่มีการตรัสรู้ความจริง ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่นั้น ไม่มีความหมายเลย ... "

(ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ คุณกากัน มาลิค และ คุณกิติมา พ่วงศิริ)

" ... คนที่เดินทางไปสังเวชนียสถาน ถ้าไม่เข้าใจธรรมะ จะไม่รู้คุณค่าอย่างยิ่งของพระธรรม ว่า แม้ในสวรรค์ พรหมโลก หรือที่ไหน ก็ไม่มีสถานที่ต่างๆ เหล่านี้เลย ... "

" ... การไปสังเวชนียสถาน โดยไม่เข้าใจพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมต่างกับเมื่อมีความเข้าใจพระธรรมแล้ว จึงได้ไปยังสถานที่ที่พระองค์ประทับทรงแสดงพระธรรม เพื่อที่จะแสดงการเคารพบูชาอย่างสูงสุด ที่ตนเอง ได้มีโอกาส เริ่มเข้าใจความจริง ... "

(คุณกิติมา พ่วงศิริ และ ดร.วุฒิชัย วรสิงห์ ผู้ประสานงานเพื่อการสนทนาธรรมในครั้งนี้)

"..สถานที่ทุกสถานที่ จะไร้ความสำคัญ ถ้าไม่มีความเข้าใจความจริงว่า เพราะเหตุใด สถานที่นั้น จึงเป็นสถานที่สักการะบูชาของผู้คนมากมาย ถ้าเป็นสถานที่ ที่พระองค์ไม่ได้ประทับ ไม่ได้ทรงแสดงพระธรรม ก็จะไม่มีใครระลึกถึงสถานที่นั้นได้

ขณะใดก็ตามที่ได้ฟังพระธรรม แม้คำเดียว ก็ทำให้ระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ว่าจะอยู่ไกล แม้ว่าสถานที่นี้จะไกลจากที่ที่พระองค์ประทับ แต่เมื่อได้ฟังคำของพระองค์ ก็เหมือนกำลังเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ และฟังคำนั้นๆ ... "

สุจินต์ บริหารวนเขตต์
๒๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร

ขอเชิญคลิกชมบันทึกการถ่ายทอดสด การสนทนาธรรม ไทย-ฮินดี ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ในประเทศไทย ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง :


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 29 ส.ค. 2565

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบยินดีในกุศลของท่านสุขิน ดร. กากัน มาลิกและทุกๆ ท่าน

เมื่อได้ยินเพียงคำว่า "ธรรมะ" ที่ท่านอาจารย์สนทนา ถ้าผู้ฟังตั้งใจฟังจนเข้าใจและศึกษาพระธรรมต่อไปเมื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้น ชื่อว่าชีวิตซึ่งเกิดมาชาตินี้เป็นชาติที่ประเสริฐยิ่งและความเข้าใจจะติดตามผู้นั้นไปทุกภพชาติ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
petsin.90
วันที่ 29 ส.ค. 2565

กราบอนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ไพรศรี
วันที่ 29 ส.ค. 2565
กราบอนุโมทนา สาธุครับ.
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nattawan
วันที่ 29 ส.ค. 2565

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ส.ค. 2565

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
meenalovechoompoo
วันที่ 29 ส.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 30 ส.ค. 2565

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 31 ส.ค. 2565

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง ครับ
ปลาบปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่งครับ

ขอเชิญอ่านถอดเทปสนทนาธรรม ไทย - ฮินดี ครั้งประวัติศาสตร์
ในประเทศไทย
โดยคุณปริญญ์วุฒิ ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ


Thai-Hindi @ Emquartier 28 August 2022

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 4 ก.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
sdangprapai
วันที่ 10 ก.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
siraya
วันที่ 11 ก.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
jaturong
วันที่ 12 ก.ย. 2565

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Selaruck
วันที่ 21 ก.ย. 2565

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์ที่เคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
muda muda
วันที่ 2 ต.ค. 2565

ยิ่งเข้าใจ ธรรมะ คือสื่งที่มีจริง และสิ่งที่มีจริงอยู่ที่ไหน ละเอียดอย่างยิ่ง ในสิ่งที่ธรรมดา สำนึกในพระมหากรุณาคุณหาสิ่งใดมาเปรียบได้ ที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ และกราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่ได้ถ่ายทอดความเข้าใจนี้ กราบอนุโมทนา สาธุ ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ